สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

อัดแสนล้านกระตุ้นรากหญ้า

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์

คลังเผยอุดหนุนต้นทุนผลิต-ช่วยผู้มีรายได้น้อย "ปรีดิยาธร"เผยเร่งดันภาษีมรดก เกิน50ล้านเสีย10%ทั้งผู้ให้-ผู้รับ

รัฐบาลอัดฉีดแสนล้าน ช่วยเหลือเกษตรกร "ลดต้นทุนผลิต-โอนเงินเข้าบัญชีผู้มีรายได้น้อย" คาดเริ่ม 1 ต.ค.นี้ พร้อมเร่งปฏิรูประบบภาษี ประเมินภาษี"ภาษีการให้และการรับมรดก"ผ่านสนช. "ปรีดิยาธร"ระบุคนรวยเต็มใจเสียภาษี ขณะ"บัณฑูร"หนุน ชี้ทุกสังคมมีกฎหมาย สร้างความเป็นธรรม

รัฐบาลเตรียมมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในระดับรากหญ้า เพื่อกระตุ้นกำลังซื้อภายในประเทศ หลังจากได้เร่งการลงทุนภาครัฐและเอกชน ด้วยการแก้ปัญหาการเบิกจ่ายและเร่งจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2558 รวมทั้งเร่งอนุมัติโครงการขอส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) และใบอนุญาตสร้างโรงงาน

ในช่วงที่ผ่านมา การบริโภคในประเทศปรับตัวดีขึ้นตามความเชื่อมั่น และเป็นไปในทิศทางเดียวกับการใช้จ่ายภาครัฐและเอกชน รวมถึงการท่องเที่ยว แต่ยังไม่มากพอจะทำให้เศรษฐกิจฟื้นตัวได้

นายสมหมาย ภาษี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่าในงบประมาณปี 2558 ที่จะเริ่มวันที่ 1 ต.ค.นี้ รัฐบาลเตรียมเม็ดเงินประมาณ 1 แสนล้านบาท ในการดูแลเศรษฐกิจระดับรากหญ้าผ่านหลากหลายมาตรการ เน้นหลักไปที่กลุ่มเกษตรกรที่มีรายได้น้อย ผ่านมาตรการอุดหนุนด้านการเงินเพื่อช่วยลดต้นทุนการผลิต ตามข้อเสนอของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ส่วนกลุ่มคนที่มีรายได้น้อย จะดำเนินการผ่านมาตรการทางด้านภาษี หรือที่เรียกว่า Negative Income Tax (NIT) ซึ่งจะเป็นการโอนเงินภาษีให้แก่กลุ่มผู้มีรายได้น้อย

"การดูแลเกษตรกรนั้น เราไม่ช่วยไม่ได้เด็ดขาด แต่ต้องช่วยสร้างความยั่งยืนให้เขา ซึ่งทางกระทรวงเกษตรฯเขาถามเราว่า ถ้าจะใช้เงินแสนล้านในการดูแลนั้น คลังไหวไหม เราก็บอกว่าได้ แต่ดูแลจะเป็นลักษณะของการอุดหนุนด้านการเงิน แต่เราจะไม่มีการแจกเงินแบบนโยบายประชานิยม ซึ่งอาจจะออกมาในรูปแบบของการลดต้นทุนการผลิต"นายสมหมายกล่าว

สำหรับแหล่งเงินนั้น นายสมหมายกล่าวว่ามีหลายช่องทาง หนึ่งในนั้น คือ งบประมาณ ซึ่งจะดำเนินการผ่านเงินโอนภาษีแก่ผู้มีรายได้น้อย รวมถึงการใช้แหล่งทุนจากธนาคารรัฐ โดยขณะนี้กำลังศึกษารายละเอียดของมาตรการ ซึ่งรวมถึงคำนิยามของคำว่า "เกษตรกรหรือบุคคลที่มีรายได้น้อย"

"ผมคิดว่า ภายในต้นเดือนต.ค.นี้ จะเห็นมาตรการทั้งหมดที่จะนำมาใช้ ขณะนี้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง กำลังพิจารณาในรายละเอียด"

ในเบื้องต้น มาตรการจะช่วยเหลือเกษตรรายย่อย มีที่ดินไม่เกิน 20 ไร่ โดยลดค่าปุ๋ยและยาฆ่าแมลง โดยใช้เงินจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ ส่วนมาตรการโอนเงินภาษีจะให้เงินผ่านบัญชี โดยต้องมีการสำรวจและลงทะเบียน

เร่งผลักดันภาษีมรดก

นายสมหมาย ยังกล่าวถึงมาตรการทางภาษีว่าในระยะสั้นจะเร่งผลักดันให้ภาษีมรดกให้มีผลบังคับใช้ โดยภาษีมรดกที่ว่านี้ อยู่ระหว่างการพิจารณาในชั้นคณะกรรมการกฤษฎีกา โดยหลังจากนั้นจะเสนอคณะรัฐมนตรี(ครม.)และสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.)

"ในหลักการ เห็นด้วยกับภาษีนี้ ได้หารือกับนายกรัฐมนตรีเกี่ยวกับหลักการแล้ว ซึ่งก็ได้บอกว่า กฎหมายนี้จะมีการปรับปรุงให้เป็นที่ยอมรับของสังคม กล่าวคือ จะมีการผ่อนปรนการจัดเก็บจากร่างเดิมมากขึ้น เช่น มรดกที่ได้รับจากสามีหรือภรรยาที่เสียชีวิต จะได้รับการยกเว้น หรือ คนจนที่ไม่มีเงินเสียภาษีมรดก"

อัตรา10% เก็บทั้งผู้ให้-ผู้รับ

ทั้งนี้ ในร่างภาษีมรดกที่อยู่ระหว่างการพิจารณานี้ จะปิดช่องโหว่สำหรับการเลี่ยงกฎหมายด้วย โดยเฉพาะในส่วนของผู้ให้มรดกที่ยังไม่เสียชีวิต จะมีการกำหนดว่า หากยกมรดกให้ภายใน 2 ปี ก่อนที่จะเสียชีวิต ต้องเสียภาษีการให้ด้วย โดยเกณฑ์ที่ใช้ในการเสียภาษีจะอยู่ในเกณฑ์เดียวกันกับผู้รับมรดก คือ ทรัพย์ที่เกิน 50 ล้านบาท จะเสียภาษีในอัตรา 10% หากเสียภาษีการให้แล้ว ผู้รับมรดกจะไม่มีภาระภาษีอีก ส่วนทรัพย์ที่จะมีการจัดเก็บนั้น ยังยึดหลักการเดิม คือ เป็นทรัพย์ที่มีการลงทะเบียน เช่น บ้าน รถยนต์ ที่ดิน เงินฝาก ส่วนเงินสดไม่นับ

"เราจะเปลี่ยนชื่อร่างภาษีมรดกด้วย โดยจะใช้ชื่อว่า ร่างภาษีการให้และการรับมรดก เพื่อให้ครอบคลุมการจัดเก็บภาษีทั้งจากผู้รับและผู้ให้" เขากล่าว

นายสมหมาย กล่าวว่ากฎหมายฉบับนี้ไม่ให้น้ำหนักในเรื่องรายได้รัฐบาล แต่จะสร้างความเป็นธรรมทางสังคม โดยเฉพาะคนกลุ่มรวยที่มีทรัพย์สินเกินกว่า 50 ล้านบาท เพราะเป็นกลุ่มที่ได้รับประโยชน์จากการใช้ทรัพยากรของประเทศมากกว่าคนจน

ดังนั้น อัตราภาษีในอัตรา 10% จึงถือว่าเหมาะสม และเป็นอัตราที่ต่ำกว่าประเทศอื่น เช่น ญี่ปุ่นที่เสียภาษีนี้ในอัตราถึง 33%

"เราไม่หวังรายได้จากภาษีนี้ แต่เราจะทำให้คนรวยรู้สึกรับผิดชอบต่อการเสียภาษีมากขึ้น เพราะคนกลุ่มนี้ ใช้ทรัพยากรของประเทศมากกว่าคนจน หากกลุ่มคนรวยมีการหลีกเลี่ยงภาษีนี้ ตามกฎหมายก็จะมีบทลงโทษทางอาญา เช่น จำคุกไม่เกิน 2 เดือนด้วย"

จ่อดัน"ภาษีที่ดินใหม่-แวต"

การจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างนั้น นายสมหมายกล่าวว่าร่างกฎหมายนี้จะมาทดแทนกฎหมายภาษีที่ดินและโรงเรือนที่มีความลักลั่น และปล่อยให้มีการรั่วไหล โดยอัตราการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างนี้จะไม่เพิ่มจากเดิม แต่จะทำให้เกิดความเป็นธรรม

สำหรับภาษีมูลค่าเพิ่มนั้น นายสม หมายกล่าวว่าควรที่จะปรับเพิ่มขึ้น แต่จะเต็มเพดานหรือไม่นั้น ต้องพิจารณาในรายละเอียด เพราะภาษีตัวนี้ จะมีส่วนในการสร้างรายได้ เพราะประเทศที่พัฒนาแล้ว จะมีสัดส่วนรายได้ต่อจีดีพีอยู่ในระดับสูง แต่ประเทศเรานั้นนับจาก 30 ปีที่ผ่านมา สัดส่วนรายได้ต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ(จีดีพี)ไม่เปลี่ยนแปลงมานาน

"ประเทศไม่สามารถพัฒนาได้มาก เพราะรัฐบาลไม่มีรายได้ไปพัฒนาประเทศ นี่คือหัวใจ"

"ปรีดิยาธร"เร่งดันเข้าสนช.

ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่ารัฐบาลจะเร่งนำร่างกฎหมายภาษีมรดกเข้าสู่การพิจารณาของสนช. ส่วนเรื่องภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างถือเป็นเรื่องที่ยากกว่าภาษีมรดกและมีความซับซ้อนกว่า จึงต้องศึกษาในรายละเอียดก่อนจากนั้นจึงจะเสนอสนช.

"จากการที่ได้คุยกับมหาเศรษฐีหลายรายเรื่องแนวคิดเรื่องภาษีมรดกมีความเต็มใจที่จะเสียภาษีในส่วนนี้ เนื่องจากภาษีมรดกของไทยจะเก็บเพียง 10% ขณะที่บางประเทศเก็บภาษีมรดกสูงถึง 50% หรือ 33% นอกจากนี้ การปฏิรูประบบภาษียังมีอีกหลายเรื่องมาก เช่น ภาษีสรรพสามิตน้ำมัน แต่สิ่งที่รัฐบาลจะทำก่อนคือ เรื่องที่ทุกคนเห็นว่าเป็นเรื่องความเป็นธรรมของสังคม"

ด้านนายบัณฑูร ล่ำซำ ประธานกรรมการ ธนาคารกสิกรไทย กล่าวเห็นด้วยว่าภาษีมรดกถือเป็นส่วนหนึ่งของระบบเศรษฐกิจที่ต้องมีในทุกสังคม แต่เป็นเรื่องที่ภาครัฐและรัฐสภาต้องร่างกติกาให้ชัดเจนและบรรลุวัตถุประสงค์ในการสร้างความเป็นธรรมให้สังคม ส่วนอัตราการจัดเก็บจะเป็นเท่าใดนั้นขึ้นกับความเห็นชอบของทุกฝ่ายที่จะตกลงกัน เช่นเดียวกับการจัดเก็บภาษีที่ดินที่ควรมีการจัดเก็บและเห็นว่าควรมีการจำกัดพื้นที่การถือครองที่ดินไม่ให้มีมากเกินไป ซึ่งจะต้องกำหนดรายละเอียดให้ชัดเจนและสามารถนำไปปฏิบัติได้

เล็งออกพันธบัตรหนี้จำนำข้าว7แสนล.

แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่าม.ร.ว.ปรีดิยาธร ได้มอบหมายให้สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ(สบน.) ศึกษาแนวทางการยืดหนี้จากโครงการจำนำข้าว ซึ่งมีวงเงินถึง 7 แสนล้านบาท ให้ยาวขึ้น 30 ปี เพื่อไม่ให้เป็นภาระต่องบประมาณเพื่อนำมาใช้หนี้ภายใน 5 ปี โดยรัฐบาลมีแผนจะนำงบประมาณไปลงทุนในโครงการโครงสร้างพื้นฐาน 2.4 ล้านล้านบาท

แหล่งข่าวกล่าวว่าในเบื้องต้น ม.ร.ว.ปรีดิยาธร ต้องการให้ออกเป็นพันธบัตรออมทรัพย์ขายให้กับประชาชน เพื่อให้ดอกเบี้ยที่รัฐบาลต้องจ่ายตกอยู่ในมือประชาชน ซึ่งการออกพันธบัตรจะทยอยออกตามหนี้ที่ครบกำหนด ไม่จำเป็นต้องออกก้อนเดียว 7 แสนล้านบาท

ส่วนอายุพันธบัตร สามารถออกได้หลายช่วงอายุตั้งแต่ 10 ปี 15 ปี และ 30 ปี คาดว่า จะได้รับการตอบรับจากประชาชน เพราะก่อนหน้านี้สบน.ออกพันธบัตรออมทรัพย์รายย่อย 10 ปี ซึ่งขายหมดในเวลารวดเร็ว

"ม.ร.ว.ปรีดิยาธร ให้ สบน. ไปศึกษาว่าหากจะออกพันธบัตรออมทรัพย์ยาวขึ้นกว่า 10 ปี และจะให้ถึง 30 ปีจะทำได้หรือไม่ เพื่อให้ประชาชนมีทางเลือกใหม่ๆ ในการออมเงิน อย่างไรก็ตามที่ผ่านมาออกพันธบัตรของ สบน. ต้องผสมกันไประหว่างขายให้รายย่อย และขายให้กับนักลงทุนสถาบัน นักลงทุนรายใหญ่ เพราะนักลงทุนรายย่อยนั้นจะมีต้นทุนในการกระจายสูงกว่านักลงทุนรายใหญ่"

ทั้งนี้ สบน.ต้องรอการดูตัวเลขขาดทุนจากการปิดบัญชีจำนำข้าวที่มี นายรังสรรค์ ศรีวรศาสตร์ ปลัดกระทรวงการคลังเป็นประธาน ที่มีกำหนดนัดประชุมเพื่อปิดบัญชีในช่วงสิ้นเดือนก.ย. ว่าผลขาดทุนเท่าไร รวมถึงต้องนำแผนการระบายข้าวของกระทรวงพาณิชย์มาประกอบการพิจารณาด้วย

ใช้หนี้ครบกำหนดชำระปีหน้าแสนล้าน

ด้านนายลักษณ์ วจนานวัช ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) กล่าวว่าในการประชุมคณะกรรมการธนาคารที่มีนายสมหมาย เป็นประธาน ช่วงปลายเดือนก.ย.นี้ จะเสนอต่อที่ประชุมพิจารณาแผนกู้เงินเพื่อปรับโครงสร้างหนี้ ทดแทนเงินกู้จำนำข้าวที่จะครบกำหนดชำระหนี้ในปีงบ 2558 วงเงินกว่า 1 แสนล้านบาท ซึ่งถือเป็นการบริหารจัดการปกติ ในส่วนการบริหารเงินกู้ดังกล่าวสบน.จะพิจารณาแนวทางว่าจะใช้เครื่องมือใดในการกู้เงินเพื่อปรับโครงสร้างหนี้

"กำลังรอดูผลการศึกษาจากสบน.ในเรื่องการยืดหนี้จำนำข้าว หากสบน.ศึกษาเสร็จในช่วงปีงบ 2558 สามารถนำหนี้ที่ครบกำหนดปีนี้มานำร่องออกพันธบัตรก่อนเลย ส่วนนี้ถือเป็นการบริหารจัดการของภาครัฐ ซึ่งเงินที่นำมาใช้หนี้จำนำข้าวจะมาจากการระบายข้าวของกระทรวงพาณิชย์ และเงินจากงบประมาณ ดังนั้นหากสามารถยืดหนี้ให้ยาวขึ้นได้ ภาระของรัฐบาลที่จะต้องจัดสรรงบประมาณมาใช้หนี้ในช่วง 5 ปี ก็จะลดลงไป" นายลักษณ์ กล่าว

ทั้งนี้ภาระหนี้จากโครงการรับจำนำข้าวทั้งหมด 7.55 แสนล้านบาท เป็นภาระของโครงการที่เกิดขึ้นก่อนปี 2554 ประมาณ 5 หมื่นล้านบาท ส่วนที่เหลือกว่า 7 แสนล้านบาท เป็นโครงการของรัฐบาลชุดที่แล้ว โดยในปีงบประมาณ 2558 กำหนดงบประมาณเพื่อชำระหนี้เฉพาะโครงการรับจำนำ 7.13 หมื่นล้านบาท แบ่งเป็นการชำระเงินต้น 3.69 หมื่นล้านบาท และเป็นภาระดอกเบี้ย อีกราว 3.4 หมื่นล้านบาท โดยจะมีเงินจากการระบายข้าวเข้ามาเพื่อชำระหนี้อีก 6 หมื่นล้านบาท


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : อัดแสนล้าน กระตุ้นรากหญ้า

view