สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

พลิกวิกฤตเป็นโอกาสสางปม แรงงาน

จากประชาชาติธุรกิจ

คอลัมน์ ระดมสมอง โดย สมพงศ์ สระแก้ว

คอลัมน์ ระดมสมอง โดย สมพงศ์ สระแก้ว มูลนิธิเครือข่ายส่งเสริมคุณภาพชีวิตแรงงาน

แรงงานข้ามชาติและการค้ามนุษย์ถูกกล่าวถึงอย่างมากในสังคมไทยในห้วงเวลาที่ผ่านมา โดยเฉพาะแรงงานที่เกี่ยวพันกับอุตสาหกรรมประมงไทย ถูกวิพากษ์วิจารณ์จากสื่อตะวันตกอย่างหนัก

ที่จริงแล้วปัญหาแรงงานที่เกิดจากการจัดอันดับการจัดการด้านการค้ามนุษย์(TripReport) ที่ประเทศไทยถูกลดอันดับจากระดับ 2 (Tier 2) เป็นระดับ 3 (Tier 3 Watch List) ถือเป็นประเทศที่ยังไม่สามารถปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยการค้ามนุษย์ หรือมีมาตรฐานขั้นต่ำในการจัดการปัญหานั้น ถือได้ว่าเป็นทั้ง "วิกฤต" และ "โอกาส" ไปพร้อมกัน


ทั้งนี้ หากมองในเชิงบวก กล่าวได้ว่าถึงเวลาเริ่มต้น "ตื่นตัว" ในการจัดการปัญหาแรงงานในด้านต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น จนนำไปสู่ประเด็นการค้ามนุษย์อย่างจริงจัง และยกระดับไปสู่การพัฒนาแรงงานที่ได้มาตรฐาน ทั้งในด้านของทักษะภาษา การจัดการด้านสวัสดิการแรงงาน สุขภาพ และการศึกษาให้กับเยาวชนในครอบครัวแรงงาน ตลอดจนดูแลความเป็นอยู่ของแรงงานในประเทศอย่างเป็นระบบ รวมถึงการปรับทัศนคติ การยอมรับในความต่างทางวัฒนธรรม ที่หลากหลายจากประเทศเพื่อนบ้าน เช่น พม่า เขมร เป็นต้น



มีปัญหาเกิดขึ้นในหลายจังหวัดในการดูแลด้านการจัดการแรงงาน เช่น ต้องยอมรับว่าบางจังหวัดมีการบังคับค้าประเวณีจริง ๆ ซึ่งเป็นปัญหาซุกอยู่ใต้พรมที่เข้าไม่ถึง ไม่มีการเข้าไปสืบค้น ยิ่งการเข้าหาความช่วยเหลือกับหน่วยงานภาครัฐ ยิ่งแย่เข้าไปใหญ่ จึงทำให้แรงงานที่ประสบปัญหาส่วนใหญ่จะเข้าไปขอความช่วยเหลือจากองค์กรพัฒนาเอกชนหรือเอ็นจีโอ ดังนั้น ถึงเวลาแล้วที่ภาครัฐซึ่งมีหน้าที่เกี่ยวข้องกับการจัดการปัญหานี้ ต้องทบทวนเรื่องที่ถูกวิพากษ์และต้องรีบเข้าไปจัดการปัญหา

ประเด็นสำคัญอีกประการที่ทำให้ปัญหานี้ไม่ได้รับการแก้อย่างจริงจังคือปัญหาการทุจริตคอร์รัปชั่น ที่ส่งผลกระทบต่อทั้งระบบแรงงานของประเทศไทย คือ การเรียกรับเงินใต้โต๊ะหรือส่วย จากผู้ที่เกี่ยวข้องในการทำงานร่วมกันเป็นขบวนการ โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ในหน่วยงานภาครัฐ รวมถึงนายหน้าที่ผิดกฎหมาย เอเยนซี่หรือโบรกเกอร์เถื่อน ที่ส่งผลกระทบหนักต่อการจัดการปัญหาแรงงานในระบบใหญ่

สำหรับปัญหาที่ผ่านมาเริ่มต้นจากการจัดการด้านความต้องการแรงงานที่ขาดแคลนจากอุตสาหกรรมต่างๆอาทิ ประมง กิจการแปรรูปอาหารสัตว์ ซึ่งเป็นกลุ่มอาชีพที่คนไทยไม่นิยมทำงาน จึงถือเป็นการเปิดช่องให้มีขบวนการนำเข้าแรงงานโดยผิดกฎหมาย เข้ามาในประเทศ


จนกระทั่งเกิดการเรียกรับเงินกันเป็นลำดับต่อเนื่อง ตั้งแต่บริษัทจัดหางานที่ติดต่อไปยังนายหน้าต่างด้าว เพื่อจัดหาแรงงานที่ผิดกฎหมาย โดยมีการหักค่าหัวคิวมูลค่าสูงจากแรงงานพร้อมกับอัตราดอกเบี้ย ซึ่งเป็นประเด็นที่เปิดช่องให้มีการกดขี่แรงงานเช่นเดียวกันกับการค้ามนุษย์

การจัดการปัญหาแรงงานที่ผ่านมาไม่สามารถเข้าไปจัดการแรงงานที่รับจัดหาแรงงานเข้ามาเป็นทอดๆ ได้ เพราะมีขบวนการที่เกี่ยวข้อง 4-5 ขั้นตอน กว่าจะถึงผู้ประกอบการ จนนำไปสู่แรงงานถูกหลอกและยึดพาสปอร์ต แม้มีการเปิดให้ขึ้นทะเบียนไปแล้ว แต่ก็เป็นเพียงระยะสั้น ตราบใดที่ความต้องการแรงงานยังอยู่ ก็ไม่สามารถจัดการได้

ดังนั้น จึงต้องมีการเปิดให้ขึ้นทะเบียนอย่างเป็นระบบ ประเด็นหลักที่ต่างประเทศจับตามองการแก้ไขปัญหาแรงงานของไทย คือ นายหน้าสัญชาติเดียวกันกับต่างด้าวที่ดึงแรงงานเข้ามา

อย่างไรก็ตาม เมื่อคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้เข้ามาบริหารประเทศ และได้เข้ามาลงลึกถึงการจัดการแรงงานให้เป็นระบบตามแผนโรดแมปที่วางไว้ ถือว่าเป็นการจัดการที่ถูกทิศทาง เมื่อมีการลงลึกนำอำนาจทางกฎหมายเข้าไปบังคับใช้อย่างจริงจัง โดยเฉพาะระบบแรงงานใต้ดิน ระบบเรียกรับสินบน (ส่วย) ที่ผ่านมามีกฎหมายและการจัดการไว้ดี แต่ไม่มีคนปฏิบัติตาม เนื่องจากไม่มีอำนาจพิเศษเข้ามาบังคับใช้อย่างจริงจัง โดยเฉพาะการกวดขันในด้านการจัดการระบบใต้ดินหรือระบบใต้โต๊ะ หากไม่มีการเสียเงินให้กับสิ่งเหล่านี้ ทั้งผู้ประกอบการ นายจ้าง รวมถึงแรงงาน ก็จะได้รับความคุ้มครองที่ดีขึ้น เพราะไม่มีต้นทุนแฝงเหล่านี้

โจทย์สำคัญในปัจจุบัน คือ การดูแลให้ผู้ว่าราชการจังหวัดในแต่ละจังหวัด เปิดโอกาสให้แรงงานเข้ามาขึ้นทะเบียนให้ครบทุกคน ดังนั้น ควรขยายเวลาการขึ้นทะเบียนออกไปอีก เพื่อให้แรงงานเข้ามาอยู่ในระบบจะได้สะดวกในการบริหารจัดการ หากสามารถพลิกวิกฤตที่เกิดขึ้นให้เป็นโอกาสเข้าไปสางปัญหา เรื่องของแรงงานคงไม่ต้องเป็นก้างชิ้นใหญ่ของประเทศจนถูกลดอันดับการจัดการปัญหาการค้ามนุษย์


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : พลิกวิกฤตเป็นโอกาส สางปม แรงงาน

view