สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

เรียนรู้จากผู้นำ ตอน CIA

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
พอใจ พุกกะคุปต์



เดือนกันยายน เป็นเดือนสุดท้ายของ quarter 3 ของปี ถือเป็นเวลาอันดีที่หลายองค์กรเริ่มเหลียวหลังเพื่อแลหน้าว่า

ตั้งแต่ต้นปีมา ผลงานเป็นอย่างไรบ้าง และจะต้องสร้างงาน ต้องสาน หรือปรับอะไร จะได้ใช้เวลา quarter สุดท้าย หรือ 3 เดือนที่เหลือให้เป็นประโยชน์สูงสุด

ไม่หลุดเป้า!

เพราะปัญหาประจำ คือยามปลายปี เมื่อถึงเวลาประเมินผลงานทั้งองค์กร และคนทำงาน มักปรากฏว่า

พี่ๆ น้องๆ ผองพนักงาน ได้ผลประเมินงานผ่านฉลุย บางคนดีเยี่ยม ดีแบบบรรเจิด หรือหากไม่ดีเลิศ ก็อยู่ในประเภทดีเฉยๆ

มีคนบางกลุ่มดำผุดดำว่ายอยู่สายกลางๆ

ส่วนน้อยนิด จะติดลบจบไม่สวย ได้ผลประเมินว่างานไม่เข้าตากรรมการ

แต่ที่สะดุดตา เป็นปัญหากับหลากหลายที่ คือ

ผลงานภาพรวมในระดับองค์กร มักไม่ได้นอนมา หาที่ติมิได้ เฉกเช่นผลงานที่ผ่านฉลุยของน้องพี่หลายชีวิตในองค์กร

บางแห่งขาดทุน บางที่กำไรหาย แถมถูกหมายหัวโดยลูกค้าตัวเป็นๆ

ในการบริหารจัดการ อาการนี้ มีชื่อโรคว่า ขาด Alignment หรือ ขาดความโยงใยไปในทิศทางเดียวกัน

องค์กรส่วนใหญ่ ล้วนมีเป้าหมายระดับสูง มีแผนกลยุทธ์ แต่แผนหรูก็มักสะดุด หยุดอยู่ตรงระดับองค์กร

เพราะสำหรับคนในลำดับชั้นถัดๆ ไป ความเข้มข้นของแผนใหม่ ก็จะเจือจางลงๆ

จนถึงระดับกว้าง ระดับคนทำงานทั่วไป งานที่ผ่านมาทำอย่างไร ปีนี้ก็ทำต่อไปเหมือนเดิมละกัน

ล่าสุด ดิฉันได้มีโอกาสคุยกับผู้บริหารระดับกลาง ซึ่งอยู่ในองค์กรที่ถูกควบรวมครั้งมโหฬาร งานระดับชาติ

เวลาผ่านล่วงเลยมานานนับปี จึงลองถามว่าการทำงานแตกต่างไปจากเดิมเช่นไร ลำบากใจไหม

น้องตอบตาใสว่า..ชิลๆ

ชื่อบริษัทเปลี่ยน ซองจดหมายเปลี่ยน บัตรพนักงานเปลี่ยน

แต่ที่ยังไม่เปลี่ยนคือ...วิธีการทำงาน

มิน่าเล่า กูรูผู้รู้เรื่องการบริหารกลยุทธ์และการเปลี่ยนแปลง Dr.John Kotter แห่งมหาวิทยาลัย Harvard จึงฟันธงว่า 70% ของการเปลี่ยนแปลง ประสบความล้มเหลวครับ

หนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ทำให้เป็นเช่นนั้น คือ โรคขาด Alignment นั่นเอง

ในมุมของผู้รู้ องค์กรหนึ่งที่ประสบความสำเร็จในการตอกย้ำให้สิ่งที่ทุกคนทำ ต้องยึดโยงเกาะหนึบกับเป้าหมายของงานและภารกิจใหญ่ มิให้ผิดเพี้ยน คือ

CIA หรือ Central Intelligence Agency ที่มีหน้าที่วิเคราะห์เสาะแสวงหาข่าวกรอง ของสหรัฐอเมริกา

แม้ CIA จะมีทั้งชื่อเสียงและชื่อเสีย กระนั้นก็ดี สิ่งที่นักบริหารเรียนรู้ได้จากองค์กรนี้ เพื่อแก้โรค Alignment มี 2 ประเด็นเด่น คือ

1.การคัดกรอง เลือกคนเข้าองค์กร

CIA ระบุใน web site ของตนเพื่อให้คนที่สนใจทำงานด้วย ตระหนักตั้งแต่ต้นว่า

ภารกิจสูงสุดของทุกคนในองค์กร คือ ”ความปลอดภัยของชาติ”

ภารกิจนี้ “เป็นมากกว่างาน เพราะถือเป็นวิถีของการดำรงชีวิต ที่ต้องท้าทายตนเอง ทั้งด้านสมอง ความแกร่ง และความรับผิดชอบที่สูงยิ่ง”

การคัดเลือกคน จึงเป็นปราการด่านแรกที่เข้มข้นและสำคัญสูงสุด

บทเรียนขององค์กรทั่วไปที่ได้ คือ กระบวนการคัดกรองคนเข้าสู่ “บ้าน” ของเรา ต้องไม่เหมาเข่ง

ต้องไตร่ตรองมองให้ขาดว่า เขามาแล้วอยู่ได้ไหม เขาใส่ใจในเรื่องที่เราให้ความสำคัญหรือไม่

หรืออีกนัยหนึ่งเขา "Fit" กับวิถีของบ้านหลังนี้หรือไม่

หากไม่ กรุณาสกัดไว้ก่อนสายเกินไป

ก่อนช้ำใจทั้งเขาและเรา

เมื่อมีคนที่มีทัศนคติใกล้กัน และมองภาพใหญ่ไปในทิศเดียวกัน การทำงานร่วมกันเพื่อตอบโจทย์เดียวกัน ย่อมง่ายขึ้น

2.ทีม ทีม และทีม

แม้ CIA จะมีภารกิจซึ่งต่างคนต่างต้อง “ใช้พลังสมอง ความแกร่ง และความรับผิดชอบส่วนตัวสูงสุด” แต่ ทุกคนรู้ดีว่าเขามีภารกิจสำคัญและเสี่ยงอันตรายสูง จึงต้องสามารถไว้ใจและเชื่อมั่นในกันและกันได้ ไม่ว่าในสภาวะใด

จุดยึดเหนี่ยว คือ การมีเป้าเดียวกัน เพื่อให้ภารกิจสำเร็จลุล่วง “mission accomplished!”

เพราะหากใครทำเก๋ เป๋ออกนอกทาง ถือเป็นการสร้างความเสี่ยงให้เพื่อนร่วมทีมถึงชีวิต

องค์กรบอกว่าคิดต่างได้ครับ เพราะเราต้องการพลังสมองของทุกคน

แต่ยามเมื่อฟันธงแล้วว่าจะไปทางใด ต้องไม่งอแง และไม่พลาด

เมื่อทีมสำเร็จ ทีมสำเร็จร่วมกัน ฉันใดฉันนั้น หากงานพลาด ก็ถือว่าพลาดทั้งทีม

สำหรับองค์กรทั่วไป ไม่ว่าเป้าหมายใหญ่คืออะไร สร้างรายได้ สร้างงาน สร้างความพึงพอใจให้ลูกค้า ฯลฯ สิ่งแรกที่ต้องทำ คือสร้างความกระจ่างให้คนในองค์กรรับรู้และเข้าใจ ตลอดจนฮึกเหิมตามไปด้วย

จากนั้น ทุกงานที่ทุกคนทำในทุกวัน ต่างต้องตอบทั้งตนและคนอื่นได้ว่า มีส่วนทั้งทางตรง หรือทางอ้อม ในการตอบโจทย์ขององค์กรอย่างไร

หากยังไม่ตอบไม่ได้ หรือ ตอบอ้อมวกวนกว่าจะรู้ว่าชนเป้าหมายใหญ่

ก็ต้องพิจารณางาน พิจารณาตนใหม่ ว่าใช้พลังและเวลามาถูกทิศไหม

เมื่อทุกคนรู้ว่าตนต้องทำอะไร และโยงใยกับภารกิจหลักของทีมอย่างไร จะส่งผลให้ต่างรู้ว่างานของตนสำคัญ เพราะมีส่วนผลักดันให้เป้าหมายใหญ่สำเร็จ

หากมิได้ตระหนักว่า งานของเราส่งผลดีหรือร้ายต่อเพื่อนข้างกาย และภาพใหญ่อย่างไร

การทำงานเป็นทีมก็..พูดได้ พูดไป..ว่างๆ เมื่อไหร่ อาจจะทำ

องค์กรขำไม่ออก

ที่สำคัญ อุปสรรคใหญ่ของการสร้างทีม คือ ผู้บริหารเน้นย้ำ ตอกย้ำ พูดซ้ำๆ ว่าเราทำงานเป็นทีมน้า

แต่เมื่อวัดผลงาน และให้คุณให้โทษทีไร

ใครดีใครได้ ทุกที


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : เรียนรู้จากผู้นำ CIA

view