สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

3 กูรู ถอดสูตรความสำเร็จ การสร้างผู้นำที่ยั่งยืนในอนาคต

จากประชาชาติธุรกิจ

ปัจจัยแห่งความสำเร็จของการสร้างขีดความสามารถทางการแข่งขันในองค์กร จำเป็นต้องอาศัยศักยภาพของผู้นำองค์กรเป็นสำคัญ ดังนั้นการพัฒนาภาวะผู้นำอย่างมีคุณภาพ พร้อมรองรับการเปลี่ยนแปลง และตอบสนองต่อความต้องการของสังคมโลก จึงเป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนศักยภาพองค์กรให้เติบโตได้อย่างแข็งแรงและมั่นคง

สมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย หรือ TMA เล็งเห็นความสำคัญต่อการสร้างผู้นำในองค์กรให้ประสบความสำเร็จในระดับนานาประเทศ จึงจัดสัมมนา Thailand Competitiveness Conference ในหัวข้อ "Nurturing Global Leaders of the Future" เพื่อแลกเปลี่ยนสูตรความสำเร็จการสร้างภาวะผู้นำจากผู้นำ



สิ่งสำคัญคือการผลักดันให้ผู้นำสามารถพัฒนาขีดความสามารถไปสู่การแข่งขันระดับประเทศ ภูมิภาค และอาเซียน ได้อย่างประสบความสำเร็จ ซึ่งนี่ไม่ใช่เรื่องยากสำหรับ "ดร.ลักขณา ลีละยุทธโยธิน" กรรมการ บริษัท เซเรบอส (ประเทศไทย) จำกัด ที่เชื่อว่าการสร้างผู้นำที่ดีในอนาคตของเราจะต้องสร้างจากความสามารถและดีเอ็นเอของเซเรบอสเท่านั้น

"ดร.ลักขณา" เริ่มต้นเล่าถึงที่มาของการสร้างผู้นำในเซเรบอสว่า จากประสบการณ์ที่ผ่านมาของการดำรงตำแหน่งนี้ เห็นชัดเจนมากว่าผู้นำที่สามารถนำพาองค์กรไปสู่ความสำเร็จได้จะต้องเป็นนักบริหารงานและบริหารคนที่ดี

"เรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่สำหรับองค์กรที่จะทำอย่างไรให้บุคลากรทุกคนมีความสามารถพร้อมที่จะขับเคลื่อนไปสู่เป้าหมายที่วางไว้ได้ ซึ่งเซเรบอสมองภาพความสำเร็จองค์กรจากความสามารถของผู้นำเป็นหลัก ดังนั้นการพัฒนาทักษะผู้นำของเราจะต้องอยู่ภายใต้การจัดคอร์สฝึกอบรมที่เหมาะสมของผู้นำแต่ละระดับ"

"ในระดับผู้จัดการจะต้องผ่านการฝึกอบรมด้วยคอร์สสำหรับการบริหารงานตามสายงาน ส่วนระดับบริหารจะต้องถูกส่งไปฝึกอบรมที่สิงคโปร์ เพื่อเป็นการเปิดมุมมองและแลกเปลี่ยนความรู้ความสามารถในระดับผู้บริหารให้มีความรู้ความเชี่ยวชาญครอบคลุมทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็นการบริหารองค์กร การบริหารบุคลากร การวิเคราะห์การตลาดระดับประเทศและระดับภูมิภาค รวมถึงการสื่อสารระหว่างผู้บริหารและพนักงาน หากขาดทักษะใดทักษะหนึ่งจะชี้ขาดได้ว่าผู้นำมีความสามารถเพียงพอต่อการบริหารองค์กรหรือไม่"

ด้วยการสร้างผู้นำในแบบของตนเอง "ดร.ลักขณา" จึงเชื่อมั่นว่า "หากเราหมั่นพัฒนาคนอย่างไม่สิ้นสุดจะทำให้เกิดการสร้างคนที่มีคุณภาพได้อย่างที่องค์กรต้องการ"

"เพราะการเป็นผู้บริหารระดับสูงจะต้องประกอบด้วยคุณลักษณะและคุณสมบัติที่ครบถ้วน ซึ่งเซเรบอสได้ให้โอกาสและผลักดันบุคลากรให้พร้อมเป็นผู้นำด้วยตัวของเราเอง เพราะเรามองว่าผู้นำของเซเรบอสจะต้องเป็นคนที่เข้าใจธุรกิจภายใต้ทักษะที่องค์กรต้องการ ซึ่งอาจเรียกได้ว่านี่คือกลวิธีการสร้างดีเอ็นเอในแบบเซเรบอสที่สมบูรณ์ที่สุด"

ขณะที่อีกหนึ่งความสำเร็จเกิดจากการสร้างภาวะผู้นำที่เหมาะสมในแต่ละภูมิภาค โดยแยกสัดส่วนการบริหารงานในแต่ละภูมิภาคตามกลไกการขยายตัวของธุรกิจ ซึ่ง"เอสซีจี" ได้ถือเอาความท้าทายนี้เป็นมุมมองใหม่ของนักบริหารที่ต้องการขยายอาณาเขตธุรกิจอีกรูปแบบหนึ่ง

"รุ่งโรจน์ รังสิโยภาส" รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ เอสซีจี และกรรมการผู้จัดการใหญ่ เอสซีจี เปเปอร์ กล่าวถึงความสำคัญต่อมุมมองการสร้างผู้นำในแบบเอสซีจีว่า เพราะผู้นำคือคนที่เข้าใจในตลาดของธุรกิจและบุคลากรในพื้นที่นั้น ๆ ได้ดีที่สุด ดังนั้นการสร้างผู้นำจากคนในภูมิภาคจึงน่าจะเหมาะสมและสามารถทำให้ธุรกิจเดินหน้าต่อไปได้ดีกว่า

"ผมคิดว่าจากมุมมองนี้สะท้อนได้ว่า หากเราได้ขยายธุรกิจไปในประเทศไหน เราจะต้องเป็นหนึ่งในพลเมืองของประเทศนั้น เราจึงต้องยอมรับผู้นำจากประเทศนั้น ๆ ด้วยเช่นกัน แต่กระนั้นการสร้างผู้นำที่เหมาะสมในแบบเอสซีจี ไม่ว่าจะมาจากชนชาติใดจะต้องประกอบด้วยคุณสมบัติ 2 ด้าน คือต้องเป็นทั้งคนเก่งและคนดีในเวลาเดียวกัน"

"เพราะการจะทำให้องค์กรประสบความสำเร็จ จะต้องอาศัยคนเก่งทั้งความรู้และความสามารถในการวางแผนกลยุทธ์ เพื่อเสริมสร้างขีดความสามารถที่แข็งแกร่งให้กับองค์กร ในขณะเดียวกันผู้นำที่ดีก็จะช่วยนำองค์กรไปสู่การขับเคลื่อนองค์กรได้อย่างยั่งยืนในระยะยาว ซึ่งเอสซีจีได้ให้เรื่องนี้เป็นหนึ่งในหลักสูตรการสร้างผู้นำที่ดีในอนาคต"

"ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา เราได้ปรับหลักสูตรการสร้างผู้นำในอนาคตด้วย 3 โปรแกรม ประกอบด้วย 1.การฝึกอบรมในคลาส 10% 2.Coaching รายบุคคล 20% 3.การฝึกปฏิบัติจริง 70% ซึ่งผลลัพธ์ที่ได้คือองค์กรจะได้ผู้นำที่มีความรู้ความสามารถที่พร้อมปฏิบัติงานได้จริง อีกทั้งยังเป็นการเตรียมความพร้อมสู่ภาวะการเปลี่ยนแปลงของตลาดให้กับผู้นำได้อีกทางหนึ่ง"

"รุ่งโรจน์" บอกอีกว่า สำหรับการพัฒนาผู้นำที่เราพยายามออกแบบมาให้สอดคล้องต่อความเปลี่ยนแปลงของตลาด เป็นเสมือนหนึ่งการเตรียมพร้อมและคัดกรองผู้นำที่เหมาะสมต่อการบริหารงานของเอสซีจี

"เพราะเราเชื่อมั่นในคุณค่าและศักยภาพของบุคลากร สมดังเจตนารมณ์ที่ว่า เราจะเป็นองค์กรที่ได้รับการยกย่องในฐานะเป็นองค์กรแห่งนวัตกรรมที่น่าร่วมงานด้วย และเป็นแบบอย่างด้านบรรษัทภิบาลและการพัฒนาอย่างยั่งยืน"

เช่นเดียวกับ "อัศวิน เตชะเจริญวิกุล" ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ จำกัด (มหาชน) ที่พร้อมเปิดรับและให้โอกาสผู้นำที่มาจากท้องถิ่น เพียงเพราะเชื่อมั่นว่า การเป็นผู้นำที่ดีจะต้องเกิดจากศักยภาพที่พร้อมเดินหน้าให้ธุรกิจเติบโตและประสบความสำเร็จ

"อัศวิน" บอกว่า การสร้างผู้นำในยุคของการเปิดกว้างอย่างเสรี แน่นอนว่าต้องเกิดความซับซ้อนในเรื่องภาษาและเชื้อชาติ แต่ในมุมของผมกลับมองว่า นี่จะกลายเป็นความท้าทายที่จะทำให้ผู้นำไทยตื่นตัวมากยิ่งขึ้น

"ปัจจุบันเรามีพนักงานคนไทยทั้งหมด 10,000 คน รองรับการทำงานในประเทศไทย แต่ในปีหน้าของการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน เราจึงมีแนวคิดรับพนักงานเวียดนามเข้ามาในระบบถึง 6,000 คน นั่นหมายความว่าสัดส่วนพนักงานไทยจะลดลงเหลือเพียง 40% ซึ่งนี่จะส่งผลต่อความตื่นตัวที่เกิดขึ้นในองค์กรอย่างแน่นอน"

"รวมถึงมีการเปิดกว้างให้ผู้บริหารระดับสูงเป็นคนสัญชาติใดก็ได้ในอาเซียนที่มีศักยภาพพร้อมบริหารองค์กร ซึ่งความหลากหลายนี้เองจะเป็นการสร้างมุมมองการบริหารงานที่สอดคล้องต่อความเปลี่ยนแปลงทางด้านเศรษฐกิจ สังคม และประชาคมในอีกแบบหนึ่ง"

หากมองว่าวิธีนี้คนไทยจะเสียโอกาสหรือไม่นั้น "อัศวิน" บอกว่า สำหรับผมคิดว่านี่จะเป็นการกระตุ้นให้เราเกิดการพัฒนาไปสู่การเป็นผู้นำที่ทุกคนยอมรับในระดับภูมิภาค

"ผมเชื่อเสมอว่าการสร้างผู้นำ คือการสร้างแรงบันดาลใจในการทำงานของพนักงานในองค์กร"

เพราะสุดท้ายแล้ว ธุรกิจที่ประสบความสำเร็จได้อย่างสง่างาม นั่นหมายถึงตัวชี้วัดความสำเร็จจากผู้นำในองค์กรเป็นสำคัญ


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : 3 กูรู ถอดสูตรความสำเร็จ การสร้างผู้นำที่ยั่งยืน ในอนาคต

view