สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ร่วมขจัดทุจริตในวงราชการ

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
สุพรรณี พุฒิพิสุทธิ์



การรับสินบน หรือทุจริตในวงราชการของไทย เป็นปัญหาเรื้อรัง ที่ทำให้ระบบราชการไทยไม่เป็นที่น่าเชื่อถือ

ทั้งในมุมมองของประชาชนผู้เสียภาษี และนักลงทุนที่ต้องการเข้ามาลงทุน ส่งผลต่อขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ขณะที่ ทุกรัฐบาลที่ผ่านมา และรวมถึงรัฐบาลชุดปัจจุบัน ได้ประกาศให้การแก้ไขปัญหาการทุจริตในวงราชการเป็นนโยบายหลักในการทำงาน

ทั้งนี้ จากดัชนีชี้วัดภาพลักษณ์คอร์รัปชันหรือ Corruption Perceptions Index (CPI) จัดทำโดยองค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ ที่จัดทำดัชนีชี้วัดทุกปี มีค่าคะแนนตั้งแต่ 0 ที่หมายถึงประเทศที่มีคอร์รัปชันมากที่สุด ถึง 100 ที่เป็นประเทศคอร์รัปชันน้อยที่สุด

ในปี 2556 ไทยได้ 35 คะแนน มีอันดับที่ 102 จากทั้งหมด 177 ประเทศทั่วโลก เท่ากับประเทศเอกวาดอร์ มอลโดวา และปานามา และอยู่ที่อันดับ 16 จาก 28 ประเทศในเอเชียแปซิฟิก โดยประเทศที่มีคะแนนอันดับหนึ่งคือ ประเทศเดนมาร์ก และนิวซีแลนด์ ได้เท่ากัน 91 คะแนน ส่วนที่ต่ำสุด คือ อัฟกานิสถาน เกาหลีเหนือ และโซมาเลียที่ได้ 8 คะแนน

ในกลุ่มประเทศอาเซียนมีเพียง 3 ประเทศเท่านั้นที่ได้คะแนนเกินครึ่ง คือ สิงคโปร์ 86 คะแนน บรูไน 60 คะแนน มาเลเซีย 50 คะแนน โดยไทยอยู่ในอันดับที่ 5 ต่อจากฟิลิปปินส์ และเป็นน่าสังเกตว่า ลาวและพม่าแม้จะมีคะแนนที่ค่อนข้างต่ำ แต่ดีขึ้นกว่าปีก่อนหน้าอย่างเห็นชัดเจน คาดหวังว่า ในปี 2557 นั้นอันดับของไทยจะปรับดีขึ้นกว่าในปี 2556

กระทรวงการคลังเผยว่า แต่ละปีมูลค่าการจัดซื้อจัดจ้างของหน่วยงานส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นของไทยมีมูลค่าสูงมาก โดยในปีงบ 2556 การจัดซื้อจัดจ้างมูลค่า 8.33 แสนล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 7% ของจีดีพี หากคิดเงินรับสินบนเฉลี่ยที่ 30% เท่ากับว่า จะมีเงินงบประมาณที่หายไปราว 2 แสนล้านบาทในแต่ละปี

ทั้งนี้ กระทรวงการคลัง โดยกรมบัญชีกลางอยู่ระหว่างปรับปรุงให้ระเบียบการจัดซื้อจัดจ้างที่ใช้มาตั้งแต่ปี 2535 เป็นกฎหมายที่จะบังคับให้การปรับปรุงระเบียบการจัดซื้อจัดจ้างที่เอื้อต่อการทุจริตทำได้ยากขึ้น

แต่การทุจริตในวงราชการไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะในจุดที่มีการจัดซื้อจัดจ้างเท่านั้น แต่ยังมีอีกหลายช่องที่ทำได้ แม้แต่จุดเล็กๆ และเป็นจำนวนเงินที่ไม่มาก ก็ถือเป็นการทุจริตเช่นกัน อาทิ การเบิกค่าใช้จ่ายที่เกินจริง เช่น เบิกค่าเช่าบ้านทั้งที่อาศัยในบ้านตนเอง เบิกค่าเดินทาง เงินล่วงเวลา รวมถึงการทำงานไม่เต็มเวลา โดยใช้เวลาราชการไปทำงานส่วนตัว โดยอาศัยช่องโหว่ของระเบียบและการละเว้นหน้าที่ในการตรวจสอบของผู้บังคับบัญชา

กรณีรถยนต์หรูหนีภาษีจำนวน 500 คัน หายไปจากคลังสินค้าทัณฑ์ เป็นอีกหนึ่งกรณีตัวอย่างของการรับสินบนของเจ้าหน้าที่ศุลกากร ขณะที่ ผู้ประกอบการเองก็อาศัยช่องโหว่ของระเบียบปฏิบัติในการเลี่ยงภาษี ล่าสุด กรณีนี้ ยังอยู่ระหว่างการติดตามให้ผู้ประกอบการที่นำเข้ารถยนต์ดังกล่าวเข้ามาเสียภาษีอย่างถูกต้อง

เมื่อระบบระเบียบราชการที่เปิดช่อง บวกกับ ความโลภส่วนตัวของเจ้าหน้าที่ราชการ และ ผู้ประกอบการ ขณะที่ กระบวนการมีส่วนร่วมในการตรวจสอบ โดยเฉพาะประชาชนและผู้บังคับบัญชาทุกส่วนราชการ ไม่ทำงานอย่างเต็มที่ แน่นอนว่า ปัญหาการทุจริตในวงราชการของไทย ยังเป็นประเด็นที่ทั่วโลกกล่าวถึง


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : ร่วมขจัดทุจริต วงราชการ

view