สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

พาธุรกิจเอสเอ็มอีผ่านมรสุมเศรษฐกิจ

พาธุรกิจเอสเอ็มอีผ่านมรสุมเศรษฐกิจ

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์




ผลพวงจากการที่เศรษฐกิจไทยชะลอตัวดูท่าจะอยู่กับเราไปอีกสักพัก ข่าวคราวที่ออกมาส่วนใหญ่ฟังแล้วชวนให้ใจหาย

มีแต่ข่าวคนตกงาน กิจการปิดตัว นักวิเคราะห์หลายสำนักทั้งไทยและเทศมองตรงกันว่า กว่าฟ้าจะเปิดอีกครั้ง อย่างน้อยคงต้องรอให้ถึงไตรมาสสุดท้ายของปีนี้หรือไม่ก็ยาวไปถึงกลางปีหน้า

ช่วงที่ทุกคนรัดเข็มขัดแบบนี้ การประคับประคองให้ธุรกิจของเราผ่านมรสุมไปได้นับเป็นเรื่องท้าทายเป็นอย่างยิ่งสำหรับผู้ประกอบการเอสเอ็มอี บางคนผ่านไปได้แบบเส้นยาแดงผ่าแปด บางคนผ่านไปได้แบบไม่บอบช้ำนัก มีหลายคนเหมือนกันที่สามารถมองข้ามช็อต พลิกวิกฤติให้เป็นโอกาส ฉกฉวยจังหวะที่คนอื่นเขามัวแต่ยุ่งอยู่กับการเอาตัวรอดแย่งเอาส่วนแบ่งตลาดไปครอง ทำให้ธุรกิจของตัวเองเข้มแข็งขึ้นกว่าเดิม

บทเรียนจากการศึกษาเรื่องเอสเอ็มอีที่สามารถรับมือกับภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวได้ในช่วงหนึ่งปีที่ผ่านมา พบว่า ความสามารถในการพาธุรกิจผ่านมรสุม ขึ้นอยู่กับความสามารถในการรักษาสภาพคล่องโดยไม่ลดทอนศักยภาพในการแข่งขัน สามารถรักษาลูกค้าหลักเอาไว้ได้ ซึ่งทั้งหมดนี้ ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจว่าตรงไหนที่ต้องลด อะไรที่ต้องเลิก แล้วจะต้องเสริมที่ตรงไหน ถึงจะคุ้มกับเงินที่ลงทุนไป โดยไม่ต้องควักเงินเพิ่มมากนัก

โดยปกติแล้ว เวลาที่ยอดขายตกลงแบบนี้ กลยุทธ์สูตรสำเร็จคือการลด แลก แจก แถม ใครที่พอมีเงินหน่อยอาจตัดใจโหมโฆษณา หากมองโดยผิวเผินแล้วเป็นเรื่องสมเหตุสมผล เพราะการทำแบบนี้อาจจะทำให้ยอดขายกระเตื้องขึ้นบ้าง แต่เมื่อไหร่ที่แรงจูงใจเหล่านี้หมดไป ยอดขายก็ตกฮวบลงมาเหมือน แสดงว่ากลยุทธ์นี้เป็นแค่ยาโด้ป ไม่ใช่ยารักษาอย่างแท้จริง

ธุรกิจไม่ได้อยู่ได้ด้วยยอดขาย ธุรกิจอยู่ได้ด้วยกำไร การประคองกิจการให้ผ่านวิกฤติจึงไม่ควรตั้งเป้าไว้ว่าทำอย่างไรถึงจะรักษายอดขายเอาไว้ได้ โจทย์ที่แท้จริงคือ ทำอย่างไรจึงจะสามารถรักษากำไรรวมไม่ให้ตกลงไปจนส่งผลต่อกิจการต่างหากกลยุทธ์ในการพาธุรกิจผ่านมรสุมเศรษฐกิจก็ควรตั้งอยู่บนพื้นฐานการคิดแบบนี้ด้วยเช่นกัน

โดยภาพรวมแล้ว ธุรกิจส่วนใหญ่มักมีสินค้ามากกว่าหนึ่งตัวที่ใช้แบรนด์เดียวกัน เช่น กิจการเครื่องแกงสำเร็จรูป เครื่องแกงสารพัดแบบออกมาวางขาย ที่เห็นกันบ่อยๆ ก็เป็นพวก เครื่องแกงพะแนง เครื่องแกงส้ม เครื่องแกงเขียวหวาน เครื่องแกงเลียง และอาจมีพวกน้ำพริกแห้งน้ำพริกเปียกพ่วงท้ายมาด้วย

ช่วงเศรษฐกิจขาลง ยอดขายของเครื่องแกงทุกชนิดลดลง แต่มักจะลดลงมากน้อยไม่เท่ากัน บางอย่างลดนิดเดียว เคยขายสามวันหมด ตอนนี้อาจต้องใช้เวลาเพิ่มอีกนิดเป็นสี่วันถึงจะขายหมด บางอย่างค้างอยู่บนหิ้งเป็นเดือนแทบไม่มีคนซื้อเลย หากคิดถึงการลดต้นทุนเพียงอย่างเดียว เจ้าของกิจการอาจตัดสินใจเลิกผลิตเครื่องแกงที่ขายไม่ดีไปชั่วคราว พอของหมดชั้น มีออร์เดอร์เข้ามาค่อยผลิตใหม่ หากไม่มีใครสั่งอีก ก็เลยตามเลยปล่อยให้สินค้านั้นตายไปจากตลาด

ลองมองในมุมของลูกค้าบ้าง จากเดิมที่เคยเห็นเครื่องแกงยี่ห้อนี้วางขายตั้งหลายอย่าง วันดีคืนดีเหลือเครื่องแกงแค่สองสามอย่าง ลูกค้าที่เคยใช้ของเราเป็นประจำอาจไม่รู้สึกอะไรนัก แต่สำหรับลูกค้าที่ไม่เคยซื้อของเราไปใช้มาก่อน อาจคิดไปว่า สินค้าของเราไม่ดีจริง เลยขายไม่ค่อยได้ เหลือสินค้าแค่ไม่กี่อย่าง

นอกจากนี้ การลดประเภทของสินค้าอาจทำให้เราสูญเสียพื้นที่ในชั้นวางขายสินค้าให้กับคู่แข่ง โดยเฉพาะสินค้าที่วางขายตามห้างหรือร้านสะดวกซื้อ ซึ่งมักจะจัดสินค้าไว้เป็นหมวดหมู่ การเสียพื้นที่แบบนี้ จะทำให้ภาพลักษณ์ของสินค้าเราดูด้อยลงไปถนัดใจ แถมพอถึงตอนเศรษฐกิจฟื้นตัว ดีไม่ดี ลูกค้าเราเปลี่ยนใจไปใช้ของคนอื่น ก็จะกลายเป็นการเสียพื้นที่แบบถาวร

ดังนั้น การลดต้นทุนในเชิงกลยุทธ์จึงไม่ใช่การเลิกผลิตสินค้าที่ขายไม่ดี แต่เป็นการลดจำนวนการผลิตสินค้าเหล่านั้น ให้น้อยลงเพื่อเอาไว้เป็นไม้ประดับ ยกเว้นสินค้าที่เข็นไม่ขึ้นจริงๆ

อีกทางเลือกหนึ่งที่จะช่วยลดต้นทุนของสินค้าคือการเลือกว่าจะลดปริมาณสินค้าหรือลดคุณภาพของสินค้า หรือลดทั้งคู่

ก่อนจะตัดสินใจว่าจะเลือกแบบไหน เราต้องดูก่อนว่าการลดอันไหนจะช่วยลดต้นทุนได้มากกว่ากัน โดยไม่ทำให้ลูกค้ารู้สึกว่าเราเอาเปรียบเขาจนเกินควร ยกตัวอย่างเช่น กิจการร้านข้าวแกง เดิมเคยมีน้ำพริกกับผักฟรีให้ลูกค้าทานในร้าน ตอนนี้อาจจะต้องลดขนาดถ้วยน้ำพริก ลดจำนวนและปริมาณของผักให้น้อยลงกว่าเดิม ซึ่งการทำแบบนี้ไม่ได้ทำให้ลูกค้ารู้สึกว่าถูกเอาเปรียบ สามารถเข้าใจได้ หากเลือกจะลดต้นทุนด้วยการลดคุณภาพและปริมาณวัตถุดิบที่ใช้ทำอาหาร จนรสชาติเปลี่ยนไปอย่างเห็นได้ชัด ลูกค้าจะรู้สึกว่าซื้อไปแล้วไม่คุ้ม

ธุรกิจโรงแรมระดับสองสามดาวที่เดิมเคยมีแต่ห้องแอร์ แขกเข้าพักแล้วเปิดแอร์ทิ้งไว้ตลอดเวลาจนค่าไฟพุ่งไม่หยุด อาจปรับบางห้องให้เป็นห้องพัดลมเพิ่มขึ้น แล้วคิดค่าห้องถูกหน่อย เพื่อเป็นทางเลือกให้กับลูกค้า นอกจากจะรักษาจำนวนลูกค้าไว้ได้ ต้นทุนเฉลี่ยในแต่ละวันก็จะลดลงด้วย

ตัวอย่างของกิจการที่ไม่ควรลดต้นทุนด้วยการลดปริมาณและคุณภาพ คือ ร้านขนมขบเคี้ยวของฝากสำหรับนักท่องเที่ยว ของฝากเป็นมากกว่าของขบเคี้ยวกินเล่นเวลาว่าง ของฝากเป็นหน้าเป็นตาของคนซื้อไปฝากด้วย หากของฝากห่อนิดเดียว แถมกินไม่อร่อยอีก เอาไปฝากใคร เขาก็ไม่ประทับใจ ถ้าลูกค้าเสียหน้า คิดหรือว่าเขาจะไม่บอกต่อ แล้วต่อไปจะมีใครมาซื้อของเราอีก สู้ขึ้นราคาไปสักนิดให้พอมีกำไรยังจะดีเสียกว่าอีก

ธุรกิจแต่ละประเภทมีจุดแข็งไม่เหมือนกัน ผู้ประกอบการควรรู้ว่าอะไรคือจุดแข็งของแบรนด์ที่ควรส่งเสริมและรักษาเอาไว้ อะไรคือสิ่งที่พอจะลดลงไปได้โดยไม่กระทบกับภาพรวมของแบรนด์มากนัก

มรสุมเศรษฐกิจคราวนี้คือบทพิสูจน์สำหรับผู้ประกอบการ การประคองตัวไปให้รอดก็นับว่าท้าทายอยู่แล้ว แต่การจะพลิกวิกฤติให้เป็นโอกาส ฉวยเอาจังหวะที่คู่แข่งกำลังวุ่นกับการเอาตัวรอด ไม่มีเวลาดูแลธุรกิจของตัวเองอย่างเต็มที่ ประคับประคองและสร้างธุรกิจของเราให้เข้มแข็งขึ้น พอมรสุมผ่านไป เราก็ทิ้งคู่แข่งไปหลายขุมแล้ว


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : ธุรกิจเอสเอ็มอี ผ่านมรสุมเศรษฐกิจ

view