สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

พลวัตโครงสร้างเศรษฐกิจโลก โดย วีรพงษ์ รามางกูร

จากประชาชาติธุรกิจ

คอลัมน์ คนเดินตรอก

เศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกาก็ยังอยู่ในสภาพทรงตัวอยู่ แม้ว่าจะไม่ชะลอตัวเพื่อเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ หรือ Recession แต่ก็ยังไม่มีสัญญาณชัดเจนว่าฟื้นตัวอย่างยั่งยืน เพียงแต่ฟื้นตัวแล้วก็ฟุบตัวลงอีกในลักษณะที่เรียกว่า "Cyclical Fluctuations" ซึ่งเป็นอาการของภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว

เครื่องมือที่สำคัญคือการเพิ่มงบประมาณรายจ่าย เพื่อเพิ่มความสามารถในการใช้จ่ายของครัวเรือนก็ทำไม่ได้เต็มที่ เพราะติดปัญหาการเมือง พรรครีพับลิกันเป็นฝ่ายค้านคัดค้านทฤษฎีนี้อย่างเต็มที่

การใช้นโยบายการเงินโดยธนาคารกลางได้เพิ่มปริมาณเงินเข้าสู่ระบบ ด้วยการออกมาซื้อพันธบัตรทั้งของรัฐบาลและของเอกชน ไม่ทำให้เงินไปถึงมือประชาชนระดับครัวเรือน ไม่ทำให้การใช้จ่ายของครัวเรือนเพิ่มขึ้น เงินที่เพิ่มขึ้นจากนโยบายคิวอีจึงยังอยู่ในสถาบันการเงิน ไม่ทำให้การลงทุนเพื่อสร้างงานใหม่เพิ่มขึ้นมากนัก ผลทางด้านการเพิ่มการลงทุนเพื่อสร้างงานใหม่ จึงไม่เกิดหรือเกิดขึ้นน้อยมาก ตรงตามทฤษฎีสายเคนส์ นโยบายการเงินไม่มีผลในยามเศรษฐกิจตกต่ำ

เมื่อมาถึงจุดหนึ่งก็ต้องชะลอการเพิ่มปริมาณเงินเข้ามาในระบบ เพราะเกรงว่าจะเกิดความกดดันทางด้านเงินเฟ้อ ซึ่งจะยิ่งทำให้ปัญหาหนักขึ้นไปอีก ตกลงในขณะนี้สหรัฐอเมริกายังไม่รู้ว่าจะทำอย่างไร เพื่อให้เศรษฐกิจฟื้นตัวอย่างยั่งยืน

สำหรับยุโรปปัญหาก็ยิ่งหนัก เพราะทางเลือกของนโยบายมีน้อยกว่าสหรัฐอเมริกาและญี่ปุ่น เพราะนโยบายการใช้เงินยูโรสกุลเดียวกันทั้งสหภาพยุโรปแต่การคลังแยกกัน เมื่อเกิดปัญหาความไม่สมดุลในระบบกล่าวคือ ประเทศในแถบตะวันตกของยุโรปไม่มีความสามารถในการแข่งขันสู้กับประเทศในตอนกลางของยุโรป เช่น เยอรมนี ฝรั่งเศส สแกนดิเนเวีย ทำให้ประเทศอิตาลี สเปน โปรตุเกส ไอร์แลนด์ รวมทั้งตุรกีขาดดุลให้กับประเทศอื่นในสหภาพยุโรปอย่างต่อเนื่องเรื้อรัง กลายเป็นประเทศที่เป็นหนี้หนักขึ้นทุกที ถ้าหากไม่ใช้ระบบเงินตราสกุลยูโรด้วยกันกล่าวคือ ประเทศเหล่านี้มีเงินตราสกุลต่าง ๆ ของตน เงินตราเหล่านี้ก็ต้องมีค่าลดลงเมื่อเทียบกับเงินของเยอรมนี ฝรั่งเศส อังกฤษ และเงินตราของสแกนดิเนเวีย การปรับตัวของอัตราแลกเปลี่ยนก็จะทำให้ปัญหาการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดได้รับการแก้ไขไปส่วนหนึ่ง แต่บัดนี้ไม่ได้แล้ว เหลือแต่นโยบาย "รัดเข็มขัด" กล่าวคือ ขึ้นภาษีกับลดรายจ่ายของรัฐบาลอย่างเดียวเท่านั้น

การทำเช่นนั้นก็จะยิ่งทำให้เศรษฐกิจหดตัวมากยิ่งขึ้น ความเดือดร้อนจากการว่างงานก็จะยิ่งเพิ่มมากขึ้น และต้องใช้งบประมาณเพื่อการจ่ายเงินชดเชยการว่างงานในจำนวนที่มากขึ้น ความหวังที่เศรษฐกิจยุโรปจะฟื้นตัวในระยะ 2-3 ปีข้างหน้าจึงยังมองไม่เห็น แม้ว่ายุโรปจะออกนโยบายคิวอีเพิ่มปริมาณเงินเข้ามาในระบบแบบเดียวกับสหรัฐอเมริกา แต่ก็ไม่อาจทำได้มากเท่าที่ควรเพราะกฎข้อบังคับของธนาคารกลางยุโรป ขณะเดียวกัน ความวิตกกังวลว่าถ้าเพิ่มปริมาณเงินยูโรมาก ๆ โอกาสที่ค่าเงินยูโรจะตกต่ำและทำให้เกิดภาวะเงินเฟ้อได้ง่าย เพราะเงินยูโรไม่ใช่สกุลที่ประเทศต่าง ๆ เก็บไว้เป็นทุนสำรอง หรือถ้ามีก็มีสัดส่วนไม่มากเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐ เมื่อความต้องการถือเงินยูโรของชาวโลกมีน้อยกว่าเงินดอลลาร์สหรัฐ การเพิ่มปริมาณเงินยูโรเข้าระบบก็จะยิ่งทำให้ภาวะความไม่สมดุลระหว่างประเทศต่าง ๆ ในสหภาพยุโรปจะมีมากขึ้น ปัญหาก็จะยิ่งลึกลงไปอีกจนอาจจะทำให้ระบบการเงินของยุโรปล่มสลายลงก็ได้

ในกรณีญี่ปุ่น ทันทีที่นายกรัฐมนตรีอาเบะเข้ามารับตำแหน่ง ก็ประกาศนโยบายจะเพิ่มปริมาณเงินเยนในตลาดตามอย่างสหรัฐอเมริกาและยุโรปทันที แต่ทำไปได้ไม่นานก็ต้องหยุดเพราะระบบเศรษฐกิจไม่ตอบสนองต่อนโยบายดังกล่าว

เศรษฐกิจของญี่ปุ่นประสบกับปัญหาชะงักงันมาตั้งแต่ปี 1995 มาเรื่อย ๆ จนถึงปัจจุบัน อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจเข้าใกล้ศูนย์ อัตราดอกเบี้ยอยู่ระดับต่ำสุดหรือเกือบจะเป็นศูนย์ อัตราเงินเฟ้อไม่มี เข้าลักษณะ "กับดักสภาพคล่อง" ปริมาณเงินที่เพิ่มขึ้นไม่ได้กระตุ้นให้มีการกู้ยืมเพื่อนำไปลงทุนเพิ่มขึ้น ญี่ปุ่นจึงหายไปครบ 2 ทศวรรษพอดีในปีหน้า

ประเทศอุตสาหกรรมใหม่ หรือที่เรียกว่า NICs หรือ NIES อันได้แก่ ฮ่องกง สิงคโปร์ ไต้หวัน และเกาหลีใต้ ที่ยังพอที่จะมีอัตราการขยายตัวอยู่บ้าง แต่ก็เป็นเศรษฐกิจขนาดเล็กและอาศัยการส่งออกเป็นหลัก

ประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจและตลาดที่ใหญ่ และเป็นกลุ่มประเทศที่ยังมีอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่สูงอยู่ แต่มีแนวโน้มที่อัตราการขยายตัวจะค่อย ๆ ลดลงก็คือ กลุ่มประเทศที่เรียกว่า BRICS อันได้แก่ บราซิล รัสเซีย อินเดีย จีน และแอฟริกาใต้ ประเทศเหล่านี้เป็นประเทศที่มีพื้นที่กว้างใหญ่ไพศาล มีประชากรจำนวนมาก ตลาดในประเทศมีขนาดใหญ่ กระแสโลกาภิวัตน์เป็นเหตุให้ประเทศต่าง ๆ ต้องเปิดตลาด ประเทศเหล่านี้จึงได้เปรียบในเวทีการค้าของโลก ประเทศเหล่านี้จึงขยายตัวในอัตราที่สูงกว่าประเทศในภูมิภาคอื่น ๆ โดยอาศัยจุดเริ่มต้นที่อัตราค่าจ้างแรงงานที่ต่ำกว่าภูมิภาคอื่น ๆ เปิดให้ทุนจากสหรัฐอเมริกาและยุโรปหลั่งไหลเข้าไปลงทุนในประเทศจีน อินเดีย บราซิล รวมทั้งรัสเซีย

ในขณะที่เงินทุนจากตะวันตกต้องไหลเข้าไปลงทุนโดยใช้ประโยชน์จากตลาดภายในประเทศเป็นฐาน ทำให้สามารถผลิตได้คราวละมาก ๆ จีนดูเหมือนจะสนองตอบต่อเงินทุนและเทคโนโลยีสมัยใหม่ได้อย่างรวดเร็ว ในขณะที่ระบบการเมืองของจีน พรรคคอมมิวนิสต์จีนยังสามารถคงรูปแบบการปกครองแบบรวมศูนย์ไว้ที่พรรคได้ การปฏิรูประบบประชาธิปไตยภายในพรรคสำหรับระบอบการปกครองแบบเผด็จการโดยชนชั้นกรรมาชีพ โดยเปิดโอกาสให้ชนชั้นอื่นได้มีโอกาสได้มีส่วนร่วมทางการเมืองมากขึ้น แต่ยังไม่เป็นระบอบการปกครองประชาธิปไตยหลายพรรคแบบตะวันตก

ในทางเศรษฐกิจมีการปลดปล่อยและกระจายอำนาจการตัดสินใจให้หน่วยการผลิต เร่งการแปรรูปรัฐวิสาหกิจให้เป็นบริษัทเอกชน โดยการขายกิจการทั้งหมดหรือให้เอกชนเข้าซื้อหุ้นจนหมดสภาพการเป็นรัฐวิสาหกิจ ถ้ารัฐวิสาหกิจไหนที่ขาดทุนและไม่มีผู้ซื้อก็อาจจะยกให้ฝ่ายบริหารรับไปโดยไม่คิดมูลค่า ถ้าไม่ไหวจริง ๆ ก็ยกเลิก จ่ายเงินชดเชยให้แรงงานที่ต้องออกจากงานเพื่อไปหางานใหม่

ในภาคการเกษตรยกเลิกเรือกสวนไร่นาของรัฐ ยกเลิกการเก็บภาษีภาคเกษตร ให้เกษตรกรผู้ทำการเพาะปลูกได้สิทธิ์ในการเช่าที่ดินระยะยาวจากรัฐ สิทธิ์การเช่าตกทอดเป็นมรดกได้

ส่วนประเทศอื่น ๆ เช่น รัสเซีย นอกจากโอนกิจการของรัฐให้เอกชนและครัวเรือนแล้ว ยังเปิดระบบการเมืองให้เป็นระบบเปิดแบบตะวันตกด้วย เป็นเหตุให้สหภาพโซเวียตซึ่งประกอบด้วยสาธารณรัฐต่าง ๆ ที่เคยเป็นเมืองขึ้นของรัสเซีย สมัยพระเจ้าซาร์มาเป็นเวลา 400-500 ปีเป็นอันล่มสลายกลายเป็นสาธารณรัฐเอกราชต่าง ๆ มากมาย

ประเทศคอมมิวนิสต์ยุโรปตะวันออกที่เคยเป็นบริวารของสหภาพยุโรป ก็เกิดการลุกฮือขึ้น ล้มล้างรัฐบาลของพรรคคอมมิวนิสต์ต่าง ๆ และปฏิรูประบบเศรษฐกิจมาเป็นระบบทุนนิยมเสรีทั้งหมด ทำให้การขยายตัวทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด

สหภาพโซเวียตซึ่งเคยเป็นมหาอำนาจอันดับหนึ่งแข่งขันกับสหรัฐอเมริกา ก็ลดบทบาทในฐานะคู่แข่งของอเมริกามาตั้งแต่ครั้งนั้น แต่จีนซึ่งประสบความสำเร็จในการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างมากก็ก้าวย่างเข้ามาเป็นคู่แข่งกับอเมริกาแทน จากนั้นจีนก็ชนะสงครามเศรษฐกิจการค้ากับอเมริกาอย่างสิ้นเชิง ด้วยบัดนี้จีนคือเจ้าหนี้รายใหญ่ที่สุดของอเมริกา ใหญ่กว่าญี่ปุ่นหลายเท่าตัว

ทุกสิ่งทุกอย่างไม่ได้หยุดนิ่งแต่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : พลวัตโครงสร้างเศรษฐกิจโลก วีรพงษ์ รามางกูร

view