สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ต่อต้านคอร์รัปชันแบบไทยปนอังกฤษ

ต่อต้านคอร์รัปชันแบบไทยปนอังกฤษ

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์




คอร์รัปชันเป็นมะเร็งร้าย เป็นภัยร้ายแรงทำลาย ความเป็นอยู่ของมนุษยชาติ ทำลายสังคม ทำลายการกินดีอยู่ดีของประชาชน

ขัดขวางการเจริญเติบโตของประเทศชาติ ทุกประเทศทั่วโลกต่างก็ตระหนักถึงภัยของคอร์รัปชัน และได้กำหนดมาตรการและวิธีการต่างๆ ในการต่อต้านคอร์รัปชัน องค์การสหประชาชาติ ก็ได้เล็งเห็นถึงความร้ายแรงของปัญหาและการคุกคาม อันเกิดจากการคอร์รัปชัน ได้จัดทำอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการต่อต้านคอร์รัปชัน 2003 ให้ประเทศสมาชิกถือปฏิบัติในการต่อต้านคอร์รัปชัน

สำหรับประเทศไทยถูกคอร์รัปชันกัดกร่อนทำลายโดยเฉพาะระบบราชการจนเกือบเข้าขั้นพิการ มาหลายปี เมื่อ คสช. เข้ามามีอำนาจบริหารประเทศ ก็มีแนวทางชัดเจนในการขจัดคอร์รัปชัน จึงทำให้ข้าราชการใฝ่ดีในส่วนราชการหลายแห่ง เริ่มรณรงค์ต่อต้านคอร์รัปชันอย่างคึกคัก

ส่วนทางด้านองค์กรเอกชนที่เป็นแกนสำคัญในการต่อต้านคอร์รัปชัน คือองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน ที่มีนายประมนต์ สุธีวงศ์ เป็นประธาน ที่ซมไปเพราะพิษระเบิดในช่วงของรัฐบาลชุดที่แล้ว ก็เริ่มคึกคักจัดกิจกรรมรณรงค์ต่อต้านคอร์รัปชันอีก ล่าสุด คือการจัดงานต่อต้านคอร์รัปชัน เมื่อวันที่ 6 ก.ย. 2557 ณ ลานหน้าเซ็นทรัลเวิลด์ ตามแนวคิด “แฮนด์อินแฮนด์ ปฏิรูปการต่อสู้ เพื่อชัยชนะที่ยังยืน” โดยมีหน่วยราชการหลายแห่งเข้าร่วมปฏิญาณตนต่อต้านคอร์รัปชันด้วย และได้จัดเวทีเสวนาสามเวที คือ 1. การปฏิรูปการเลือกผู้แทนราษฎร ไม่ให้ผู้มีประวัติคอร์รัปชันเข้ามาเป็นผู้แทน 2. การปฏิรูปการจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐ และ 3. เวทีเสวนาหาแนวทางใหม่ในการต่อสู้กับคอร์รัปชัน โดย พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. ได้เป็นประธานในพิธีและปาฐกถาด้วย

สำหรับแนวทางในการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชันของไทยนั้น คสช. ให้ความสำคัญมาก มีการเปิดเผยข้อมูลมาก่อนหน้านี้ว่า อาจนำระบบการตรวจสอบการจัดซื้อจัดจ้างของประเทศอังกฤษมาใช้กับการจัดซื้อจัดจ้างของส่วนราชการไทยที่มีปัญหาเรื่องทุจริตมากด้วย

เมื่อมีแนวคิดจะนำระบบการตรวจสอบการจัดซื้อจัดจ้างของประเทศอังกฤษมาใช้ ก็น่าจะมีการพิจารณาศึกษากฎหมายต่อต้านคอร์รัปชันของประเทศอังกฤษ ฉบับใหม่ คือ กฎหมายที่เรียกว่า The Bribery Act 2010 มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค. 2554 ที่กล่าวกันว่า เป็นกฎหมายต่อต้านคอร์รัปชันที่ขยายกว้างขึ้นจะทำให้การต่อต้านคอร์รัปชันของอังกฤษมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น เพื่อนำบทบัญญัติส่วนที่น่าจะเป็นประโยชน์มาประยุกต์ใช้เป็นแนวทางในการแก้ไขปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวกับการต่อต้านคอร์รัปชันของไทย ให้ประสิทธิภาพในการต่อต้านคอร์รัปชันของไทยดียิ่งขึ้น

ตามเอกสารที่สำนักงานบริการให้คำปรึกษาทางธุรกิจแห่งหนึ่ง ในประเทศอังกฤษ ได้จัดทำขึ้น ระบุว่า กฎหมายต่อต้านคอร์รัปชันของอังกฤษฉบับนี้ มีแนวทางคล้ายกฎหมายของสหรัฐอเมริกา ที่เรียกว่า US Foreign Corrupt Practices Act (FCPA) ซึ่งเป็นกฎหมายที่หลายประเทศใช้เป็นเกณฑ์มาตรฐานในการตรากฎหมายต่อต้านคอร์รัปชัน แต่กฎหมายของอังกฤษมีบทบัญญัติบางเรื่องล้ำหน้ากว่า

สรุป สาระที่เป็นประเด็นสำคัญของกฎหมาย The Bribery Act 2010 คือ ครอบคลุมความผิดเกี่ยวกับสินบนทุกประเภท ไม่จำกัดเฉพาะเจ้าหน้าที่ของรัฐเท่านั้น การจ่ายค่าอำนวยความสะดวก (Facilitation payment) หรือที่ไทยเรียกกันว่าค่าหยอดน้ำมัน ที่บางประเทศแม้แต่สหรัฐอเมริกาให้กระทำได้ แต่กฎหมายของประเทศอังกฤษถือว่าเข้าข่ายเป็นการให้สินบน กำหนดความผิดบริษัทที่ไม่มีมาตรการหรือล้มเหลวในการป้องกันการให้สินบน และกำหนดให้เป็นความผิดทั้งผู้ให้สินบนและผู้รับสินบน

กฎหมายฉบับนี้ แยกลักษณะความผิดเกี่ยวกับสินบนไว้ 4 ประเภทคือ

(1) ความผิดทั่วไปฐานให้หรือสัญญาว่าจะให้สินบน

(2) ความผิดทั่วไปฐานเรียกหรือตกลงจะรับสินบน

(3) แยก ความผิดเกี่ยวกับสินบนต่อเจ้าหน้าที่ของต่างประเทศไว้ต่างหาก

(4) กำหนดความผิดของบริษัท ที่ล้มเหลวในการป้องกันการให้สินบนขึ้นเป็นความผิดลักษณะใหม่ อีกลักษณะหนึ่ง โดยถือเป็นความผิดเมื่อมีพนักงานหรือเจ้าหน้าที่คนใดคนหนึ่งของบริษัทนั้น ได้ให้สินบนอันเนื่องจากการปฏิบัติงานของบริษัท

ทั้งนี้ กระทรวงยุติธรรมประเทศอังกฤษได้จัดทำคำแนะนำในการปฏิบัติตามกฎหมายฉบับนี้ ให้บริษัททั้งหลายถือปฏิบัติด้วย คือ

๐ วิธีการป้องกันสินบนต้องได้สัดส่วนกับความเสี่ยงที่อาจเกิดการให้สินบน ต้องกำหนด นโยบายเพื่อการป้องกันสินบน ที่ชัดแจ้ง ปฏิบัติได้ เข้าถึงได้ และต้องมีการบังคับใช้ที่มีประสิทธิภาพ

๐ ต้องกำหนดพันธกิจในการป้องกันสินบนอย่างถ้วนทั่วในทุกส่วนของกิจการของบริษัทนั้น ฝ่ายบริหารต้องสร้างวัฒนธรรมขององค์กรขึ้นว่าการให้สินบนเป็นสิ่งที่ไม่อาจยอมรับได้ ต้องมีการประเมินความเสี่ยง (Risk assessment) เรื่องการให้และรับสินบนทั้งภายในและนอกบริษัท โดยต้องมีการประเมินความเสี่ยงเป็นระยะๆ และบันทึกไว้เป็นลายลักษณ์อักษร

๐ ต้องมีการตรวจสอบวิเคราะห์สถานะ (Due diligence) ของหน่วยงานในบริษัทอันเกี่ยวกับการดำเนินงานที่นำไปสู่การให้สินบนหรือไม่ โดยเฉพาะหน่วยงานที่ปฏิบัติหน้าที่ให้บริการหรือทำธุรกรรมต่างๆ

บทสรุป จากสาระสำคัญของกฎหมายต่อต้านสินบนของประเทศอังกฤษดังกล่าวข้างต้น จะเห็นได้ว่าให้ความสำคัญด้านการป้องกันฝ่ายผู้อาจเป็นผู้ให้สินบนคือ บริษัทต่างๆ รวมถึงเจ้าหน้าที่และพนักงานที่ปฏิบัติงานของบริษัทด้วย ทำให้มีข้อพิจารณาคือ ในการต่อต้านคอร์รัปชันของประเทศไทยนั้น ควรเน้นด้านการป้องกันการคอร์รัปชันคู่ขนานไปกับการปราบปรามฟ้องร้องลงโทษผู้กระทำความผิด ดังเช่นกฎหมายประเทศอังกฤษดังกล่าว ด้วย แต่ไทย ควรเน้น การป้องกันฝ่ายผู้อาจเป็นผู้รับ คือฝ่ายข้าราชการและเจ้าหน้าที่ของรัฐเป็นสำคัญ

และน่าจะนำระบบการประเมินความเสี่ยงมาประยุกต์ใช้ในหน่วยงานราชการด้วย หัวหน้าส่วนราชการต้องกำหนดนโยบายการต่อต้านทุจริตคอร์รัปชันให้ชัดแจ้ง และต้องยึดถือหลักการตามวลีที่ว่า “หัวไม่ส่ายหางไม่กระดิก” อย่างจริงจัง ประการสำคัญต้องส่งเสริมให้ข้าราชการหันกลับมามีทัศนคติว่า การคอร์รัปชันเป็นเรื่องน่ารังเกียจ และเป็นเรื่องที่ไม่สามารถยอมรับได้ ซึ่งเริ่มดำเนินการบ้างแล้วที่กระทรวงพาณิชย์ ก็ขอให้ประสบความสำเร็จกลับมาเป็นกระทรวงพาณิชย์ดังเช่นเดิม


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : ต่อต้านคอร์รัปชัน แบบไทยปนอังกฤษ

view