สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

แบงก์ชาติ กับตำแหน่งกองหลัง

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
ศรัณย์ กิจวศิน



ในวันพรุ่งนี้ (17 ก.ย.) คณะกรรมการนโยบายการเงิน หรือ กนง. จะมีการประชุมร่วมกัน โดยการประชุมครั้งนี้

นับเป็นครั้งที่ 6 ในรอบปี เพื่อพิจารณาถึงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่เหมาะสมกับเศรษฐกิจไทย

จากการสำรวจความเห็นของนักเศรษฐศาสตร์ หลายคนยังมองไปทางเดียวกันว่า กนง. น่าจะ “คง” อัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 2% เช่นเดิม

สาเหตุที่นักเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่มองเช่นนั้น ส่วนหนึ่งเป็นเพราะที่ผ่านมา ธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ “แบงก์ชาติ” ได้ส่งสัญญาณความถี่สูงออกมาเป็นระยะว่า อัตรา “ดอกเบี้ยนโยบาย” ในปัจจุบัน ยังเป็นระดับที่ “ผ่อนคลาย” เอื้อต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ แม้ว่าการฟื้นตัวในช่วงที่ผ่านมาจะต่ำกว่าที่หลายฝ่ายเคยคาดการณ์ไว้บ้างก็ตาม

การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย แม้จะค่อนไปในทาง “จำกัด” แต่แนวโน้มระยะต่อไปถือว่ามีสัญญาณการฟื้นตัวที่ดี โดยเฉพาะหลังจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) ชุดใหม่ ได้แถลงนโยบายเศรษฐกิจต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ทำให้ภาพเศรษฐกิจไทยระยะข้างหน้ามีความชัดเจนขึ้น ดังนั้นความจำเป็นที่ กนง. จะ “ลด” ดอกเบี้ยเพื่อ “กระตุ้น” เศรษฐกิจจึงน้อยลงตามไปด้วย

นอกจากนี้ถ้าได้ฟัง ผู้ว่าการแบงก์ชาติ “ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล” พูดในเวที “ไทยแลนด์โฟกัส” ช่วงปลายเดือนส.ค.ที่ผ่านมา ยิ่งชัดเจนว่า “หมดเวลา” แล้ว สำหรับ “ดอกเบี้ยขาลง”

ดร.ประสาร เปรียบเทียบการทำงานของ “แบงก์ชาติ” กับการเล่น “ฟุตบอล” ว่า ถึงเวลาแล้วที่แบงก์ชาติจะกลับมาเล่นในตำแหน่งเดิม คือ “กองหลัง” โดยทำหน้าที่รักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจ และปล่อยให้ “นโยบายการคลัง” รับบทบาท “กองหน้า” ทำหน้าที่กระตุ้นเศรษฐกิจแทน

“ในฐานะกองหลังชัดเจนว่า เราสามารถเห็นสนามแข่งทั้งสนามได้ และสามารถเลือกเส้นทางที่จะสนับสนุน ป้องกันทีมของตัวเองได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งตอนนี้รัฐบาลกลับมาอยู่ในสถานะที่เป็นผู้กำหนดเกมการเล่น เพื่อช่วยเหลือภาคเอกชนให้ไปถึงเป้าหมายสร้างศักยภาพการเติบโตให้ประเทศได้สำเร็จ”

ข้อความจาก “ดร.ประสาร” ที่ส่งออกมา ชัดยิ่งกว่าชัดว่า ความจำเป็นที่จะลดดอกเบี้ยนโยบายลงไปมากกว่านี้คงไม่มีแล้ว ..คำถามที่สำคัญจากนี้จึงอยู่ที่ เมื่อไหร่ถือเป็นเวลาอันเหมาะสมในการปรับ “ขึ้น” ดอกเบี้ยนโยบาย

จริงอยู่แม้ความจำเป็นในการลดดอกเบี้ยมากกว่านี้ยังไม่มี แต่การจะปรับ “ขึ้น” ดอกเบี้ย ณ เวลาเช่นนี้ ก็ต้องระมัดระวังเช่นกัน ..เพราะอย่าลืมว่า เศรษฐกิจไทยในช่วงที่ผ่านมา ถูกขับเคลื่อนด้วย “หนี้” ทำให้เวลานี้ “หนี้ภาคเอกชน” โป่งพองอย่างมาก

ตรงนี้จึงเป็น “หน้าที่หลัก” ของ “กองหลัง” อย่างแบงก์ชาติ ซึ่งต้องคอยเฝ้าระวัง คอยบาลานซ์สมดุลเศรษฐกิจของประเทศ รักษาเสถียรภาพทั้งด้านเศรษฐกิจและการเงิน

แม้ที่ผ่านมา “แบงก์ชาติ” จะทำหน้าที่นี้ได้อย่างดี จนได้รับคำชมจากต่างประเทศ แต่ความท้าทายในอนาคตยังมีอยู่อีกมาก โดยเฉพาะในยามนี้ที่ การดำเนินนโยบายการเงินของประเทศเศรษฐกิจใหญ่ทั่วโลก กำลังแตกออกเป็น 2 ฟากฝั่งอย่างชัดเจน เสถียรภาพเศรษฐกิจภายในประเทศจึงเป็นเรื่องสำคัญ

แต่ประเด็นที่สำคัญกว่าการทำหน้าที่ “กองหลัง” ของแบงก์ชาติ คือ การเล่นอย่างเป็น “ทีมเวิร์ก” เพราะแม้เราจะมีกองหลังที่เก่ง แต่หากไม่สามารถเล่นเข้าขากับกองหน้าได้ ก็คงไม่ทำให้ทีมแข็งแกร่งขึ้น ..เวลานี้ทุกคนจึงตั้งความหวังเอาไว้ว่า กองหน้าชุดใหม่ที่ลงสนามมา จะเล่นเข้าขาอย่างดีกับกองหลังอย่างแบงก์ชาติ และทำให้ “ทีม” ที่ชื่อว่า “ประเทศไทย” แข็งแกร่งขึ้นซะที!


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : แบงก์ชาติ ตำแหน่งกองหลัง

view