สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ทำไมเศรษฐกิจยุโรปยังเสี่ยงมาก

ทำไมเศรษฐกิจยุโรปยังเสี่ยงมาก

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์




ค่อนข้างที่จะเกินความหมายของกูรูหลายท่าน สำหรับการประชุมธนาคารกลางยุโรปครั้งล่าสุด

ที่นายมาริโอ ดรากิ ประธานธนาคารกลางยุโรป ประกาศซื้อตราสารหลักทรัพย์ที่มีสินทรัพย์ค้ำประกัน หรือ Asset-backed Securities และ ตราสาร Covered Bonds แถมยังลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายและเงินฝากอีกด้วย คำถามคือทำไมมาตรการของนายดรากิเที่ยวนี้ต้องเข้มข้นถึงเพียงนี้ หนึ่งในคำตอบที่ผมคาดว่าเป็นไปได้คือ ยุโรปเสี่ยงต่อภาวะเศรษฐกิจซบเซาเหมือน Lost Decade ของญี่ปุ่นที่เรียกว่า Secular Stagnation

Secular Stagnation กล่าวว่าเศรษฐกิจหลายประเทศ ในขณะนี้ อาทิ เศรษฐกิจสหรัฐหรือยุโรป มีระดับหนี้ต่อจีดีพีค่อนข้างสูง การเจริญเติบโตของประชากรเริ่มลดลง รวมถึงมีความเหลื่อมล้ำของรายได้ระหว่างคนในประเทศค่อนข้างมาก ส่งผลให้อุปสงค์ของผู้บริโภคลดลง ทว่าไปกระตุ้นการออมของคนในประเทศมากกว่า ในทางกลับกันการชะลอตัวลงของผลิตภาพในการผลิตและของผลผลิตได้ไปทำให้การลงทุนชะลอตัวลง

ด้วยเหตุนี้ อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงซึ่งเป็นระดับที่เหมาะสมตามธรรมชาติ หรือ อัตราผลตอบแทนที่ความต้องการในการลงทุนเท่ากับอุปทานของการออมจึงมีระดับที่ลดลง รวมถึงมีโอกาสที่จะเป็นค่าติดลบในขณะนี้เสียด้วยซ้ำ อย่างไรก็ดี ในความเป็นจริง อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริง ณ เวลานี้ไม่สามารถมีค่าติดลบได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุโรป ที่อัตราเงินเฟ้อเกือบจะอยู่ในแดนลบอยู่รอมร่อ ดังนั้น เศรษฐกิจที่ติดกับดัก Secular Stagnation ดังกล่าว จึงไม่สามารถพาตนเองผ่าทางตันกลับเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจในช่วงที่เป็นปกติได้ หากปราศจากแรงส่งหรือตัวช่วยที่มีความเข้มข้นและถูกทาง

บทความนี้ จะขอประเมินไปที่เศรษฐกิจยุโรปว่าโดยแท้จริงแล้ว มีความเสี่ยงต่อกับดักดังกล่าวมากที่สุด โดยหากใช้หัวข้อการทดสอบด้วยปัจจัยเสี่ยง 5 ข้อที่นายลอว์เรนซ์ ซัมเมอร์ส อดีตรัฐมนตรีกระทรวงการคลังสหรัฐ เจ้าของแนวคิดนี้ ใช้ประเมินระดับความตกต่ำของเศรษฐกิจจากกับดักเศรษฐกิจที่ว่า ดังนี้

ปัจจัยเสี่ยงแรก หากเศรษฐกิจใดที่มีประชากรเติบโตช้าลงและมีคนวัยทำงานที่ลดลง รวมถึงมีเทคโนโลยีที่เติบโตขึ้น นั่นหมายถึงมีความต้องการสินค้าทุนและการลงทุนที่ชะลอตัวหรือลดลง ส่งผลให้ความต้องการของเงินทุนลดลงและอัตราดอกเบี้ยลดลงจนอาจจะติดลบในที่สุด ดังรูปที่ 1 จะเห็นได้ว่า ในช่วง 5-6 ปีนี้ เศรษฐกิจยุโรปเสี่ยงต่อปัจจัยดังกล่าวเป็นอันมาก



ปัจจัยเสี่ยงที่สอง ยิ่งเกิดความไม่เท่าเทียมของรายได้มากขึ้นเท่าใด อัตราส่วนของรายได้ที่สูงขึ้นก็จะไปตกกับผู้ที่มีแนวโน้มที่จะใช้จ่ายลดลง จากรูปที่ 2 ประเทศในยุโรปส่วนใหญ่มีแนวโน้มที่รายได้ส่วนใหญ่จะไปตกกับผู้ที่มีรายได้สูงสุดอันดับต้นๆ ของประเทศ จึงทำให้แรงจับจ่ายใช้สอยลดลง และไม่สามารถกระตุ้นอุปสงค์ต่อสินค้าและบริการได้เท่าที่ควร ระดับดอกเบี้ยจึงต้องต่ำมากๆ เพื่อช่วยกระตุ้นอีกแรง



ปัจจัยเสี่ยงที่สาม ได้แก่ การที่ยิ่งมีขนาดของภาคการเงินจากกลุ่มเศรษฐกิจจริงต่อขนาดเศรษฐกิจโดยรวมหรือจีดีพีในสัดส่วนที่มากขึ้นเท่าไร ก็ยิ่งกลัวความเสี่ยงมากตอนเกิดวิกฤตมากขึ้นเท่านั้น ทำให้ต้องมีค่าใช้จ่ายในการด้านกฎเกณฑ์ทางการเงินสูงมากขึ้น ส่งผลให้เกิดความแตกต่างกันระหว่างอัตราดอกเบี้ยที่รับและจ่ายของสถาบันการเงินมากขึ้น แน่นอนว่าสิ่งนี้ยิ่งไปกดให้อัตราดอกเบี้ยที่ต่ำให้ต่ำลงไปอีก ซึ่งจากรูปที่ 3 จะเห็นได้ว่าญี่ปุ่นและยุโรปมีสัดส่วนของภาคการเงินต่อจีดีพีสูงที่สุดในตอนนี้



ปัจจัยเสี่ยงที่สี่ ธนาคารกลางใดที่ในตอนนี้มีความต้องการที่จะซื้อสินทรัพย์ทางการเงินและขยายงบดุลของตนเองมากที่สุด ก็จะยิ่งไปเพิ่มความต้องการสินทรัพย์ปราศจากความเสี่ยง ซึ่งจะไปลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายในที่สุด จะเห็นได้ว่าธนาคารกลางยุโรปเข้าข่ายคุณลักษณะข้อนี้มากที่สุด จึงไม่แปลกที่ยุโรปจะเสี่ยงต่อ Secular Stagnation มากกว่าชาวบ้าน

ปัจจัยเสี่ยงที่ห้า ยิ่งประเทศใดมีอัตราเงินเฟ้อต่ำมากหรือเงินฝืด ก็จะทำให้อัตราเงินดอกเบี้ยที่แท้จริงสูงขึ้น ซึ่งจะไปลดความต้องการลงทุนให้ลดลงไปอีก หนำซ้ำยังไปลดระดับผลผลิตที่อยู่ในจุดที่ใช้ศักยภาพสูงสุดของเศรษฐกิจ เนื่องจากสินค้าทุนและแรงงานที่ลดลงจากระดับการลงทุนที่ลดลง

ปัจจัยสุดท้าย จะเห็นได้ว่าความแตกต่างระหว่างอัตราการเติบโตที่คาดการณ์และที่เกิดขึ้นจริงในปัจจุบันของเศรษฐกิจยุโรป มีความใกล้เคียงกับความแตกต่างดังกล่าวของเศรษฐกิจญี่ปุ่นในช่วงทศวรรษที่ 80 ต่อ 90 เป็นอันมาก ดังรูปที่ 4 สิ่งนี้ทำให้อาจต้องจับตาว่านายมาริโอ ดรากิ ประธานธนาคารกลางยุโรป น่าจะต้องเสริมความเข้มข้นในการใช้มาตรการนโยบายการเงินให้สูงขึ้นไปอีก เพราะสภาพทุกอย่างของเศรษฐกิจยุโรปเสี่ยงกว่าเกือบทุกประเทศที่จะไม่สามารถกลับไปมีเศรษฐกิจที่อยู่ในภาวะปกติอีกต่อไปครับ


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : ทำไม เศรษฐกิจยุโรป ยังเสี่ยงมาก

view