สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ยุโรปกับภาวะฟองสบู่เอเชีย

ยุโรปกับภาวะฟองสบู่เอเชีย

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์




อาทิตย์ที่แล้วผมเขียนบทความเกี่ยวกับความท้าทายต่อนโยบายของธนาคารกลาง ที่จะฟื้นเศรษฐกิจโดยการอัดฉีดสภาพคล่อง

ที่จะทำให้ความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะฟองสบู่ในตลาดการเงินโลกมีมากขึ้น ผมส่งต้นฉบับวันพฤหัส พอวันศุกร์ธนาคารกลางยุโรปหรือ ECB ก็ประกาศลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงร้อยละ 0.10 เป็นร้อยละ 0.05 เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ วันนี้จึงจะเขียนเรื่องนี้ต่อว่า ผลจากนโยบายดังกล่าวจะช่วยฟื้นเศรษฐกิจยุโรปได้หรือไม่ และผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจเอเชียจะเป็นอย่างไรต่อไป

ยุโรปเป็นจุดอ่อนสำคัญของเศรษฐกิจโลกปัจจุบัน และตั้งแต่วิกฤติเศรษฐกิจโลกปี 2008 เศรษฐกิจยุโรปก็ถดถอยมาตลอด ปัจจุบันยุโรปยังไม่ฟื้นจากวิกฤติ ล่าสุดเศรษฐกิจกลุ่มยูโรโซนในไตรมาสสองไม่มีการขยายตัวจากไตรมาสก่อนหน้า เทียบกับไตรมาสแรกที่ขยายตัวร้อยละ 0.2 ขณะที่อัตราการว่างงานยังสูงที่ร้อยละ 11.5 เดือนกรกฎาคม ความอ่อนแอดังกล่าวทำให้อัตราเงินเฟ้ออยู่ในเกณฑ์ต่ำและมีแนวโน้มที่จะติดลบได้ในอนาคต คือเข้าสู่สถานการณ์เงินฝืด ในเดือนสิงหาคมอัตราเงินเฟ้อยุโรปอยู่ที่ร้อยละ 0.3 ลดลงจากร้อยละ 0.4 เดือนก่อนหน้า

ในการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ธนาคารกลางยุโรปให้เหตุผลว่าจำเป็นเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ลดความเสี่ยงของการเกิดภาวะเงินฝืด และดูแลความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจที่อาจมาจากความไม่แน่นอนของสถานการณ์การเมืองของประเทศยูเครน นอกจากจะลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ธนาคารกลางยุโรปยังลดอัตราดอกเบี้ยเงินฝากของธนาคารพาณิชย์ที่ธนาคารกลาง จากอัตราติดลบร้อยละ 0.1 เป็นลบร้อยละ 0.2 เพื่อกระตุ้นให้สถาบันการเงินปล่อยเงินกู้ให้แก่ภาคเศรษฐกิจ พร้อมกันนี้ธนาคารกลางยุโรปก็ประกาศอัดฉีดสภาพคล่องเข้าระบบการเงินโดยการซื้อตราสารหนี้ประเภท ABS (Asset Backed Securities) หรือพันธบัตรการกู้ยืมที่มีสินทรัพย์ค้ำประกัน ทั้งหมดนี้ก็เพื่อกระตุ้นให้เศรษฐกิจยุโรปฟื้นตัวและป้องกันไม่ให้เศรษฐกิจเข้าสู่ภาวะเงินฝืดที่อัตราเงินเฟ้อติดลบเหมือนที่เคยเกิดขึ้นที่ญี่ปุ่น

ตลาดการเงินโดยทั่วไปแปลกใจกับการตัดสินใจดังกล่าว ที่ดูเหมือนว่าจะรีบทำจากแรงกดดันจากตัวเลขเศรษฐกิจที่ออกมาไม่ดีและจากข้อเปรียบเทียบว่าเศรษฐกิจสหรัฐกำลังเริ่มฟื้นตัวจากการดำเนินมาตรการคิวอีขณะที่ของยุโรป ธนาคารกลางยังไม่ได้ตัดสินใจที่จะใช้มาตรการคิวอีเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ

ในแง่ผลของการลดดอกเบี้ยและการอัดฉีดเงิน ความเห็นส่วนใหญ่ มองความสำเร็จของมาตรการดังกล่าวต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจค่อนข้างน้อย หรือแทบไม่มี เพราะต้นทุนการเงินไม่ได้เป็นข้อจำกัดของการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ แต่ปัญหาสำคัญของยุโรปขณะนี้เป็น ปัญหาเชิงโครงสร้างที่ยังไม่ได้แก้ไขที่ทำให้การฟื้นตัวเศรษฐกิจไม่เกิดขึ้น ส่วนหนึ่งเป็นผลจากความไม่พร้อมของฝ่ายการเมืองยุโรปที่จะผลักดันการปฏิรูปเศรษฐกิจเชิงโครงสร้าง ดังนั้น ผลที่จะตามมาก็คือ สภาพคล่องที่จะอัดฉีดเข้าไปจะไม่ถูกนำไปปล่อยเป็นสินเชื่อเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่จะนำไปสู่การเก็งกำไรในตลาดการเงินแทน ที่ต้นทุนที่ถูกมากของเงินสกุลยูโร จะทำให้มีการกู้ยืมเงินในสกุลยูโรไปลงทุนในตราสารการเงินที่ให้ผลตอบแทนสูงกว่าแทน หรือ Carry Trade ซึ่งหมายถึงตลาดการเงินยุโรป หรือตลาดการเงินโลกจะได้ประโยชน์จากนโยบายดังกล่าวไม่ใช่เศรษฐกิจยุโรปอย่างที่อยากจะเห็น

ผลกระทบสำคัญอีกประเด็นก็คือ ค่าเงินสกุลยูโรจะอ่อนค่าลงจากนโยบายดังกล่าว ซึ่งจะดีต่อการส่งออกของกลุ่มประเทศยูโรและดีต่อเศรษฐกิจ ในเรื่องนี้ มีเหตุการณ์ที่ผ่านมาหลายอย่างที่ชี้ว่า ธนาคารกลางยุโรปอาจใช้การลดอัตราดอกเบี้ยครั้งนี้ขับเคลื่อนการอ่อนค่าของเงินยูโรอย่างตั้งใจ กล่าวคือ มีเป้าหมายอยากให้เงินยูโรอ่อนค่าลงเพื่อผลต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ เช่น กรณีสัมภาษณ์ของผู้ว่าธนาคารกลางยุโรปก่อนหน้านี้ที่พูดว่า ธนาคารกลางทั่วโลกกำลังลดการถือครองเงินยูโรในเงินทุนสำรองทางการ ทำให้เงินยูโรอ่อนค่าลงทันทีเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ คราวนี้ก็เช่นกันหลังประกาศลดอัตราดอกเบี้ยเมื่อวันศุกร์ ตลาดหุ้นยุโรปตอบรับในทางบวกขณะที่เงินยูโรก็โน้มอ่อนค่าลง

แล้วผลต่อเศรษฐกิจเอเชียจะเป็นอย่างไร เศรษฐกิจเอเชียคงได้ประโยชน์จากสถานการณ์ในยุโรปอย่างน้อยในสามด้าน

หนึ่ง ต้นทุนการระดมเงินในสกุลยูโรจะถูกลง ทำให้ต้นทุนการกู้เงินต่างประเทศในสกุลยูโรเพื่อการลงทุนจะต่ำลง เป็นประโยชน์ต่อการลงทุนในโครงการต่างๆ ของประเทศเอเชีย แต่ที่ต้องระวังก็คือ ความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน ทำให้ต้นทุนดอกเบี้ยที่ต่ำอาจถูกชดเชยโดยค่าประกันความเสี่ยงของอัตราแลกเปลี่ยนที่สูงขึ้น

สอง ตลาดการเงินเอเชียจะได้ประโยชน์จากการไหลเข้าของเงินทุนจากยุโรปที่เข้ามาทำกำไรจากการลงทุนในสินทรัพย์ต่างๆ ทำให้ตลาดการเงินเอเชียจะยิ่งขึ้นต่อ และมีความเสี่ยงมากขึ้นต่อการเกิดภาวะฟองสบู่ ที่สำคัญ ถ้าธนาคารกลางยุโรปหันมาใช้มาตรการคิวอีกระตุ้นเศรษฐกิจเหมือนสหรัฐ เราก็จะเห็นการปล่อยสภาพคล่องจากธนาคารกลางยุโรปต่อเนื่อง ทำให้ระบบการเงินโลกจะไม่ขาดแคลนสภาพคล่อง เพราะธนาคารกลาง ยุโรปจะปล่อยสภาพคล่องแทนธนาคารกลางสหรัฐที่จะยุติมาตรการคิวอีในเดือนตุลาคม ภาวะดังกล่าวทำให้ตลาดการเงินในเอเชีย และประเทศตลาดเกิดใหม่จะเสี่ยงต่อการเกิดปัญหาฟองสบู่ ขณะที่ค่าเงินของกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ที่มีเงินทุนไหลเข้าก็จะแข็งค่าขึ้น โดยไม่สะท้อนปัจจัยพื้นฐานของเศรษฐกิจ สถานการณ์แบบนี้คงจะนำไปสู่การพูดถึง สงครามเงินตรา หรือ Currency War อีกครั้ง โดยสงครามคราวนี้ถูกจุดชนวนนโยบายการเงินของธนาคารกลางยุโรป

สาม นอกจากการลงทุนและตลาดการเงิน เอเชียก็จะได้ประโยชน์ด้านการค้าจากเหตุการณ์ในยุโรป จากมาตรการลดการค้า (Trade Sanction) กับประเทศรัสเซีย นำโดยประเทศในยูโรป สหรัฐ และญี่ปุ่น (ที่เป็นพันธมิตรสำคัญของสหรัฐ) มาตรการนี้ทำให้บริษัทยุโรป อเมริกัน และญี่ปุ่น จะไม่สามารถค้าขายกับรัสเซียได้ เปิดช่องว่างให้บริษัทจากประเทศตลาดเกิดใหม่ เช่น จีน เกาหลี อาเซียน เข้าไปค้าขายแทน ยิ่งถ้ามาตรการการลดการค้ายืนอยู่นาน และสินค้าจากกลุ่มประเทศเอเชียในสายตาผู้ซื้อจากรัสเซียมีคุณภาพและราคาไม่แพง ก็มีโอกาสที่รัสเซียจะซื้อสินค้าจากประเทศในเอเชียต่อไปแม้มาตรการลดการค้าจะสิ้นสุดลง ช่วงนี้จึงเป็นโอกาสที่บริษัทธุรกิจเอเชียจะเข้าตลาดรัสเซีย และแย่งสัดส่วนตลาดจากบริษัทยุโรป อเมริกา และญี่ปุ่น

แต่ภายใต้ประโยชน์เหล่านี้ ความเสี่ยงที่น่ากลัวก็คือ ผลที่จะตามมาในรูปของการเกิดภาวะฟองสบู่และสงครามเงินตรา ซึ่งจะเกิดได้ง่ายถ้าธนาคารกลางยุโรปหันมาอัดฉีดสภาพคล่องโดยใช้มาตรการคิวอีเหมือนกรณีสหรัฐ แต่ความเป็นไปได้ที่ยุโรปจะใช้มาตรการคิวอีก็ไม่ง่าย เพราะประเทศสมาชิกยูโรโซนอาจเห็นไม่เหมือนกัน โดยเฉพาะธนาคารกลางเยอรมัน ซึ่งเป็นหัวแถวของการรักษาวินัยของการเงิน และเป็นพี่เบิ้มเศรษฐกิจยุโรป ที่อาจไม่ยอมให้ธนาคารกลางยุโรปอัดฉีดเงิน ทำให้เราต้องตามดูว่า ยุโรปจะตัดสินใจอย่างไรต่อ เพราะจะมีผลต่อการลงทุน การค้า และตลาดการเงินเอเชีย


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : ยุโรป ภาวะฟองสบู่เอเชีย

view