สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ดร.สังศิต เทียบชั้น รถไฟรางคู่ - ไฮสปีดเทรน

จากประชาชาติธุรกิจ

หนึ่ง ในนโยบายเมกกะโปรเจ็กต์ของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่มีเวลาเฉพาะกิจแค่ 1 ปี คือเรื่องการทำรถไฟรางคู่ เป็นโครงการที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) อนุมัติให้กระทรวงคมนาคมไปศึกษาพัฒนาโครงการรถไฟรางคู่ระบบรางขนาดมาตรฐาน 1.435 เมตร ที่เรียกว่า "แสตนดาร์ดเกจ"ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า วิ่งด้วยความเร็ว 160 กิโลเมตรต่อชั่วโมง แทนโครงการมหาโปรเจ็กต์ ของรัฐบาลพรรคเพื่อไทย ซึ่งล่มไปเพราะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญตีตก พ.ร.บ.เงินกู้ 2 ล้านล้าน ที่ใช้เป็นต้นทางของโครงการ

พลันที่ไอเดีย โปรเจ็กต์รถไฟรางคู่ของ คสช.ถูกเปิดเผยสู่สาธารณะ กลับมีเสียงเปรียบเทียบความคุ้มค่า-คุ้มทุน ระหว่างเปลี่ยนรถไฟธรรมดาวิ่งบนรางขนาด 1 เมตร มาเป็นราง 1.435 เมตร กับรถไฟไฮสปีดเทรนในโครงการ 2 ล้านล้าน ว่าสิ่งไหนเหมาะสม และคุ้มค่ามากกว่ากัน

ในมุม "ดร.สังศิต พิริยะรังสรรค์" คณบดีวิทยาลัยนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต เห็นว่า ไอเดียรถไฟรางคู่ของ คสช.สามารถทดแทนไฮสปีดเทรนได้ไม่มีปัญหา และยังคุ้มค่ากว่ารถไฟความเร็วสูง

"ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีรายได้ปานกลาง ถ้าไปใช้ไฮสปีดเทรนไม่คุ้ม ต้น ทุนมันแพง คนขึ้นไม่ได้มาก แต่รถไฟที่ คสช.จะทำมันวิ่งขนาดปานกลาง 150-160 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ค่าโดยสารไม่แพงและคนขึ้นได้ ถ้าเทียบกับรถไฟเก่ารางขนาด 1 เมตร และเป็นรางเดี่ยวด้วยจะวิ่งได้ประมาณ 30-50 กิโลเมตรต่อชั่วโมงเท่านั้น แต่นี่มันเร็วขึ้นประมาณ 5 เท่า ผมคิดว่าคนพอใจแล้ว ไว้อนาคตเวลาที่ประเทศเจริญรุ่งเรืองขึ้น รายได้มากขึ้น ค่อยเปลี่ยนเป็นไฮสปีดเทรนก็ไม่สายหรอก เพราะขนาดรางมันเหมือนกัน ผมคิดว่าใช้ความเร็วปานกลางดีกว่าสำหรับประเทศที่มีรายได้แบบคนไทย"

"มันเหมือนรถเบนซ์กับโตโยต้า ถ้าให้เลือกคนมีตังค์ก็ซื้อเบนซ์กันทั้งนั้น แต่เรามีรายได้คนส่วนใหญ่แค่นี้เราใช้รถญี่ปุ่นก่อนแล้วกัน เวลามีตังค์ค่อยไปใช้รถยุโรป หรือเทียบกับนาฬิการะหว่างโรเล็กซ์กับนาฬิกาของญี่ปุ่น มันเดินเวลาไม่ต่างกันหรอก เพียงแต่อีกเรือนหนึ่ง 5 แสน อีกเรือนหนึ่งแค่หมื่นเดียว แค่มันทำให้ดูมีคลาสหน่อย"

ดังนั้น เมื่อ คสช.อนุมัติโครงการนี้ "ดร.สังศิต" จึงเห็นด้วย และชมว่าเป็นโครงการที่ดีเพราะทำให้ไทยได้ประโยชน์ "การทำเรื่องรถไฟรางคู่ โดยใช้ราง 1.435 เมตร ที่จะต่อจากจีนลงมาถึงเชียงรายลงมาถึงแหลมฉบัง อีกเส้นต่อจากจีน มาหลวงพระบาง ออกหนองคาย และมาแหลมฉบัง 2 เส้นนี้ สำคัญต่อประเทศไทย เพราะจีนก็จะส่งสินค้าออกมาลงที่นี่แทนการส่งสินค้าทางเรือวิ่งอ้อมสิงคโปร์ นโยบายนี้ถ้าทำได้เมื่อไหร่สิงคโปร์จะได้รับผลกระทบเยอะ เพราะจีนทำเรื่องการส่งออกมีกำไรจากการส่งออกมาก"

"พอ รถไฟขนาดราง 1.435 เมตร มันเชื่อมต่อกันไทยจะได้ประโยชน์มโหฬารเลย มันจะทำให้ต้องมีการขยายท่าเรือ เกิดการจ้างงาน รวมทั้งนักท่องเที่ยวจากจีนไหลลงมาเที่ยวที่ภาคเหนือ และอีกเส้นที่รัฐบาลจะเชื่อมไปยังมาเลเซีย สิงคโปร์ ก็สำคัญจะทำให้นักท่องเที่ยวไหลขึ้นมาทางภาคใต้ สิ่งนี้จะเป็นยุทธศาสตร์ที่สำคัญของไทยในระยะยาว และผมคิดว่าเป็นเรื่องที่ควรทำ"

เขาย้อนภาพอดีตไปถึงต้นเหตุที่ไทยใช้รางขนาด 1 เมตร ว่า "มันเกิดจากตอนที่รัชกาลที่ 5 เอาวิศวกรจากเยอรมันมาวางรางรถไฟ วางไว้คือ 1.435 เมตร แบบเดียวกับที่ใช้ทั้งยุโรป และอังกฤษ แต่เนื่องจากอังกฤษเป็นเจ้าอาณานิคมของอินเดีย มลายู อีกหลายประเทศ ก็บังคับให้อาณานิคมสร้างรางรถไฟขนาด 1 เมตร รวมทั้งบังคับรัฐบาลไทยให้เหลือ 1 เมตร ทำให้เรามีปัญหารถไฟวิ่งได้ไม่เร็ว การบรรทุกของไม่ได้มากเหมือน 1.435 เมตร"

"เมื่อมาเลเซียและอินเดีย ได้เอกราช เขาก็ยกเลิกรางขนาด 1 เมตรหมด เปลี่ยนเป็นขนาด 1.435 เมตร มีแต่ของไทยยังไม่ได้เปลี่ยนเลย และเราก็ 1 เมตร เวลาไปซื้อหัวรถจักรก็ต้องสั่งทำพิเศษเพราะในโลกเขาไม่ค่อยใช้กัน เขาใช้ขนาด 1.435 เมตร ทั้งนั้นแหละ ดังนั้น การที่ คสช.เขาตัดสินใจสร้างทางรถไฟเชื่อมต่อกับจีน ลาว คิดว่าเป็นยุทธศาสตร์ที่ควรได้รับคำชื่นชม"

แต่ถึงที่สุดคนยังกังขา เรื่องการขนส่งโลจิสติกส์ว่าประสิทธิภาพของรถไฟรางคู่ มิอาจเทียบชั้นกับไฮสปีดเทรนได้ เขาแย้งทันทีว่า "แม้ความสามารถทางการขนส่งสินค้าจะไม่เท่า แต่ใช้ไฮสปีดเทรนต้นทุนสูงกว่า และความเร็วปานกลางมันก็ไม่ได้ช้าเท่าไหร่หรอก เพราะสมมติวิ่งได้ 150 กิโลเมตรต่อชั่วโมง จากเชียงใหม่มันก็ประมาณ 3-4 ชั่วโมงก็ถึงแล้ว แต่ไฮสปีดวิ่งได้ 300 กิโลเมตรต่อชั่วโมง แต่พอวิ่งจริง ๆ มันจะถึงเหรอ มันก็อาจจะ 200 ปลาย ๆ ถ้าเทียบวิ่งกับ 150 มันไม่ต่างกันเยอะหรอก แต่สำคัญคือค่าโดยสารมันถูกกว่ากันเยอะ"

"และทำให้เศรษฐกิจภูมิภาค เติบโตได้เหมือนกัน รถไฟไม่ว่าไฮสปีดหรือปานกลาง ไปที่ไหนมันก็กลายเป็นชุมชนใหม่ขึ้นมา ที่ดินก็มีราคา และการท่องเที่ยวจะดีขึ้น จะทำให้นักท่องเที่ยวขึ้นมาเยอะ โรงแรมที่พักจะตามมาเป็นแถว ดังนั้น รถไฟฟ้าความเร็วสูงเป็นประโยชน์จริงแต่อาจไม่คุ้มค่ามากนักสำหรับสถานการณ์ ปัจจุบัน แต่อนาคตอาจเป็นประโยชน์ แต่ถ้าเรามีเงินขนาดนี้ลงทุนแบบนี้จะเหมาะกับตังค์ในกระเป๋ามากกว่า"

ทรรศนะของ "ดร.ศังสิต" ที่สะท้อนออกมาเป็นอีกมุมหนึ่งต่อโครงการเมกะโปรเจ็กต์ภายใต้การกุมบังเหียนของรัฐบาลนายพล !


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : ดร.สังศิต เทียบชั้น รถไฟรางคู่ ไฮสปีดเทรน

view