สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ตุรกี โปแลนด์และยูเครน

ตุรกี โปแลนด์และยูเครน

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์




ครั้งที่แล้วผมสัญญาว่าจะเขียนตอน 2 ของเรื่องเศรษฐกิจซึมยาว (secular stagnation)

แต่เห็นบทความเขียนโดยอดีตวุฒิสมาชิกพรรครีพับลิกันนาย Phil Gramm และนาย Michael Solon เรื่อง “A Lesson for America in Poland and Ukraine” ลงในหนังสือพิมพ์ Wall Street Journal วันที่ 2 กันยายนน่าสนใจอย่างยิ่ง จึงขอนำเอาบทความนี้มาเขียนถึงก่อนในสัปดาห์นี้ครับ

บทความเริ่มต้นโดยการกล่าวถึงนายทหารที่เป็นวีรบุรุษของตุรกี Mustafa Kemal Ataturk ซึ่งเป็นผู้ที่กอบกู้ประเทศตุรกีจากความตกต่ำภายใต้การปกครองของสุลต่านองค์สุดท้ายหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 โดยได้ยึดอำนาจอย่างเบ็ดเสร็จและนำพาประเทศตุรกีไปสู่ความเจริญทางเศรษฐกิจโดยลบล้างระบอบการปกครองเดิมภายใต้การชี้นำของสุลต่านและศาสนาอิสลาม (ที่ทำให้ตุรกีเป็นมหาอำนาจที่เรียกกันว่า Ottoman Empire มานาน 600 ปี) ที่ Ataturk มองว่าเป็นสาเหตุที่ทำให้ประเทศตุรกีตกต่ำและล้าหลัง โดยปรับเปลี่ยนให้ตุรกีรับเอาวัฒนธรรมและเศรษฐกิจตะวันตกมาทดแทนระบบเดิม

ในด้านดีคือการเปิดให้เศรษฐกิจเป็นระบบตลาดเสรี การพัฒนาอุตสาหกรรมและการศึกษากับประชาชนทุกคน (โดยรวมถึงสตรีด้วย) แต่ในอีกด้านหนึ่งคือการจำกัดบทบาทศาสนา เช่น เปิดโรงงานผลิตสุราและให้ดื่มสุราอย่างเสรีและห้ามการแต่งกายตามที่นิยมกันในศาสนามุสลิม เป็นต้น ตุรกีจึงขึ้นชื่อว่าเป็นประเทศมุสลิมที่มีความทันสมัยและใกล้ชิดกับสหภาพยุโรปมากที่สุดในกลุ่มประเทศมุสลิม

อย่างไรก็ดี ปัจจุบันตุรกีมีปัญหาทั้งเศรษฐกิจและการเมือง กล่าวคือในส่วนเศรษฐกิจก็เริ่มมีปัญหาเงินเฟ้อและการขาดดุลบัญชีเดินสะพัด (ประเทศกำลังใช้จ่ายเกินตัว) และมีความขัดแย้งระหว่างรัฐบาลที่เน้นความเป็นสาธารณรัฐกับกลุ่มการเมืองที่อิงศาสนาที่กำลังได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ

แต่ข้อใหญ่ใจความของการกล่าวถึงนาย Ataturk คือคำพูดของเขาหลังจากชัยชนะในการยึดอำนาจในปี 1923 ว่า “no matter how great they are, political and military victories cannot endure unless they are crowned by economic triumphs” ซึ่งผมแปลว่าชัยชนะทางการทหารและทางการเมืองนั้นจะไม่ยั่งยืนหากขาดความสำเร็จทางเศรษฐกิจ ซึ่งผู้เขียนบทความนำเอาไปเทียบวัดกับความสำเร็จของโปแลนด์และความล้มเหลวของยูเครน ซึ่งทั้งสองประเทศมีโอกาสเท่าเทียมกันในการพัฒนาประเทศหลังจากที่หลุดบ่วงจากการถูกปกครองโดยสหภาพโซเวียตที่ล่มสลายลงในปี 1989

เราทราบกันดีว่ายูเครนกำลังประสบปัญหาอย่างมากทั้งในเชิงการเมืองและเศรษฐกิจในขณะนี้ จากการที่รัสเซียได้ยึดครองไครเมียและกำลังสนับสนุนกลุ่มกองกำลังแบ่งแยกดินแดนที่ได้ยึดครองภาคใต้ของยูเครนและล่าสุดประธานาธิบดีปูตินได้ส่งทหารและอาวุธเข้าไปช่วยกลุ่มกบฏแม้สหภาพยุโรปและสหรัฐอเมริกาจะประกาศคว่ำบาตรรัสเซียไปแล้ว 2 ครั้งและขู่ว่าจะมีมาตรการทางเศรษฐกิจเพิ่มอีกในสัปดาห์นี้ แต่ดูเสมือนว่าประธานาธิบดีปูตินก็จะไม่เกรงกลัวคำขู่ดังกล่าว โดยใช้กำลังทหารพร้อมกับการเจรจากับยูเครน

ทั้งนี้ นักวิเคราะห์มองว่าสหภาพยุโรปเสียงแตกกันอย่างมาก กลุ่มหนึ่ง (เช่น อิตาลี) ต้องการโอนอ่อนผ่อนตามรัสเซียเพราะเกรงผลกระทบทางเศรษฐกิจโดยรวมและผลประโยชน์ของประเทศตนในรัสเซียจะได้รับผลกระทบ ส่วนผู้นำคือนายกรัฐมนตรีเมอร์เดลนั้นก็ดูลังเลไม่ “เอาจริง” กับรัสเซียโดยพยายามเน้นการเจรจา ทำให้รัสเซียรบไป เจรจาไปดังที่เห็นอยู่ในขณะนี้ ซึ่งนักวิเคราะห์มองว่าประธานาธิบดีปูตินมีวัตถุประสงค์หลัก 2 ประการ คือ 1.ต้องการมิให้ยูเครนมีความใกล้ชิดกับสหภาพยุโรปมากเกินไป 2.ต้องการแบ่งแยกภาคใต้ของยูเครนออกมาเป็นรัฐอิสระภายใต้รัสเซียเพื่อให้รัสเซียสามารถเชื่อมต่อกับกองทัพเรือที่ไครเมียได้ทางบกอีกทางหนึ่งด้วย

อย่างไรก็ดี บทความกล่าวถึงความล้มเหลวในการพัฒนาเศรษฐกิจของยูเครนในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา ซึ่งทำให้ยูเครนอ่อนแอจนถูกแทรกแซงทางการเมืองได้โดยสรุปว่ายูเครนสูญเสียโอกาสในการพัฒนาศักยภาพทางเศรษฐกิจเพราะมีปัญหาคอร์รัปชันอย่างแพร่หลาย รวมทั้งการเล่นพรรคเล่นพวกและการดำเนินนโยบายที่เน้นการควบคุมโดยรัฐบาลมากกว่าการเปิดเสรี ทำให้ปัจจุบันรัฐบาลขาดดุลงบประมาณมีมูลค่าสูงถึง 14.4% ของจีดีพี มีปัญหาเงินเฟ้อสูงและเศรษฐกิจใต้ดินที่คิดเป็นสัดส่วนสูงถึง 50% ของระบบ

กล่าวโดยสรุปคือในช่วง 20 ปีที่ผ่านมาเศรษฐกิจยูเครนขยายตัวอย่างเชื่องช้าเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศสหภาพโซเวียต ทั้งๆ ที่ยูเครนมีปัจจัยสนับสนุนหลายประการ เช่น เป็นประเทศที่มีพื้นที่การเกษตรที่อุดมสมบูรณ์มีแหล่งพลังงานและทรัพยากรธรรมชาติอื่นๆ ตลอดจนแรงงานที่มีการศึกษาสูง แต่ยูเครนก็ยังยากจนอยู่ วัดได้จากรายได้ต่อหัวที่เพิ่มจากปีละ 1,570 ในปี 1990 มาเป็น 3,900 ในปี 2013 (จีดีพีต่อหัวของไทยปัจจุบันประมาณ 5,200 ดอลลาร์)

ผู้เขียนบทความเปรียบเทียบยูเครนกับโปแลนด์โดยหลายคนคงจะจำได้ว่าโปแลนด์เคยพยายามต่อต้านและถูกสหภาพโซเวียตใช้กำลังทหารเข้ายึดครองเมื่อ 45 ปีที่แล้วและหลังจากการล่มสลายของสหภาพโซเวียตในปี 1989 ก็ได้รับอธิปไตยกลับคืนมาอีกครั้ง ซึ่งผู้นำในขณะนั้นคือนาย Balcerowicz (ซึ่งเคยเป็นรัฐมนตรีคลังและต่อมาเป็นผู้ว่าการธนาคารของโปแลนด์) ต้องตัดสินใจใช้ยาแรงและปฏิรูปเศรษฐกิจไปสู่ระบบตลาดเสรีแบบข้ามคืน (โดยพูดว่า “a very risky option is always better than a hopeless option”) ผลปรากฏว่ารายได้ต่อหัวของโปแลนด์ปรับเพิ่มจาก 1,683 ดอลลาร์ในปี 1990 มาเป็น 13,432 ดอลลาร์ในปี 2013 สูงกว่ายูเครน 3 เท่าจากฐานเดิมที่ใกล้เคียงกัน


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : ตุรกี โปแลนด์ ยูเครน

view