สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

แค่เร็วไม่พอ แต่ต้องดีไม่ผิดพลาด

แค่เร็วไม่พอ แต่ต้องดีไม่ผิดพลาด

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์




ธุรกิจต้องไม่เกิดข้อผิดพลาดใดๆ แม้เพียงจุดเล็ก ๆก็อาจนำไปสู่โศกนาฏกรรม หรือหายนะได้ทั้งสิ้น

HR&M/คอลัมน์ Work like a Pro/จำลักษณ์ ขุนพลแก้ว/กรุงเทพธุรกิจ 9 ก.ย.57

ในปี ค.ศ. 1998 Mike Rother และ John Shook ได้นำเสนอแนวคิดเกี่ยวกับ Value Stream Mapping (VSM) ต่อโลกแห่งการปรับปรุงอย่างต่อเนื่องผ่านหนังสือที่ชื่อว่า Learning to See

ในช่วงต้นของหนังสือเล่มดังกล่าวได้ขึ้นข้อความว่า “Wherever there is a product for a customer, there is a value stream. The challenge lies in seeing it.” ซึ่งแสดงให้เห็นได้เป็นอย่างดีว่า สายธารแห่งคุณค่ามีส่วนสัมพันธ์และมีความสำคัญต่อการส่งมอบผลิตภัณฑ์ให้แก่ลูกค้า

ผมเองมักจะพูดไว้ในหลายโอกาสต่างกรรมต่างวาระเมื่อต้องอธิบายถึงความสัมพันธ์ระหว่างลูกค้าและกระบวนการทางธุรกิจขององค์กร ว่ากระบวนการหลัก (Primary Process หรือ Core Process) ที่ถือเป็นหัวใจสำคัญเสมือนกระดูกสันหลังขององค์กรก็คือ กระบวนการที่เริ่มต้นที่ลูกค้า ไล่ไปเรื่อยๆ จนกระทั่งจบลงที่ลูกค้า ไม่ว่าจะพาดผ่านหน่วยงานใด คนใด ก็ตาม ให้ถือว่าเป็นความรับผิดชอบร่วมกันอย่างยิ่งยวดที่จะต้องไม่ให้มีอะไรมาทำให้สินค้าและบริการนั้นๆ สะดุด หยุด หรือช้าลงโดยไม่มีเหตุผลอันสมควรเป็นอันขาด ที่สำคัญมันต้องนิ่งและมีความน่าเชื่อถือเพียงพอที่จะทำให้ทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภคไว้วางใจต่อคุณภาพที่เกิดขึ้น

Mike Rother และ John Shook ยังกล่าวไว้เพิ่มเติมว่า Value Stream Map (มีหลายคนแปลว่า แผนภูมิสายธารแห่งคุณค่า) เป็นเสมือนวิธีการที่ทำให้เราสามารถมองเห็นกิจกรรมการทำงานที่สำคัญทั้งหมดของกระบวนการทางธุรกิจ หรือกระบวนการผลิตได้เป็นอย่างดี ดังเช่นการศึกษาทางด้านวิทยาศาสตร์ที่จำเป็นต้องมีคณิตศาสตร์ที่ทำหน้าที่เหมือนภาษาที่ใช้สื่อสาร และอธิบายปรากฏการณ์บางอย่างให้เหมือนจับต้องได้ (วัดได้) หรือการควบคุมคุณภาพที่ต้องใช้เทคนิควิธีการทางสถิติในการอธิบายขนาด ระดับ และการควบคุมความผันแปร ตลอดจนความเชื่อมั่นต่อคุณภาพของสิ่งที่กำลังศึกษาอยู่

ความจริงแล้วมีการนำแผนภูมิลักษณะต่างๆ มาใช้ในการอธิบายขั้นตอนวิธีการดำเนินการในโรงงานอุตสาหกรรม ตลอดจนถึงการปรับปรุงกระบวนการให้ดีขึ้น มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลดังที่ตั้งเป้าหมายไว้ หรือแข่งขันได้ในทางธุรกิจตั้งนานแล้ว และมีการรวบรวมไว้ในเทคนิควิศวกรรมอุตสาหการ (Industrial Engineering Techniques) แต่หลังจากที่แนวคิดลีนได้รับการยอมรับ และแพร่หลายออกไปจากธุรกิจอุตสาหกรรม สู่ธุรกิจบริการ VSM ได้กลายมาเป็นแผนภูมิหลักขององค์กรที่เน้นการปรับปรุงกระบวนการไปเสียแล้ว

ทั้งนี้อาจเป็นเพราะว่ามันสามารถอธิบายหรือทำให้ผู้ที่เกี่ยวข้องมองเห็นการดำเนินการในขั้นตอนต่างๆ ได้อย่างชัดเจน ทุกคนมองเห็นและเข้าใจในแบบแผนเดียวกัน จึงอาจเปรียบ VSM ได้ดั่งพิมพ์เขียวเพื่อการปรับปรุงกระบวนการตามแนวทางของลีน (the Blueprints for Lean transformations)

แนวคิดการจัดการตามแนวทางลีนได้ท้าทายผู้บริหารและผู้ปฏิบัติงาน ให้ต้องหันกลับไปมองกระบวนการภายในของตนเอง ด้วยสายตาคู่ใหม่ที่ให้ความสำคัญกับคุณค่าที่เพิ่มขึ้นจากจุดเริ่มต้นที่วัตถุดิบ ผ่านขั้นตอนต่างๆ ที่เรียงต่อกันเป็นทอดๆ อย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งกลายเป็นสินค้าสำเร็จรูป

แม้ว่ากระบวนการทางธุรกิจในภาพรวมทั่วไปที่เรามักยึดถือกันนั้นจะเริ่มต้นจากการรับคำสั่งซื้อจากลูกค้า ถึงค่อยส่งต่อมาสู่ส่วนของการผลิต แล้วนำสินค้าสำเร็จรูปที่ได้ไปส่งมอบต่อให้ลูกค้า จึงจะเป็นอันจบสิ้นก็ตาม และเมื่อเรานึกถึงคุณค่า (Value) สิ่งที่เรามักได้เห็นและรับรู้ตามมาจากการวิเคราะห์กระบวนการเพื่อการปรับปรุงก็คือ ความสูญเปล่า (Waste) และทั้งสองสิ่งนี้ถือเป็นคู่ตรงข้ามกัน

องค์กรแบบลีนจะต้องพยายามทุกวิถีทางที่จะเพิ่มคุณค่า และลดความสูญเปล่าให้น้อยที่สุดหรือไม่มีเลยได้ยิ่งดี

ซึ่งแผนภูมิสายธารแห่งคุณค่า (VSM) นี้จะเป็นภาพสะท้อนที่สำคัญของการเปลี่ยนแปลง จากสิ่งที่เป็นอยู่ในปัจจุบันก่อนปรับปรุง (AS IS) ไปสู่สิ่งที่ควรจะเป็นหลังการปรับปรุง (TO BE) ไม่ต่างจากการถ่ายภาพนิ่งของหญิงสาวก่อนลดน้ำหนัก และหลังลดน้ำหนัก ที่ทำให้เราเห็นได้ถึงความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญว่า สวย สด งดงาม รูปร่างสมส่วน แข็งแรง และบุคลิกภาพดีเพียงใด ดังนั้น ไม่ว่าใครก็ตามที่มองเข้าไปในองค์กรที่บริหารจัดการตามแนวทางลีน ก็จะเห็นถึงสมรรถนะและความสามารถการแข่งขันที่สูงขององค์กรแห่งนั้น ยิ่งมีโอกาสได้เข้าไปสัมผัสใกล้ชิดมากขึ้นก็จะรับรู้ได้ถึงผลของการปรับปรุง จนต้องยกนิ้วให้ว่านี่คือองค์กรที่มีสมรรถนะสูง (High Performance Organization) จริงๆ

แม้ว่าลีนจะเป็นเครื่องมือที่ดีในการลดความสูญเปล่าทั้งก่อน ระหว่าง และหลังกระบวนการที่ต่อเนื่องกันเป็นทอดๆก็ตาม แต่เมื่อเราพิจารณาเจาะลึกลงไปในรายละเอียดของแต่ละขั้นตอนย่อยๆในกระบวนการนั้นๆ เราจะเห็นสิ่งที่มันไม่เป็นไปตามข้อกำหนด ไม่ว่าจะเป็นปัจจัยนำเข้า (inputs) เงื่อนไขแวดล้อม (conditions) การแปลงสภาพ (conversion) ตลอดจนผลผลิตที่ได้ (outputs) ในแต่ละขั้นตอน การที่ค่าจริงของสิ่งต่างๆไม่ตรงกับค่าเป้าหมายนั้น เราเรียกว่ามีความผันแปร (Variation) เกิดขึ้น ซึ่งการผันแปรไปจากค่าเป้าหมายไม่ว่าจะเป็นมากกว่า หรือน้อยกว่าก็ตาม เมื่อนำมาคำนวณตามหลักสถิติเรียกว่ามีความเบี่ยงเบน (Standard deviation) นั่นเอง ซึ่งแน่นอนยิ่งมีค่าน้อยเท่าไรยิ่งดีมากเท่านั้น

ในอุตสาหกรรมที่ต้องการความละเอียดแม่นยำสูง ค่าที่ได้ต้องไม่ห่างจากค่าเป้าหมาย หรือเป็นค่าเดียวกันได้ยิ่งดี เมื่อเป็นดังนั้นจึงมีโอกาสน้อยมากที่จะเกิดข้อบกพร่องผิดพลาด เราอาจจะได้ยินว่าหน่วยงานนั้นองค์กรนี้ มีการจัดการคุณภาพในระดับซิกส์ซิกม่า (Six sigma)

ปัจจุบันมีองค์กรจำนวนไม่น้อยที่สามารถพัฒนาทั้งกระบวนการที่ดีมีประสิทธิภาพ และคุณภาพของงานที่สูง จนสามารถบูรณาการ 2 ศาสตร์เข้าด้วยกันเรียกว่า Lean Six Sigma (เรียกย่อๆว่า LSS) นั่นแสดงว่ากระบวนการดีมีความสูญเสียน้อยแล้ว ในแต่ละขั้นตอนของการปฏิบัติงานยังมีคุณภาพที่สูง โดยไม่มีข้อบกพร่องผิดพลาด จนอาจเข้าใกล้สิ่งที่เรียกว่า Zero Defect หรือ Zero Mistake และอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัยจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องนำแนวทางการจัดการแบบลีนซิกส์ซิกม่าไปใช้ อาทิ โรงพยาบาล และสายการบิน เป็นต้น เพราะนั่นหมายถึงความเชื่อมั่นและกลายเป็นแบรนด์ที่แข็งแรงและยั่งยืนในที่สุด

ไม่ว่าจะเป็นโรงพยาบาล หรือสายการบิน ลูกค้าหรือผู้รับบริการต้องการกระบวนการที่สั้นกระชับ รวดเร็ว ในขณะเดียวกันก็ไม่ต้องการให้เกิดข้อผิดพลาดบกพร่องใดๆเลยแม้แต่นิดเดียว เพราะจุดเล็กๆอาจนำไปสู่โศกนาฏกรรม หรือหายนะของผู้รับบริการได้ทั้งสิ้น

ดังนั้นการควบคุมกระบวนการจึงต้องเข้มข้นและแม่นยำ ในขณะเดียวกันบุคลากรที่ปฏิบัติงานจะต้องมีความเป็นมืออาชีพสูง ผ่านการฝึกอบรมและทดสอบเป็นอย่างดี ไม่ใช่เพียงแค่ทักษะ ความรู้ และความสามารถเท่านั้น หากแต่จะต้องมีสำนึกความรับผิดชอบในงานของตนเองสูงสุดอีกด้วย


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : แค่เร็วไม่พอ ต้องดีไม่ผิดพลาด

view