สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

Give me a place to stand, and I will move the Earth

Give me a place to stand, and I will move the Earth

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์




ดิฉันเหมือนถูกบังคับให้อ่านคำกล่าวของ Archidemes นี้ทุกวี่ทุกวันในสมัยที่ดิฉันยังเป็นนักศึกษาปริญญาตรี

เพราะข้อความนี้ได้ถูกเขียนไว้ที่ผนังทางเข้าตึกคณะวิศวกรรมศาสตร์ที่ Columbia University (New York, USA) อย่างเด่นเป็นสง่าจนทำให้คำกล่าวนี้ได้ติดตาตรึงใจดิฉัน ยิ่งไปกว่านั้นความหมายของมันก็เริ่มแทรกซึมเข้าไปในความคิดของดิฉันจนถึงปัจจุบัน สมัยนั้นดิฉันเฝ้าบอกตัวเองเสมอว่า ถ้าวันหนึ่งมีใครให้พื้นที่เรายืน เราต้องทำได้ แต่ลึกๆ อีกใจหนึ่งของดิฉันก็ถามตัวเองด้วยความกลัวอยู่เสมอว่าเมื่อเราจบการศึกษากลับไปทำงานที่ประเทศไทยแล้ว จะมีใครให้พื้นที่ยืนกับเด็กธรรมดาๆ อย่างเราบ้าง

ถึงแม้ว่าตอนนั้นดิฉันจะไม่ทราบหรอกว่าจะมีใครให้พื้นที่ยืนกับดิฉันเมื่อต้องกลับมาทำงานที่ประเทศไทย แต่สิ่งที่ดิฉันยึดถือเป็นแรงบันดาลใจก็คือทุกคนมีศักยภาพในตัวเอง และศักยภาพนั้นจะนำมาซึ่ง “โอกาส” หรือ “พื้นที่ยืน” เองโดยประสบการณ์ส่วนตัวที่ทำงานในประเทศไทยถึงปัจจุบันนี้ดิฉันต้องยอมรับว่าดิฉันโชคดีที่อยู่ในวงการวิทยาศาสตร์ไทยซึ่งเป็นวงการที่ "ผู้ใหญ่" ไม่เพียงแต่สร้างพื้นที่ยืนแต่ยังอุตส่าห์หยิบยื่นพื้นที่ยืนนั้นให้คนรุ่นหลังเสมอ

การสร้างพื้นที่ยืนนั้นไม่เพียงแต่จะมีความสำคัญในระดับตัวบุคคล แต่ยังมีความสำคัญในระดับประเทศชาติอีกด้วย ถ้าเรามาลองพิจารณาข้อมูลจากธนาคารโลกที่ได้จัดกลุ่มผู้ประกอบการออกเป็นกลุ่มที่ใช้แรงงาน กลุ่มที่ใช้แรงงานฝีมือ กลุ่มที่ใช้เทคโนโลยีและกลุ่มที่พัฒนาวิจัยและเทคโนโลยีด้วยตัวเองนั้น เราจะตระหนักว่าการที่ประเทศไทยเราจะสามารถแข่งขันกับประเทศอื่นๆ อย่างยั่งยืนได้ ก็ต่อเมื่อประเทศของเราจะสามารถเพิ่มกลุ่มผู้ประกอบการที่สามารถพัฒนาวิจัยและเทคโนโลยีเป็นของตัวเองได้เพราะคงปฏิเสธไม่ได้ว่าเรามีผู้ประกอบการกลุ่มนี้น้อยมาก อาจมีเหตุผลมาจากการที่ผู้ประกอบขนาดเล็กถึงกลางยังขาดศักยภาพในการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยี ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความเชี่ยวชาญของบุคลากร หรือจะเป็นเรื่องการดำเนินการ ถ้าปล่อยไปเช่นนี้ ในที่สุดประเทศไทยจากที่เป็นประเทศกำลังพัฒนาอาจจะกลับกลายเป็นประเทศด้อยพัฒนาไปได้

ดังนั้น อุทยานวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทย หรือที่ต่างชาติรู้จักกันในนาม Thailand Science Park จึงได้ถูกจัดตั้งในปี พ.ศ. 2545 ภายใต้การบริหารของ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ซึ่งถือได้ว่าเป็น "นิคมวิจัยแห่งแรกของเมืองไทย" ด้วยเจตนารมณ์ที่สร้างพื้นที่ยืนให้กับนักวิจัยและธุรกิจเทคโนโลยีได้มาทำงานร่วมกันเพื่อประสานความเชี่ยวชาญและก่อเกิดนวัตกรรมและการวิจัยและพัฒนาใหม่ๆ ให้กับประเทศของเราพื้นที่กว่า 200 ไร่นี้ ยังเป็นที่ตั้งของ 4 ศูนย์วิจัยแห่งชาติ ได้แก่ BIOTEC, MTEC, NECTEC และ NANOTEC มีนักวิจัย นักวิชาการอยู่รวมกันกว่า 2,000 คน และมากกว่า 500 คนเป็นนักวิทยาศาสตร์สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอก ทำให้อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทยเป็นพื้นที่ที่มีความพร้อมสูงสุดสำหรับกิจกรรมวิจัยและพัฒนา นอกจากนี้บริษัทเอกชนที่เข้ามาตั้งอยู่ในที่อุทยานนี้ยังจะได้รับสิทธิประโยชน์สูงสุดจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน Board of Investment (BOI) เช่น สิทธิทางภาษีด้วยการหักค่าใช้จ่ายในการวิจัยและพัฒนาได้ 2 เท่าของค่าใช้จ่ายจริง หักค่าเสื่อมราคาเครื่องจักรที่ใช้ในการทำวิจัยและพัฒนาในอัตราเร่ง ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลร้อยละ 100 ของรายจ่ายเพื่อทำการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยี

การสร้างพื้นที่ยืนเช่นนี้ทำให้เราสร้างธุรกิจเทคโนโลยีของไทยที่ไม่แพ้ใครในโลกมาแล้วหลายราย ยกตัวอย่างเช่น คุณไพจิตร แสงชัย บริษัท เฟล็กโซ่รีเสิร์ช กรุ๊ป จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทที่เข้ามาตั้งอยู่ในหน่วยบ่มเพาะธุรกิจในอุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย ได้ผลิตคิดค้นเอนไซม์สำหรับการรีไซเคิลเศษกระดาษลามิเนตเพื่อนำไปใช้ทดแทนใยหินจนก่อเกิดเป็นผลิตภัณฑ์และได้รับคัดเลือกจาก World Economic Forum ให้เป็น 1 ใน 31 ผู้ประกอบการใหม่จากทั่วโลกที่ได้รับรางวัล World Economic Forum Technology Pioneers 2011 รางวัลนี้ถือเป็นรางวัลระดับโลกที่ไม่ใช่ใครก็ได้กันง่ายๆ นะคะ ต้องเป็นบริษัทนวัตกรรมระดับ Google ถึงจะได้รับรางวัลเช่นนี้ นอกจากนี้ Time Magazine ยังได้ตีพิมพ์ข้อมูลของบริษัทฯภายใต้หัวเรื่อง “10 Start-Ups That Will Change Your Life” ในฉบับวันที่ 23 ก.ย. 2553 จะเห็นได้ว่าการที่บริษัทเล็กๆ สามารถเข้าถึงงานวิจัยและเทคโนโลยีใหม่และได้รับการสนับสนุนให้มีพื้นที่ยืนได้นั้นจะช่วยให้เขาสามารถเจริญเติบโตได้อย่างก้าวกระโดด และจะนำพาความเจริญมาสู่ประเทศชาติของเรา

นอกจากการที่สังคมควรจะสร้างพื้นที่ยืนให้คนดีที่มีคุณภาพแล้ว ดิฉันก็อยากให้พวกเราทุกคนพยายามสร้างพื้นที่ยืนหรือหาโอกาสให้ตัวเองด้วย ถ้าเราใช้เวลาไปกับการรอคอยให้สังคมยื่นโอกาสให้แต่ฝ่ายเดียวโดยที่เราไม่ไปไขว่คว้าหาดาวกันเองเลย นั่นก็เท่ากับเราไม่ได้ใช้ศักยภาพอย่างเต็มที่ และที่สำคัญถ้าเราไม่หมั่นเตรียมศักยภาพของเราให้พร้อม เมื่อมีคนมาหยิบยื่นโอกาสให้ เราอาจไม่ได้ใช้โอกาสนั้นก็ได้ บ่อยครั้งที่ดิฉันเจอหลายคนที่บ่นว่าเจ้านายไม่ให้โอกาส แต่พอให้โอกาสเมื่อไรก็ไม่กล้าเข้าไปรับโอกาสนั้นมาทำ หรือพอถูกบังคับให้รับโอกาสนั้นมาจริงๆ ก็ไม่ได้พิสูจน์ตัวเองเสียเลย อย่างนี้แล้วจะมัวแต่โทษว่าสังคมไม่ให้โอกาสก็คงมิได้

ชีวิตที่ผ่านร้อนผ่านหนาวทั้งที่ทุกข์และที่สุขได้สอนให้ดิฉันรู้คุณค่าของโอกาส ไม่ว่าจะเป็นโอกาสที่คนอื่นหยิบยื่นให้หรือจะเป็นโอกาสที่เราต้องสร้างขึ้นมาเอง และเมื่อมาถึงวันนี้ วันที่ดิฉันพอที่จะมีโอกาสที่จะสร้างพื้นที่ยืนให้กับคนอื่นบ้างดิฉันก็พร้อมที่จะทำ ดังนั้นดิฉันจึงอยากรณรงค์ให้พวกเรามาหยิบยื่นโอกาสให้กับคนอื่นเพื่อที่เราจะได้สร้างชาติให้มั่นคงไปพร้อมๆ กัน เพราะถ้าคุณจับจองพื้นที่ยืนไว้เพียงคนเดียวแล้วนั้น คุณคิดว่าคุณคนเดียวจะทำให้ประเทศของเราดีขึ้นได้หรือคะ ดังนั้น ดิฉันอาจขออนุญาตดัดแปลงคำคมของ Archimedes ให้เป็น “Share a place to stand, and together we will make Thailand a stronger nation!” เรามาแบ่งปันพื้นที่ยืนเพื่อสร้างชาติกันเถอะค่ะ


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : Give me a place to stand  and I will move the Earth

view