สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

โพสต์แฉ-แชร์ประณาม-ระวังย้อนเข้าตัว

จาก โพสต์ทูเดย์

โดย......นรินทร์ ใจหวัง 

ในยุคที่เครือข่ายสังคมออนไลน์กำลังเบ่งบาน หลายครั้งที่การนำภาพถ่าย คลิปซึ่งบันทึกเหตุการณ์บางเหตุการณ์ มาโพสต์ก็กลายเป็นเรื่องที่สร้างความเปลี่ยนแปลงแก่สังคมไปในทางที่ดีขึ้น 

ทว่าหลายครั้งการโพสต์ การแชร์แบบสนุกมือกลับสร้างปัญหาทั้งกับตัวเจ้าของภาพ เจ้าของคลิป ตลอดจนผู้กดแชร์และสังคมส่วนรวมได้เช่นเดียวกัน

เมื่อเกิดการตรวจสอบขึ้นก็พบว่า ข้อมูลจำนวนไม่น้อยที่ถูกนำมาโพสต์และแชร์ เป็นข้อมูลด้านเดียวเพื่อต้องการกล่าวหาอีกฝ่าย หรือ ไม่ก็เป็นข้อมูลที่ไม่เป้นความจริงเพื่อหวังจะสร้างความเสียหาย

พฤติกรรมการแฉออนไลน์ในศาสตร์ทางด้านจิตวิทยามองว่าเป็นการสนองตอบทางอารมณ์ต่อผู้ โพสต์-แชร์ เพราะทำแล้วก่อให้เกิดความรู้สึกดีไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง เช่นความรู้สึกดีจากจำนวนไลค์ที่ได้รับ หรือจากการได้ระบายเรื่องราวที่อยู่ในใจออกไป

บุรชัย  อัศวทวีบุญ อาจารย์ประจำภาควิชาจิตวิทยาคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาธรรมศาสตร์ แบ่งรูปแบบการใช้ออกเป็น 3ลักษณะคือ เพื่อต้องการเผยแพร่เรื่องราวที่เกิดขึ้น เพื่อใช้ระบายความรู้สึกที่ไม่ดีของตนเอง เพราะไม่รู้จะจัดการด้วยวิธีอื่นอย่างไร และอย่างสุดท้ายเพื่อเป็นการเรียกร้องความสนใจของคนอื่นมาที่ตนเอง ซึ่งทั้ง3 ประเด็นล้วนเป็น "การมอบรางวัลให้ตัวเอง" ทั้งสิ้น 

"เวลาที่เราทำอะไรแล้ว รู้สึกดี ในทางจิตวิทยาจะมองว่า มันคือรางวัลที่เราได้รับ เมื่อได้รับรางวัลในพฤติกรรมใด ก็มีแนวโน้มที่จะทำพฤติกรรมนั้นให้มากยิ่งขึ้น กรณีที่หากมีคนสนใจในสิ่งที่เราโพสต์และแสดงความคิดเห็น ความคิดเห็นเหล่านั้นจะมีอิทธิพลต่อผู้โพสต์ทั้งๆที่คนเหล่านั้นอาจไม่รู้จักกันเลยก็ตาม จากงานวิจัยแม้เป็นความคิดเห็นจากโปรแกรมคอมพิวเตอร์ เราก็ยังรู้สึกร่วมไปกับมันด้วย ซึ่งถ้ามันเป็นไปในทางบวก ทำให้เรารู้สึกดี เราก็อยากจะทำต่อไปเรื่อยๆ

แต่ กรณีที่ไม่มีใครสนใจ สังคมออนไลน์ก็ยังหน้าที่รองรับการระบายอารมณ์ได้ดี ยกตัวอย่างเช่นทวิตเตอร์ เราโพสต์ๆอะไรก็ได้เพื่อระบาย เพราะมันไปเร็วมาเร็ว ดังนั้นคนไม่ต้องเก็บอะไรไว้กับตัว ไม่ต้องฝึกที่จะอดทนน่ะครับ ซึ่งถามว่าต่อไปจะแย่มั้ย มันก็ค่อนข้างทำให้คนใจร้อนขึ้น หุนหันพลันเเล่นมากขึ้น"

ระวังเสพติดแชร์ โพสต์+ไลค์ แบบไม่รู้ตัว

เมื่อ เกิดการเรียนรู้ทางสังคม การเลียนแบบก็เกิดขึ้น ซึ่งหากทำเเล้วรู้สึกดี เราจะเสพติดเรื่องเหล่านี้อย่างไม่รู้ตัว เช่นการเสพติดไลค์

"ถ้าทำเเล้วรู้สึกดี ก็เกิดการทำต่ออย่างไม่มีที่สิ้นสุด หลายครั้งทำให้ควบคุมตัวเองไม่ได้ แต่ก็ไม่ใช่ว่าจะเป็นเรื่องไม่ดีเสมอไป ในบางเรื่องต้องยอมรับว่ามีข้อดีต่อสังคมอย่างมาก ที่เเชร์เรื่องราวที่เหมาะสมเพื่อให้สังคมได้รับรู้ แต่บางเรื่องมันยังไม่ได้กลั่นกรองมาดี พอเเชร์ออกไปก็อาจทำให้เกิดความผิดพลาดขึ้น

สิ่งที่น่าเป็นห่วง หากมองในเเง่ส่วนบุคคลก่อนคือ การจัดการกับความรู้สึกของตนเอง หากเขามองเพียงว่าทำไปเพื่อความรู้สึกดีของตนไม่ว่าจะรู้ตัวหรือไม่ก็ตาม โดยไม่สนใจบุคคลอื่น ไม่สนว่าสิ่งที่เขาเผยแพร่ออกไปนั้น มันไปกระทบต่อใครมั้ย และหากมีคำพูด มีคอมเมนท์ที่ทำให้ไม่พอใจ ก็จะตีความว่าคนนั้นเป็นฝั่งตรงข้ามทันที  ทำให้บุคคลปรับตัวเข้ากับสิ่งแวดล้อมได้ยากขึ้น  พอเราไม่ได้เรียนรู้ที่จะยับยั้งชั่งใจให้ดี ไม่เรียนรู้ที่จะควบคุม มันจะเป็นจุดเริ่มของการนำไปสู่พฤติกรรมที่ผิดปกติบางอย่าง

หากมองในระดับใหญ่ไปกว่านั้น เมื่อคนเสพติดการยอมรับ ต้องการความสนใจจากคนอื่นอยู่ตลอด หรืออย่างที่เราเห็นสังเกตว่า จะมีคนที่โค้ดคำพูด หรือต้องโพสอะไรบ้างอย่างให้เท่ๆ หรือกดแชร์ เพื่อรอคนมากดไลค์ คนเหล่านี้มีแนวโน้มที่ปฏิสัมพันธ์กับครอบครัวและสังคมไม่ค่อยดีนัก แทนที่จะหาความใส่ใจโดยอยู่กับคนรอบข้างจริงๆ กลับไปหาในโลกของสังคมออนไลน์

มองในทางสังคม บางเรื่องมันเป็นสิทธิของคนอื่นเขา หรือเป็นเรื่องที่ยังไม่ได้กลั่นกรองมาว่าจริงหรือไม่ ถ้าจริงก็ต้องมาคิดต่อว่าเหมาะสมหรือไม่ที่จะแชร์ต่อ การแชร์ต่อกันแบบบิดเบือน พร้อมตัดสินว่าอันนี้ดีไม่ดี  หลายครั้งมันขาดข้อมูล ไม่รู้แม้แต่ที่มาของข้อมูล แต่คนเสพก็เอาไปพูดต่อกันได้เรื่อยๆ 

สำหรับเทรนด์ความนิยมในการติดอุปกรณ์กล้องบนรถยนต์ หรือบนหมวกกันน็อคเพื่อบันทึกเหตุการณ์ต่างๆขณะสัญจรไปบนท้องถนนนั้น บุรชัยมองว่าไม่สามารถตีความในภาพกว้างได้ เพราะแต่ละคนใช้ประโยชน์จากอุปกรณ์เหล่านั้นด้วยวัตถุประสงค์ที่ต่างกันไป

"มันมากับเทคโนโลยี อย่างบางคนเขามองว่ามันเป็นประโยชน์ บางคนเพื่อโชว์ว่ารถเขามีเทคโนโลยีที่เหนือกว่าคนอื่น บางคนอาจใช้เพราะความหวาดระเเวง"

แต่เรื่องที่ต้องเฝ้าระวัง คือข้อมูลที่แท้จริงมากกว่า ยิ่งเป็นเรื่องราวของคนอื่น ถ้ายังไม่รู้ว่า ใช่หรือไม่  การที่เราไปตีตราอย่างนั้น อย่างนี้ทำให้คนได้รับผลกระทบมากกว่า คือคนในสังคมก็จะคิดว่าเขาเป็นอย่างนั้นจริงๆ อีกอย่างหลายเรื่องที่นำมาโพสหรือแชร์ก็เป็นสิทธิส่วนบุตคล  ที่เราไม่ควรนำไปเผยแพร่ด้วย

คนเรามักทำหลายๆ อย่างเพื่อความสนุก  เพื่อความรู้สึกดีของตัวเอง แต่ก็ต้องระวังไว้ด้วย เพราะผมเชื่อว่า ในท้ายที่สุด  สิ่งที่เราทำลงไปมันจะย้อนกลับมาหาเราไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง ซึ่งเราต้องรับผิดชอบกับเรื่องที่เราทำให้ได้ด้วย"

แชร์ได้ โพสต์ดี อาจมีงานเข้า!!

แน่นอนมือแฉผุดขึ้นมากมายในปัจจุบันย่อมต้องมีมือใหม่ที่พลั้งพลาดถูกฟ้องร้อง แต่เนื่องจากกฎหมายการกระทำผิดทางคอมพิวเตอร์ไทยยังไม่เข้มงวดมากนัก คนไทยจึงไม่ค่อยตระหนักเรื่องการเคารพสิทธิส่วนบุคคลมากนัก ขอให้เร็วเข้าว่า

ไพบูลย์ อมรภิญโญเกียรติ ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายคอมพิวเตอร์ เล่าว่าทุกวันนี้มีคดีที่ฟ้องร้องกันเรื่องที่เกี่ยวกับการกระทำผิดทาง คอมพิวเตอร์เกิดขึ้นเยอะมากเป็นร้อยๆ คดี ความถี่ในแต่ละเดือน10-20 ครั้ง แม้ส่วนใหญ่จะจบลงด้วยการเจรจาได้ แต่อีกไม่นานนัก จะมีการคลอดกฎหมายตัวใหม่เกี่ยวกับการรุกล้ำสิทธิส่วนบุคคลเข้ามา

"ปัญหา ส่วนใหญ่จะเป็นเฟชบุ๊กมากที่สุด เมื่อคนโพสต์ตั้งสถานะการเผยแพร่เป็นสาธารณะก็จริง แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือ 80%มีคนภายนอกโพสต์เเละเเสดงความเห็น จนเกิดเป็นการสบประมาทตัวคนที่ถูกพาดพิง  ส่วนความผิดเรื่องที่การนำข้อมูลที่เจ้าของตั้งค่าความเป็นส่วนตัวออกมาเผยแพร่นั้น ในเฟชบุ๊คไม่มากเท่าไหร่  ส่วนใหญ่มักเป็นอินสตาแกรมที่หลุดออกมาจากศิลปินดารา ที่ฟ้องร้องกัน  คดีมีเป็นร้อย ที่ทำอยู่เดือนหนึ่ง 10 -20 คดี ถือว่าเยอะมาก ซึ่ง บริษัท หรือนิติบุคคล จะฟ้องร้องมากกว่าคนธรรมดา แต่มักจบลงด้วยการเจรจา"

อีก2 เดือนอาจเจอของจริง

ไพบูลย์ แนะนำผู้ที่หลงไหลการแชร์ข้อมูลของคนอื่นโดยไม่ได้รับการอนุญาตว่า ในอีก 2 เดือนข้างหน้า (ประมาณเดือนต.ค.) สภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) จะพิจารณากฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลขึ้นมา ซึ่งหากกฎหมายนี้ออกมา สิ่งที่หลายคนทำเป็นประจำเช่นการถ่ายคลิปมนุษย์ลุง-ป้า หรือใครก็ตามมาเผยแพร่ ก็อาจละเมิดสิทธิส่วนบุคคลตามกฎหมายใหม่ถึงแม้เรื่องดังกล่าวจะเป็นเรื่องจริงก็ตามแต่ 

"ข้อที่น่ากังวลคือร่าง พรบ.คุ้มครองสิทธิส่วนบุคคลตัวนี้ จะมีข้อยกเว้นในส่วนของสื่อมวลชนหรือไม่ ถ้ารายงายข่าว หรือวิเคราะห์วิจารณ์ในลักษณะปกติอะไรอย่างนั้นก็ยังไม่รู้ว่าจะออกมาอย่าง ไร

สิ่งที่ควรระวังในแง่ของผู้ใช้แชร์คือ เวลาที่เห็นข้อความ รูปภาพ ควรดูก่อนว่าการกดแชร์หรือนำไปแสดงความเห็นต่อ จะไปพาดพิงกับบุคคลภายนอกเเละสร้างความเสียหายกับเขาหรือไม่ ยิ่งถ้าเป็นภาพในลักษณะการตัดต่อ เช่นภาพหลุดยิ่งไม่ควรรจะเเชร์เพราะมันผิดกฎหมาย

"ต้องพิจารณารายละเอียดให้ดีเพราะมัน ผิดทั้งกฎหมายหมิ่นประมาท กฎหมายอาญา และ พรบ.คอมพิวเตอร์"ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายคอมพิวเตอร์กล่าว


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : โพสต์แฉ แชร์ประณาม ระวังย้อนเข้าตัว

view