สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

สูตรกำหนดราคาหุ้น

สูตรกำหนดราคาหุ้น

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์




เมื่อ Markowitz และ Tobin ชี้ให้เห็นวิธีการจัดพอร์ตลงทุนแบบมือโปร

โดยการผสมผสานทั้งหุ้นและพันธบัตรรัฐบาล โลกยังต้องการรู้ต่อไปว่าแล้วเราจะหาสูตรที่สามารถทำนายราคาหุ้นได้หรือไม่ ต้องใช้เวลาอีกสิบปีต่อมาจึงเกิดแบบจำลอง CAPM นิยมอ่านว่า “แค๊ป-เอ็ม” หรือ Capital Asset Pricing Model โดย Sharpe ซึ่งนำเอาพอร์ตที่มีประสิทธิภาพของ Tobin มาผสมกับแนวคิดที่ง่ายจนไม่น่าเชื่อกลายเป็นสูตรกำหนดราคาหุ้นที่แพร่หลายที่สุด และตัวเขาเองได้รับรางวัลโนเบลในปี 1990 ร่วมกับ Markowitz และ Miller

ขอย้อนความไปยุคก่อนหน้า CAPM นักลงทุนใช้สูตรที่เรียกว่า Dividend Discount Model นั่นคือมองกระแสเงินที่เกิดจากการถือหุ้นเป็นสายธารของเงินปันผลที่ไหลมาเรื่อยๆ เป็นอนันต์ ดังนั้นเขาจะคิดลดกระแสเงินเหล่านี้ให้เป็นค่าปัจจุบันแล้วบวกเข้าด้วยกัน ซึ่งหากกำหนดให้ หนึ่ง เงินปันผลคงที่ Dและ สอง อัตราคิดลดคงที่rผลรวมอนันต์ของค่าปัจจุบันจะเป็น D/rตัวอย่างเช่น ถ้าเราคาดว่าหุ้นบริษัท ก จะจ่ายเงินปันผลทุกปี ปีละ 3 บาท อัตราดอกเบี้ย 4% ต่อปี ราคาหุ้น ก ก็จะเท่ากับ 3/0.04 หรือ 75 บาทนั่นเอง

แม้ต่อมาจะมีการปรับสูตรเพื่อคำนึงถึงอัตราเติบโตของบริษัทต่อปี gและเปลี่ยนการคำนวณเป็น ราคาหุ้นเท่ากับ D/(r-g)ก็ไม่ได้แก้ไขจุดอ่อนสำคัญของสูตรนี้คือการกำหนดให้เราสามารถคาดการณ์เงินปันผลได้ โดยเฉพาะคาดการณ์ไปถึงหลายสิบปี เนื่องจากเงินปันผลจะจ่ายตามผลกำไร ไม่ใช่ดอกเบี้ยจากหุ้นกู้ที่จะกำหนดไว้แน่นอน ดังนั้นองค์ประกอบสำคัญที่ขาดหายไปจากสูตรนี้คือ “ความเสี่ยง” ซึ่งนักวิชาการและนักลงทุนตระหนักดีว่าต้องมี แต่ไม่รู้จะใส่เข้าไปในการกำหนดราคาอย่างไร

จนกระทั่ง Markowitz แนะนำให้วัดความเสี่ยงในรูปส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐานของอัตราผลตอบแทนเพื่อหาวิธีสร้างพอร์ตหุ้นแบบมือโปรตามที่เราคุยกันไปแล้ว

แต่ก็ยังไม่มีใครจับเรื่องความเสี่ยงนี้ไปรวมกับเรื่องราคาหุ้นได้ จนกระทั่ง ค.ศ. 1964

Sharpe ทำได้

ความฉลาดของ Sharpe คือเขาเริ่มต้นสร้างสูตรด้วยการสร้างพอร์ตหุ้นที่ประกอบด้วยสินทรัพย์เพียงสองอย่างคือ หุ้นที่เขาสนใจ และซูเปอร์พอร์ต ที่ Tobin แสดงแล้วว่านักลงทุนทุกคนจะต้องถือพอร์ตนี้ อัตราผลตอบแทนคาดการณ์ของพอร์ตนี้ก็จะเท่ากับค่าเฉลี่ยถ่วงน้ำหนักของอัตราผลตอบแทนคาดการณ์ โดยมีน้ำหนักสองตัวคือน้ำหนักการลงทุนที่ใส่ในหุ้น (a) และน้ำหนักการลงทุนในซูเปอร์พอร์ต(1-a) จากนั้นเขาก็แสดงความสัมพันธ์ระหว่างอัตราผลตอบแทนคาดการณ์ของพอร์ตนี้และความเสี่ยง โดยติดค่าน้ำหนักของพอร์ตที่จัดสรรให้หุ้นนี้และซูเปอร์พอร์ตไว้อยู่ เนื่องจากพอร์ตนี้จะต้องอยู่บนเส้นประสิทธิภาพของ Tobin ซึ่งลากจากจุดอัตราดอกเบี้ยพันธบัตรไปสู่อัตราผลตอบแทนคาดการณ์ของซูเปอร์พอร์ต ดังนั้น Sharpe จับให้ความสัมพันธ์ของพอร์ตหุ้นของเขาเท่ากับค่าความชันของเส้นประสิทธิภาพนี้ กำเนิดเป็นสมการเพียงสมการเดียว หากเขาจะแก้สมการนี้เพื่อหาอัตราผลตอบแทนคาดการณ์ของหุ้น เขาก็จะได้สูตรกำหนดราคาหุ้นแล้ว ซึ่งมีความเสี่ยงติดมาด้วย แต่จะใช้ประโยชน์อะไรไม่ได้เลย เพราะจะมีน้ำหนักของหุ้นนั้นติดมาด้วย กลายเป็นว่าอัตราผลตอบแทนคาดการณ์ของหุ้นดันไปขึ้นกับสัดส่วนหุ้นที่ถือ ซึ่งแต่ละคนย่อมถือแตกต่างกันไป ดังนั้นอัตราผลตอบแทนของหุ้นของนักลงทุนแต่ละคนจะแตกต่างกัน ซึ่งเป็นไปไม่ได้ ดังนั้นจะต้องขจัดค่าน้ำหนักนี้หรือ aออกไปก่อน ซึ่ง Sharpe วางแผนมาตั้งแต่ต้นแล้วละ

ดังนั้น แม้ Sharpe จะเริ่มต้นด้วยการสร้างพอร์ตที่มีสินทรัพย์สองอย่างคือหุ้นที่เขาสนใจกำหนดราคาและซูเปอร์พอร์ต แต่เขาเพิ่มเงื่อนไขสำคัญต่อไปคือ “ดุลยภาพ” และเหมือนพลอตหนังชั้นดี ที่ต้องมีการหักมุมหลอกคนดู เขาให้เหตุผลว่าในดุลยภาพจะไม่มีนักลงทุนคนไหนถือหุ้นนี้ได้จริงๆ เพราะในซูเปอร์พอร์ตมีหุ้นตัวนี้เป็นส่วนประกอบอยู่ด้วย ดังนั้นถ้านักลงทุนทุกคนถือซูเปอร์พอร์ตในดุลยภาพ หุ้นที่เราสนใจนี้ทุกหุ้นก็จะต้องถูกนำไปสร้างซูเปอร์พอร์ต จนไม่มีใครสามารถจะซื้อหุ้นตัวนี้ได้อีก แสดงว่าค่า aเท่ากับศูนย์ ซึ่งเขาสามารถกำจัดค่าน้ำหนักหุ้นออกไปจากสมการได้ง่ายดายปานนี้

และโลกก็ได้รู้จัก CAPM

อัตราผลตอบแทนคาดการณ์ของหุ้นใดๆ เท่ากับอัตราดอกเบี้ยบวกส่วนที่เรียกว่า Risk Premiumซึ่งเท่ากับผลคูณขององค์ประกอบสองส่วน ส่วนแรกคือค่าความแปรปรวนร่วมของอัตราผลตอบแทนซูเปอร์พอร์ตและอัตราผลตอบแทนหุ้นนั้นหารด้วยความแปรปรวนของอัตราผลตอบแทนซูเปอร์พอร์ต ส่วนที่สองคือส่วนต่างระหว่างอัตราผลตอบแทนคาดการณ์ของซูเปอร์พอร์ตกับอัตราดอกเบี้ย

ผมจะค้างเรื่อง CAPM ไว้เท่านี้ก่อน เพื่อชวนท่านมาดูคำถามที่ทิ้งไว้อาทิตย์ที่แล้ว

หนึ่ง พอร์ต SET Index เป็นซูเปอร์พอร์ตจริงหรือไม่

แนวตอบ จะเห็นว่า Sharpe ใช้เงื่อนไขดุลยภาพเพื่อสร้างสูตร CAPM ดังนั้น SET Index หรือดัชนีตลาดประเภทอื่นๆ ซึ่งรวมหุ้นทุกตัวในการคำนวณมักถูกนำมาใช้เป็นตัวแทนในการคำนวณ หากท่านคิดว่าไม่ใช่ แต่นั่นเป็นแนวคิดของ Sharpe ซึ่งต้นตำรับอย่าง Tobin เขาไม่ได้รู้เห็นเป็นใจอะไรด้วย ดังนั้นการใช้ SET Index เป็นซูเปอร์พอร์ตในสูตร CAPM จึงเป็นการดึงมาใช้เพื่อความสะดวกเท่านั้น

สอง หาก SET Index เป็นซูเปอร์พอร์ต แต่ในตลาดไม่มีขาย มีแต่ SET50 ไม่ว่าจะเป็น ETF, Index Fund หรือ Futures ทุกคนยึดหุ้นเพียง 50 ตัวหมด จะถือว่า SET50 เป็นซูเปอร์พอร์ตได้ไหม

หากใช้เพื่อการคำนวณ SET Index ซึ่งรวมหุ้นทุกตัวจะสอดคล้องกับแนวคิดดุลยภาพของ Sharpe โดยอนุโลมมากกว่า และเนื่องจาก SET Index ยังไม่เหมาะที่จะเคลมเป็นซูเปอร์พอร์ตจึงไม่ต้องถามต่อว่า SET50 จะเป็นซูเปอร์พอร์ตไหม

กลับไปที่สูตร CAPM เมื่อ Risk Premium แยกเป็นสององค์ประกอบนี้ได้ก็แสดงว่าส่วนหนึ่งจะต้องเป็นราคาของความเสี่ยงและอีกส่วนจะต้องเป็นปริมาณของความเสี่ยง คำถามชวนคิดประจำอาทิตย์นี้ก็คือส่วนไหนควรเป็นราคาและส่วนไหนเป็นปริมาณความเสี่ยงของหุ้นครับ ส่งความเห็นมาคุยกันที่ arnat@tu.ac.th


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : สูตรกำหนดราคาหุ้น

view