สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

เดินหน้าประเทศไทยและยุทธศาสตร์ใหม่กับอียู

เดินหน้าประเทศไทยและยุทธศาสตร์ใหม่กับอียู

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์




ขอแสดงความยินดี วันนี้ ประเทศไทยมีนายกรัฐมนตรีคนใหม่ คนที่ 29 พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา และคณะรัฐมนตรีใหม่แล้ว

นับเป็นข่าวดีสำหรับการมองไปข้างหน้าและการเดินหน้าแผนปฏิรูปประเทศ ทั้งด้านเศรษฐกิจ การเมือง และสังคม รวมทั้งการเดินหน้าความสัมพันธ์ไทยและยุโรป และกับสหภาพยุโรปหรืออียู

ไม่ว่าฝ่ายการเมืองอียูจะ “ยอมรับ” หรือ “ไม่ยอมรับ” รัฐบาลชุดนี้หรือไม่อย่างไร แต่จากมุมมองภาคธุรกิจแล้ว ความสัมพันธ์ด้านธุรกิจก็ต้องเดินหน้าต่อไป

สิ่งสำคัญสำหรับภาคธุรกิจน่าจะเป็นบทบาทของรัฐบาลชุดใหม่ในการเสริมสร้างเสภียรภาพทางเศรษฐกิจและการเมืองไทย อำนวยความสะดวกด้านการค้าการลงทุน สร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของธุรกิจไทย และที่สำคัญ ดึงและสร้างความมั่นใจแก่นักธุรกิจและนักลงทุนต่างชาติ รวมทั้งจากยุโรปให้กลับคืนมา ผ่านมาตรการและแผนการปรับปรุงและการวางกรอบโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจ ทั้งด้านกฎหมายและกฎระเบียบให้มีประสิทธิภาพ โปร่งใส ลดคอรัปชั่น เพื่อส่งเสริมและอำนวยความสะดวกด้านการค้าและการลงทุน อาทิ

เรื่องการปฏิรูปกฎหมายและระบบการศุลกากรให้ทันสมัยและโปร่งใสเพื่อรองรับการค้าและการลงทุนกับต่างประเทศ

การสนับสนุนแนวทางการแก้ไขมาตรา 190 ในร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ปี 2557 เพื่ออำนวยความสะดวกในการเจรจาความตกลงระหว่างประเทศของไทยกับคู่ค้าต่างๆ

การสนับสนุนกระบวนการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในการกระบวนเจรจาเขตการค้าเสรีระหว่างไทยและอียู

การปรับปรุงและพัฒนากรอบกฎหมายและจัดซื้อจัดจ้างสาธารณะให้โปร่งใสและเป็นที่ยอมรับในระดับสากลมากขึ้น เป็นต้น

คงต้องฝากความหวังไว้กับรัฐบาลชุดใหม่ในเรื่องเหล่านี้

เมื่อวันที่ 27 ส.ค.2557 คณะนักธุรกิจและไทยยุโรปจากสมาคมการค้าไทย-ยุโรป (Thai-European Business Association หรือ TEBA) ซึ่งเป็นผู้แทนนักธุรกิจและนักลงทุนไทยและยุโรปกว่า 80 บริษัท ได้เข้ารับฟังสถานการณ์ทางการเมือง และทิศทางนโยบายทางเศรษฐกิจจากนายกรัฐมนตรีใหม่ รวมทั้ง ท่านนายกฯ ได้เปิดโอกาสให้คณะนักลงทุนได้นำเสนอข้อเสนอแนะสำหรับการปฏิรูปทางเศรษฐกิจของประเทศไทย (ข้างต้น) อย่างเปิดกว้าง นับเป็นการส่งสัญญานเชิงบวกจากรัฐบาลในการช่วยสร้างความมั่นใจและความเชื่อมั่นของนักลงทุนไทยและยุโรปได้เป็นอย่างดี

น่าสนใจตรงที่ท่านนายกฯ ได้เปิดเผยว่า "We are not dictators" (จาก Reuters 27 ส.ค. 2557) และยินดีรับฟังความคิดเห็นภาคธุรกิจและประชาสังคม และได้เล่าถึงแผนการปฏิรูปประเทศและคาดว่าจะมีการเลือกตั้งในปี 2558 โดยเฉพาะการเปิดกว้างต่อนักลงทุนและมีแผนส่งเสริมการลงทุนจากต่างชาติ

คงปฏิเสธไม่ได้ว่าเรื่องการค้าระหว่างประเทศและการลงทุนจากต่างประเทศมีส่วนสำคัญในการผลักดันการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและการสร้างงานอันนำไปสู่ความสมบูรณ์พูนสุขของคนไทยและประเทศไทย

หลังจากการวางกรอบโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจที่เอื้ออำนวยแก่การทำธุรกิจ การค้า และการลงทุนแล้ว ก็น่าจะมีการกำหนดแผนยุทธศาสตร์การดำเนินความสัมพันธ์ทางการค้าและการลงทุนกับต่างประเทศ ในกรณีนี้ขอพูดถึงภูมิภาคยุโรปหรือการเดินหน้าความสัมพันธ์กับกลุ่มสหภาพยุโรปเป็นหลัก ซึ่งอันที่จริงก็เป็นสิ่งที่รัฐบาลชุดที่ผ่านๆ มาและหน่วยงานราชการต่างๆ ก็ดำเนินการอยู่อย่างต่อเนื่องและดีอยู่แล้ว แต่ในปริบทใหม่ของความสัมพันธ์ไทยกับยุโรปและสหภาพยุโรปอาจต้องมีการทบทวนยุทธศาสตร์กันสักหน่อย

หลังจากการประกาศท่าทีของสหภาพยุโรปต่อสถานการณ์การเมืองไทยภายหลัง 22 มิ.ย. 2557 ที่ส่งผลให้ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐต่อรัฐของไทยและสหภาพยุโรปต้องชะลอตัวลงไปในหลายกรอบเนื่องจากประเด็นด้านการเมือง แต่เราคงไม่สามารถปล่อยให้ประเด็นการเมืองมาหยุดชะงักการเดินหน้าความสัมพันธ์ด้านธุรกิจ การค้าและการลงทุน ซึ่งเป็นปัจจัยหลักในการเดินทางเศรษฐกิจของไทย เนื่องจากสหภาพยุโรปเป็นกลุ่มนักลงทุนหลัก และเป็นตลาดหลักสำหรับสินค้าส่งออกของไทย

การผลักดันความปฏิสัมพันธ์ระหว่างภาคเอกชนและภาคเอกชน หรือ B2B ของไทยและยุโรปเองจึงต้องเข้มข้นขึ้น และปฏิสัมพันธ์ระหว่างภาคเอกชนและภาครัฐ หรือ B2G กล่าวคือระหว่างภาคเอกชนไทยและยุโรปต่อภาครัฐยุโรปเองจะยิ่งเป็นกลไกที่มีความสำคัญมากขึ้น จึงจะเห็นได้ว่าในสถานการณ์แบบนี้ภาคเอกชนจะเป็นกลไกสำคัญในการช่วยภาครัฐเดินหน้าความสัมพันธ์เศรษฐกิจไทย-ยุโรปได้เป็นอย่างดี

ในขณะเดียวกัน ภาคธุรกิจก็ต้องพึ่งภาครัฐในการอำนวยความสะดวกด้านการค้าและการลงทุนด้วยหากมองสถานการณ์สำหรับปีหน้า 2558 ยังมีอีกหลายประเด็นที่ต้องมีการปรับยุทธศาสตร์การค้าและการลงทุนกับยุโรป อาทิ การที่ประเทศไทยจะไม่ได้รับสิทธิพิเศษทางการค้า GSP จากสหภาพยุโรปแล้วตั้งแต่ ม.ค. 2558 และความตกลงเขตการค้าเสรีไทยและสหภาพยุโรปก็ยังไม่เสร็จสิ้นและยังไม่ปรับใช้ไปอีกหลายปีส่งผลให้สินค้าส่งออกหลักของไทยหลายตัวต้องกลับไปใช้ภาษีแบบ MFN rate ซึ่งก็คือระดับภาษีปกติที่สูงกว่าภาษีพิเศษที่คู่แข่งของไทยหลายประเทศยังได้รับจากอียูอยู่ ซึ่งส่งผลกระทบต่อขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคธุรกิจส่งออกหลักของไทยสำหรับตลาดยุโรปอย่างแน่นอน

เข้าใจว่าภาคธุรกิจเองโดยเฉพาะรายใหญ่คงได้เตรียมรับกับสถานการณ์นี้ไว้แล้ว รายใหญ่ที่มีศักยภาพได้ปรับฐานการผลิต ก็อาจเลือกไปลงทุนทำธุรกิจในต่างประเทศ โดยเฉพาะในประเทศที่ยังได้สิทธิพิเศษทางภาษีจากอียูอยู่และส่งออกจากประเทศนั้นๆ แต่ผลกระทบระยะยาวจะตกอยู่ที่ขีดความสามารถในการแข่งขัน การสร้างงานในประเทศและผลผลิตทางเศรษฐกิจของประเทศไทยเอง เพราะไม่มีธุรกิจหรืออุตสาหกรรมหลักเป็นตัวผลักเศรษฐกิจในระยะกลางและยาว

รัฐบาลควรต้องทบทวนยุทธศาสตร์การค้าและการลงทุนของไทยกับสหภาพยุโรปใหม่ โดยเฉพาะในปริบทใหม่ๆ ที่กล่าวข้างต้น และสำหรับภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมหลักของไทยที่ได้รับผลกระทบมาก

ประเด็นแรกไทยควรเน้นยุทธศาสตร์การค้าและการลงทุนกับยุโรป ในฐานะที่ไทยเป็นศูนย์กลางในภูมิภาคอาเซียน และการอำนวยความสะดวกให้การค้าและการลงทุนในกรอบอาเซียนไม่ว่าจะเป็น AEC, ASEAN+3, ASEAN+6เพื่อดึงดูดการค้าและการลงทุนจากยุโรปด้วยเพราะในสายตายุโรปแล้ว ไทยน่าดึงดูดและมีความสำคัญในฐานะฐานการลงทุนและ hub สำหรับการดำเนินธุรกิจและการขยายตลาดและการลงทุนไปในตลาดอาเซียน และจีนและ

ประเด็นที่สอง การลงทุนจากยุโรปในประเทศไทยควรเป็นการลงทุนในอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีชั้นสูง ซึ่งเป็นจุดแข็งของยุโรป เพื่อประโยชน์ในการส่งผ่านเทคโนโลยีเพื่อการพัฒนาศักยภาพอุตสหกรรมไทย และการสร้างงานในอุตสหกรรมที่มีผลประโยชน์ต่อประเทศไทยไปพร้อมๆ กัน

การวางแผนและกำหนดยุทธศาสตร์การค้าและการลงทุนใหม่กับยุโรปและอียูที่ชัดเจน จะช่วยให้ไทยจะสามารถดึงโอกาสและศักยภาพของภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมหลักของไทยมาส่งเสริมเพื่อเปิดตลาดยุโรปใหม่ๆ และการเดินหน้าการทำธุรกิจและการลงทุนระหว่างสองภูมิภาคได้อย่างชัดเจนและเป็นรูปธรรม


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : เดินหน้าประเทศไทย ยุทธศาสตร์ใหม่ อียู

view