สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ความเชื่อมั่นต่อการบริหารประเทศ (2)

ความเชื่อมั่นต่อการบริหารประเทศ (2)

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์




บทบาทของนายกรัฐมนตรีชินโซ อาเบะ แห่งประเทศญี่ปุ่นดูจะอยู่ในความสนใจของคนทั่วโลก

เมื่อต้องตัดสินใจเดินหน้านโยบายหลายอย่างที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคมของญี่ปุ่นทั้งระบบเช่น การปรับขึ้นอัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม นโยบายต่างประเทศที่แข็งกร้าวต่อกรณีพิพาททางทะเลกับจีนในหมู่เกาะเซากากุ

ทั้งสองกรณีแม้จะส่งผลต่อคะแนนนิยมของนายกฯ อาเบะระยะสั้น แต่ส่งผลดีกับการบริหารประเทศในระยะยาว จึงสร้างความมั่นใจให้ชาวญี่ปุ่นได้ไม่น้อย จนหลายคนเชื่อว่านายกฯ อาเบะเป็นสัญลักษณ์การฟื้นฟูประเทศไปแล้ว

เพราะญี่ปุ่นอยู่ในวังวนของวิกฤติเศรษฐกิจยาวนานกว่า 10 ปี ด้วยภาวะเศรษฐกิจหดตัวทำให้ความเชื่อมั่นของนักลงทุนและประชาชนคนธรรมดาติดลบยาวนานกว่า 1 ทศวรรษ ซ้ำร้ายด้วยวิกฤติแผ่นดินไหวและสึนามิสร้างความเสียหายหลายแสนล้าน รวมถึงโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่ก่อให้เกิดภาวะปนเปื้อนเป็นฝันร้ายชาวญี่ปุ่นและคนทั่วโลกจนถึงวันนี้

ทางออกรัฐบาลญี่ปุ่น คือ หาแหล่งพลังงานทางเลือกอื่น ซึ่งเป็นพันธกิจของนายกฯ อาเบะในการเจรจากับประเทศต่างๆ ทั้งไทย เวียดนาม ฟิลิปปินส์ สหรัฐอเมริกา มองโกเลีย รัสเซีย ตุรกี ซาอุดีอาระเบีย ฯลฯ

การเยือนแต่ละประเทศจะมีวัตถุประสงค์สำคัญอย่างหนึ่ง คือ หาแหล่งพลังงานอื่นๆ นอกเหนือจากนิวเคลียร์ เพราะญี่ปุ่นไม่มีทรัพยากรธรรมชาติอื่นใดที่จะใช้สร้างพลังงานไฟฟ้า การเยือนประเทศต่างๆ จึงมีเรื่องแหล่งพลังงานเป็นวัตถุประสงค์สำคัญ เช่น เยือนมองโกเลีย เพราะเห็นแหล่งถ่านหินสำคัญ หรือรัสเซียก็มีแหล่งก๊าซใต้ดินมหาศาล เช่นเดียวกับแหล่งน้ำมันในอินโดนีเซีย ซาอุดีอาระเบีย เพราะอุตสาหกรรมญี่ปุ่นจะขยายตัวได้ต้องอาศัยพลังงานไฟฟ้าอีกมาก ที่ผ่านมาญี่ปุ่นอาศัยโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เป็นหลัก แต่พบข้อจำกัด ส่งผลกระทบร้ายแรง จำเป็นต้องลดใช้พลังงานนิวเคลียร์และใช้วัตถุดิบอื่นๆ ทดแทนการผลิตกระแสไฟฟ้า

อีกประเด็นสำคัญ คือ กรณีพิพาทหมู่เกาะเซากากุ จีนเป็นตัวแปรสำคัญสุดเพราะเศรษฐกิจจีนเติบโตต่อเนื่องทำให้จีนมีงบประมาณการทหารเพิ่มขึ้นจนมีอำนาจต่อรองสูง

ทางเลือกญี่ปุ่นที่ไม่อาจเพิ่มกำลังการทหารได้เหมือนจีน เพราะมีสนธิสัญญาสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่จำกัดการสร้างกองทัพของประเทศ จนมีได้เพียงกองกำลังป้องกันตนเอง จึงหันไปหาขั้วอำนาจสำคัญ คือ สหรัฐอเมริกาให้หันมาสนับสนุน

สหรัฐฯ เองแม้ประธานาธิบดีบารัค โอบามาจะประกาศนโยบายให้ความสำคัญกับเอเชียแปซิฟิก แต่ก็ไม่เคยมีท่าทีเข้าข้างญี่ปุ่น จนช่วงหลังบทบาทจีนในทวีปนี้เพิ่มสูงขึ้น สหรัฐฯ จึงหันมาสนับสนุนญี่ปุ่นอย่างเต็มที่หวังคานอำนาจกับจีน นายกฯ อาเบะ จึงต้องอาศัยชั้นเชิงชั้นสูงทั้งด้านเศรษฐกิจและการต่างประเทศ จนคนในประเทศมีความเชื่อมั่นกลับคืน จนผมสัมผัสได้ถึงความมีชีวิตชีวาของคนญี่ปุ่นในการเดินทางไปเจรจาธุรกิจเมื่อเดือนที่แล้ว

แม้ญี่ปุ่นจะไม่ได้กลับมาคึกคักเหมือนเมื่อ 20-30 ปีที่แล้วที่ขยายตัวสู่ตลาดโลกอย่างรวดเร็ว แต่การมีนายกฯ ที่มีบทบาทเป็นผู้นำด้านนโยบายและสร้างความเชื่อมั่นให้ประชาชน ก็ส่งผลต่อความมั่นใจให้นักลงทุน เป็นโอกาสให้ญี่ปุ่นกลับมารุ่งโรจน์อีกครั้ง

สำหรับไทย ดูมีแนวโน้มดีขึ้นหลังมีคณะรัฐมนตรี แต่ท้ายที่สุดตัวแปรสำคัญไม่ใช่คสช. นักการเมือง หรือคณะรัฐมนตรี แต่เป็นคนไทยที่ต้องรู้จักคิดบวกและพร้อมปรับตัวรับการเปลี่ยนแปลง รวมถึงสร้างความมั่นใจให้นักลงทุนทั้งในและนอกประเทศ ซึ่งจะไม่มีวันทำได้หากคนในประเทศยังรู้สึกไม่มั่นใจ

ดังนั้น ผู้นำ ผู้บริหารและคนในชาติต้องมีความเชื่อมั่นและมุ่งไปสู่เป้าหมายเดียวกันในการก้าวไปข้างหน้า จะทำให้เราแข่งขันกับประเทศอื่นๆ ได้เต็มที่และผลสำเร็จย่อมไม่ไกลเกินเอื้อม


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : ความเชื่อมั่นต่อการบริหารประเทศ (2)

view