สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ร่วมมือจัดสรรแรงงานรับ เออีซี

จากประชาชาติธุรกิจ

คอลัมน์ ช่วยกันคิด โดย ชมรมนักข่าวอาเซียน

สถานการณ์ปัญหาแรงงานไทย ดูจะเป็นเรื่องที่ยังต้องกล่าวถึงและจับตาดูกันต่อไป ซึ่งนอกจากเหตุที่ประเทศไทยถูกพิจารณาลดอันดับให้อยู่ใน Tier 3 ในรายงานสถานการณ์การค้ามนุษย์ประจำปี 2557 (TIP Report) ซึ่งเป็นระดับต่ำสุด เพราะมาตรฐานด้านแรงงานของไทยไม่สอดคล้องกับกฎหมาย TVPA ของสหรัฐ และยังไม่มีความก้าวหน้าอย่างมีนัยสำคัญในการแก้ปัญหาการค้ามนุษย์แล้ว

ขณะเดียวกัน รายงานสถานการณ์การใช้แรงงานเด็กในรูปแบบที่เลวร้าย (Worst Forms of Child Labor) ซึ่งเป็นรายงานประจำปีของกระทรวงแรงงานสหรัฐได้ระบุว่า มีสินค้าไทย 5 รายการที่ใช้แรงงานเด็ก และแรงงานบังคับในการผลิต คือ กุ้ง ปลา อ้อย น้ำตาล สิ่งทอ และสื่อลามก

ซึ่งหากในเดือนกันยายนนี้ กระทรวงแรงงานสหรัฐประกาศผลการพิจารณาสถานการณ์แรงงานในไทย และจัดให้ไทยอยู่ในอันดับที่แย่ลงจากปัจจุบัน ก็อาจมีผลให้หน่วยงานรัฐบาลของสหรัฐไม่นำเข้ากุ้ง และสิ่งทอจากไทยได้

ในภาครัฐเอง กระทรวงการต่างประเทศ และกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ พยายามอย่างยิ่งยวดในการชี้แจงทำความเข้าใจกับทางสหรัฐในเรื่องดังกล่าว แต่จะได้ผลหรือไม่ได้อย่างไรเป็นเรื่องที่รอลุ้นคำตอบในอนาคตอันใกล้

หากสำหรับในสายตาผู้ประกอบการแล้ว ปัญหาแรงงานนอกน่านน้ำไทย ต้องยอมรับว่า เป็นเรื่องที่เกินเส้นจัดการ ซึ่งความเห็นนี้มาจาก ดร.ผณิศวร ชำนาญเวช นายกกิตติคุณ สมาคมอาหารแช่เยือกแข็งไทย ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจากการนำเข้าแรงงานเพื่อป้อนให้กับภาคการผลิต ซึ่งเป็นผู้หนึ่งในการเข้าร่วมบรรยายปัญหา "วิกฤตแรงงานข้ามชาติ วิบากกรรมค้ามนุษย์อาเซียน" โดยให้ความเห็นว่า การลดอันดับประเทศไทยถือเป็นรายงานไม่สอดคล้องกับอุตสาหกรรมทั้งระบบ ที่มีการบริหารจัดการมาตลอด โดยเฉพาะอุตสาหกรรมแปรรูป ตั้งแต่กลางน้ำยันปลายน้ำ เพียงแต่สิ่งที่ควบคุมไม่ได้คือ "น่านน้ำ" ที่เป็นต้นทางการจัดการแสวงหาวัตถุดิบ ที่อยู่นอกเหนืออาณาเขตประเทศไทย เนื่องมาจากไทยเป็นทางผ่านของแรงงาน ดังนั้น ไทยและมาเลเซียจึงถูกจัดอันดับให้อยู่ระดับเดียวกัน

การจัดอันดับดังกล่าวเสี่ยงที่จะส่งผลกระทบ ต่อมูลค่าการส่งออกของไทยที่ทำรายได้เข้าประเทศหลายแสนล้านบาทเนื่องจากผู้บริโภคอาจจะต่อต้านสินค้า รวมถึงมีโอกาสส่งผลกระทบต่อสินค้ารายอื่นที่เกี่ยวข้องกับแรงงานด้วย อาทิ สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม เพราะเสมือนว่าประเทศไทยถูกกล่าวหา ในสายตาของต่างชาติ ว่าเป็นประเทศที่ไม่ดี มีการค้ามนุษย์ ทั้งที่อาจจะเป็นเพียงส่วนเล็กน้อยที่นอกเหนือการควบคุม

ความต้องการแรงงานเพื่อรองรับกับการเติบโตด้านการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ เป็นปัญหาท้าทายของทุก ๆ ประเทศในโลกที่ต้องเผชิญเมื่อมีสภาพการเติบโตทางเศรษฐกิจที่สูงขึ้น ประชากรในประเทศมีความเป็นอยู่ดีขึ้น เมื่อเป็นเช่นนี้คนในประเทศไม่ต้องการทำงานใช้แรงงาน ทำให้ต้องนำเข้าแรงงานจากประเทศข้างเคียง จึงเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดช่องว่างการค้ามนุษย์ที่เกิดขึ้นในทุกประเทศทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นเม็กซิโกที่อพยพไปทำงานในสหรัฐอเมริกา หรือชาวยุโรปตะวันออกที่เดินทางไปทำงานในยุโรปตะวันตก

มองจากมุมของผู้ประกอบการแล้ว ต่อให้บริหารจัดการวางแผนพัฒนาเศรษฐกิจเก่งมากอย่างไร แต่ไม่มีประเทศไหนวางแผนพัฒนาให้พอดีกับประเทศ เพราะหากเก่งเกินเศรษฐกิจดีก็ต้องมีคนลักลอบเข้ามาทำงาน ดังเช่นล่าสุดในแอฟริกาที่เกิดเหตุการณ์เรือล่ม เพราะชาวแอฟริกันยอมจ่ายเงินค่าหัวถึงหัวละ 1,000 ยูโร เพื่อลักลอบเข้าไปทำงานในต่างประเทศ

ปัญหาเรื่องแรงงานต้องยอมรับว่า แม้มีความพยายามจะดำเนินการแก้ปัญหามาโดยตลอด แต่เป็นประเด็นที่ไม่สามารถจัดการได้หมดทุกภาคส่วน ไม่ว่าภาคเอกชน หรือภาครัฐก็ดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาครัฐต้องอาศัยความร่วมมือในการบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง และมีบทลงโทษที่รุนแรง

สำหรับแนวทางการแก้ไขปัญหาระยะยาว ควรวางระบบบริหารจัดการให้เป็นระบบและปฏิบัติให้จริง เช่น ติดฉลากสินค้าที่บอกถึงแหล่งที่มาของกระบวนการผลิตให้ชัดเจน นอกจากนี้ ควรมีการเจรจาของหน่วยงานรัฐโดยตรงเกี่ยวกับการพัฒนาแรงงานกับประเทศต้นทาง เพื่อให้ทั้งต้นทางแรงงานและปลายทางนำเข้าแรงงาน สอดคล้องกันทั้งจำนวนและมาตรฐานการฝึกอบรมฝีมือแรงงาน พัฒนาทักษะที่ถูกต้องตรงความต้องการของผู้ประกอบการ

ส่วนในอนาคตควรมีการทำข้อตกลงร่วมกันในกลุ่มประเทศสมาชิกประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน เกี่ยวกับการพัฒนาฝีมือแรงงานให้สอดคล้องกับความต้องการในประเทศ เพราะบางประเทศมีพื้นที่น้อย ค่าครองชีพสูง จะเน้นไปที่การพัฒนาทักษะฝีมือแรงงานขั้นสูง หรือเทคโนโลยีขั้นสูง หรือบางประเทศเพิ่งเริ่มต้นพัฒนา มีพื้นที่ มีทรัพยากร และแรงงานพร้อม ก็เน้นไปที่ภาคการผลิตใช้แรงงานและทรัพยากรธรรมชาติ

ดังนั้น การแก้ปัญหาแรงงานจึงไม่ใช่การทำงานของหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่ง หรือของประเทศใดประเทศหนึ่ง แต่ต้องวางแผนร่วมกันอย่างเป็นระบบ และที่สำคัญไม่เฉพาะการได้แก้ปัญหาร่วมกัน แต่ยังได้เปิดโอกาสให้คนงานเข้ามาทำงานในประเทศพร้อมกับการได้รับการดูแลสวัสดิการถูกต้องตามหลักมนุษยธรรม


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : ร่วมมือ จัดสรรแรงงาน เออีซี

view