สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

นโยบายเกษตรกรรม โดย วีรพงษ์ รามางกูร

จากประชาชาติธุรกิจ

ปีนี้ดูจะเป็นปีที่โชคร้ายของเกษตรกรและรัฐบาล เพราะราคาสินค้าเกษตรไม่ว่าจะเป็นข้าว ยางพารา อ้อย มันสำปะหลัง ข้าวโพด ราคาสินค้าทุกตัวพร้อมใจกันร่วงลงหมด ไม่เว้นแม้แต่ตัวเดียว

เรื่องอย่างนี้เท่าที่เคยเห็นมา เป็นสัญญาณจากภาวะเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทยของเราตกต่ำ เหมือนที่เคยเกิดขึ้นเป็นไปตามวัฏจักร สำหรับยางพารานั้นพอจะเห็นได้ง่ายกว่า ราคาขึ้น-ลงตามภาวะของตลาดรถยนต์และราคาน้ำมัน เพราะอย่างยางพาราเป็นวัตถุดิบเพื่ออุตสาหกรรมยางรถยนต์และเป็นคู่แข่งของยางเทียม ผลิตภัณฑ์จากปิโตรเลียมราคาขึ้น-ลงตามราคาน้ำมัน เมื่อความต้องการรถยนต์ชะลอตัวพร้อม ๆ กับราคาน้ำมัน ขณะเดียวกัน กับการขยายพื้นที่เพาะปลูกยางพารากันอย่างขนานใหญ่เมื่อ 5-6 ปีก่อนของทุกประเทศทั้งจีน พม่า ไทย ลาว เวียดนาม เพราะยางพาราราคาดี ราคาจึงตกลงอย่างรวดเร็วจาก กก.ละ 120 บาท เหลือ 50 บาทเศษ และยังมีแนวโน้มจะลดลงอีกตราบใดที่ต้นทุนการกรีดยางยังสูงกว่าค่าแรง ซึ่งบัดนี้ทางภาคใต้และภาคตะวันออกก็ใช้แรงงานจากพม่า ทางภาคอีสานยังเห็นชาวสวนกรีดเองอยู่บ้าง แต่ก็เริ่มลดลงแล้ว

สำหรับข้าวก็มีอาการอย่างเดียวกัน คือ ราคาลดลงเหลือไม่ถึง 8,000 บาทต่อตัน ถ้าเป็นข้าวหอมมะลิก็ได้เพียง 10,000 บาท ซึ่งเป็นราคาที่ต่ำกว่าราคารับจำนำ และราคารับประกันของรัฐบาลชุดก่อน ๆ ทั้งรัฐบาลพรรคเพื่อไทย และรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์

ราคาสินค้าเกษตรกรรมที่สำคัญอย่างอื่นที่สามารถใช้ผลิตพลังงานได้ เช่น อ้อย มันสำปะหลัง รวมทั้งน้ำมันปาล์มก็พากันราคาตกไปด้วย เพราะราคาน้ำมันก็ชะลอตัวตามภาวะเศรษฐกิจของโลกไปด้วย

ราคาอาหารอย่างอื่น เช่น ไก่ หมู ไข่ไก่ ก็พลอยราคาตกกันไปหมด

เนื่องจากสินค้าส่งออกของเราส่วนใหญ่เป็นสินค้าจากภาคเกษตรกรรม หรือสืบเนื่องมาจากภาคเกษตรกรรมกว่า 80 เปอร์เซ็นต์ ดังนั้น การขยายตัวของการส่งออกของเราก็คงจะไม่ขยายตัวเลยจากปีนี้และยืดเยื้อไปถึงปีหน้า หรืออาจจะหดตัวเสียด้วยซ้ำ การที่ผู้บริโภคสินค้าอุตสาหกรรมส่วนใหญ่ของเรา คือ ประชากรที่เป็นเกษตรกร ดังนั้น ความต้องการสินค้าภาคอุตสาหกรรมภายในประเทศ ไม่ว่าจะเป็นอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้า เครื่องอิเล็กทรอนิกส์ และอื่น ๆ ก็จะต้องชะลอตัวลงด้วย

เมื่อเป็นอย่างนี้ เราจึงต้องมาทบทวนนโยบายภาคเกษตรกรรมของเราว่า ข้างหน้าปัญหาเหล่านี้จะคงอยู่และรุนแรงยิ่งขึ้นด้วยเหตุผลอะไร ดังนี้

1.ราคาสินค้าเกษตรภาคปฐมเมื่อเทียบกับอัตราเงินเฟ้อ จะมีอัตราการเพิ่มต่ำกว่ามาก เพราะศักยภาพการผลิตอาหารและสินค้าเกษตรอย่างอื่นมีประสิทธิผลดีกว่า ด้วยความก้าวหน้าของเทคโนโลยี เครื่องจักร เครื่องกล

2.ประเทศเพื่อนบ้านที่เคยเป็นสังคมนิยม บัดนี้ ได้เปิดประเทศและกำลังพัฒนาถนนหนทางระบบขนส่ง สามารถเปิดพื้นที่เกษตรกรรมได้มากยิ่งขึ้น ทำให้สามารถเพิ่มปริมาณการผลิตและการส่งออกได้มากขึ้น ประจวบกับมีพรมแดนติดต่อกับเรา ทั้งด้านตะวันออกและด้านตะวันตกเป็นระยะทางหลายพันกิโลเมตร ถ้าราคาสินค้าเกษตรของเราสูงกว่าราคาตลาดโลก ประกอบกับประสิทธิภาพและความซื่อตรงของเจ้าหน้าที่ของเรามีปัญหา สินค้าเกษตรจากประเทศเพื่อนบ้านก็จะลักลอบหลั่งไหลเข้ามาในประเทศของเรา ทำให้ราคาตลาดของเราก็จะลดลงเท่ากับราคาตลาดโลกบวกค่าขนส่งและรายจ่ายเบี้ยบ้ายรายทาง

3.ประเทศไทยโดยส่วนรวมเป็นประเทศที่ขาดแคลนแรงงาน ต้นทุนการผลิตจึงสูงกว่าประเทศเพื่อนบ้าน และต้องใช้เครื่องจักรกลมากยิ่งขึ้น ชาวไร่ชาวนาบางส่วนโดยเฉพาะใน "เขตเกษตรก้าวหน้า" ที่อยู่ในเขตชลประทาน เกษตรกรก็เป็นเกษตรกรก้าวหน้ามิได้เป็นผู้ลงมือทำการผลิตเอง แต่ทุกอย่างจ้างทำหมด ไม่ว่าจะเป็นการไถ การหว่าน การเก็บเกี่ยว โดยเจ้าของเครื่องจักรถ้าเป็นพื้นที่ที่อยู่ใกล้ชายแดนไม่ว่าจะเป็นภาคเหนือ ภาคอีสาน หรือภาคตะวันตกก็ว่าจ้างแรงงานประเทศเพื่อนบ้านมาเก็บเกี่ยว ต้นทุนการผลิตจึงสูงกว่าประเทศเพื่อนบ้าน

ครอบครัวชาวนาชาวไร่เหล่านี้มิได้มีฐานะยากจนอีกต่อไปแล้ว เพราะมีอาชีพทำกิจกรรมหลายอย่างนอกภาคเกษตรกรรม แต่ก็ยังลงทะเบียนเป็นชาวนาชาวไร่เพื่อรับการชดเชยหรือการประกันราคา หรือการรับจำนำจากภาครัฐบาล ชาวไร่ชาวนาที่ยากจนจะอยู่ในพื้นที่ "เกษตรล้าหลัง" ในพื้นที่นอกเขตชลประทาน

ข้อเท็จจริงที่แปลกก็คือ นโยบายราคา ไม่ว่าจะเป็นการประกันราคาหรือรับจำนำ ผู้ที่ได้ประโยชน์ก็คือ เกษตรกรในเขตเกษตรก้าวหน้า ซึ่งตนไม่ได้ลงมือทำทุกอย่าง จ้างเครื่องมือ เครื่องจักรทำ อีกพวกหนึ่งก็คือ โรงสี เจ้าของโกดัง ผู้ส่งออก เพราะมาตรการที่บิดเบือนราคาจะเกิดช่องว่างระหว่าง "ราคาทางการ" กับราคาตลาด "ส่วนต่าง" นี้จะตกถึงชาวนาเพียงเล็กน้อย ส่วนใหญ่จะตกอยู่กับโรงสีเจ้าของโกดัง และนายทุนท้องถิ่นร่วมกับเจ้าหน้าที่

ส่วนชาวนายากจนนอกเขตชลประทาน หรือเขตเกษตรน้ำฝน เป็นเขตที่ราบสูง คุณภาพของดินต่ำ ผลผลิตต่อไร่ต่ำ แต่ได้ข้าวคุณภาพดีเป็นข้าวนาปี เช่น ข้าวหอมมะลิ ข้าวเสาไห้ ข้าวขาวตาแห้ง เป็นต้น ผลผลิตของแต่ละครัวเรือนมีไม่มาก แต่เป็นข้าวที่เป็นที่ต้องการของตลาดทั้งในและต่างประเทศ เกษตรกรเหล่านี้ไม่ค่อยได้รับประโยชน์จากนโยบายประกันราคาของรัฐบาล เพราะข้าวแต่ละครัวเรือนมีไม่มากพอ แม้จะได้เข้าโครงการก็ตาม

น่าจะถึงเวลาที่จะเลิกภูมิใจในการที่ประเทศไทยสามารถรักษาการเป็นแชมป์โลกในการส่งออกข้าว เพราะข้าวที่ส่งออกจำนวนมากเป็นข้าวนาปรังคุณภาพต่ำ ส่งออกไปยังตลาดที่ประชาชนยังยากจนหรือไม่ก็เอาไปทำข้าวนึ่งราคาถูก เป็นอาหารของคนยากจนในประเทศแอฟริกาและอื่น ๆ ทุกตันที่เราส่งออกคิดต้นทุนแล้วไม่คุ้มเพราะได้ราคาต่ำ ต้องเอาเงินภาษีอากรของประชาชนไปชดเชย และเป็นผลผลิตของชาวนารวยในเขตชลประทานที่รัฐบาลลงทุนให้มาเป็นเวลานานแล้ว โดยไม่ต้องเสียค่าน้ำ

ภาคเกษตรกรรมมีผลผลิตไม่ถึง 10 เปอร์เซ็นต์ของผลผลิตมวลรวมประชาชาติ แต่อ้างว่ามีแรงงานในภาคเกษตรกรรมถึง 30-40 เปอร์เซ็นต์ของแรงงานทั้งหมด ตัวเลขดังกล่าวไม่น่าจะเป็นจริง เพราะการทำสำมะโนเกษตรกรนั้นยากที่ผู้ทำจะได้ตัวเลขที่แท้จริง เพราะภาคเศรษฐกิจอื่นนอกภาคเกษตร เช่น การก่อสร้าง การค้าปลีกค้าส่ง การขนส่งและคมนาคม การอุตสาหกรรม ฯลฯ ยังขาดแคลนแรงงานอยู่มาก ต้องอาศัยแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้านเป็นจำนวนมาก ประมาณกันว่า 5 ล้านคนทั่วประเทศ ฉะนั้น แล้วผลผลิตไม่ถึง 10 เปอร์เซ็นต์ของผลิตภัณฑ์มวลรวมแต่อ้างว่ามีเกษตรกรถึง 30-40 เปอร์เซ็นต์ของแรงงานทั้งหมดจึงไม่น่าจะเป็นไปได้

การลดปริมาณการผลิตข้าว ยางพารา และพืชไร่อย่างอื่นจึงน่าจะต้องคิดดำเนินการได้แล้ว ในที่สุดอาจจะเหลือผลิตข้าวนาปีคุณภาพสูงเพื่อบริโภคภายในประเทศก็พอ

งบประมาณที่ใช้ประกันราคาข้าว ราคายางพารา เอามาใช้อุดหนุนการเปลี่ยนพื้นที่และระบบชลประทานไปผลิตอย่างอื่นที่ตลาดมีความต้องการมากกว่า อาจจะเป็นประมงน้ำจืด พืชหรือปศุสัตว์ที่มีราคาสูง ผลิตสินค้าที่เป็นที่ต้องการของ "คนรวย" ที่ยอมจ่ายเพื่อรักษาสุขภาพ เพื่อแสดงความภักดีกับสินค้าที่โฆษณาของนักการตลาด

เมื่อรัฐบาลจะเลิกนโยบายประกันราคา ซึ่งก็คงจะมีปัญหาทางการเมือง ก็อาจจะต้องมีมาตรการ "ทางการเมือง" มารองรับให้ทางการเมืองพอยอมรับกันได้ มิฉะนั้น เมื่อรัฐบาลพ้นไปของเก่าก็จะกลับมาอีก

สินค้าเกษตรทุกชนิดในทุกประเทศทั่วโลก เป็น "สินค้าการเมือง" ทั้งนั้น ไม่เหมือนสินค้าอย่างอื่น แต่พฤติกรรมของราคาก็ดี ปริมาณการผลิตก็ดี คุณภาพการผลิตก็ดี เป็นไปตามกฎเกณฑ์ของตลาด กฎเกณฑ์ทางเศรษฐกิจ และมักจะสวนทางกับความต้องการทางการเมือง แม้ว่าจะมีจำนวนไม่มากเมื่อเทียบกับประชากรที่ไม่ใช่เกษตรกร แต่ก็เป็นฐานเสียงสำคัญของพรรคการเมืองในทุกประเทศ ไม่ว่าจะเป็นประเทศพัฒนาแล้ว กึ่งพัฒนา หรือกำลังพัฒนา การจะดำเนินนโยบายไม่ให้เกิดความเสียเปล่าทางงบประมาณเลยย่อมเป็นไปไม่ได้ สำหรับประเทศพัฒนาแล้วหรือกึ่งพัฒนา แม้จะเป็นเหตุผลทางการเมือง แต่ก็ควรจะทำให้ความสูญเสียและความเสียเปล่าทางงบประมาณอยู่ในกรอบที่จำกัด ไม่มากเกินไปจนกลายเป็นตุ้มถ่วงความก้าวหน้าของประเทศชาติ ทำให้ประโยชน์ไปถึงเกษตรกรตัวจริง ไม่สูญเปล่าไปกับการชดเชยผู้บริโภคในประเทศผู้นำเข้า เพราะเราไม่ใช่ประเทศที่ขาดดุลการค้าและดุลบัญชีเดินสะพัดที่ต้องการเงินตราต่างประเทศจนเกินไป

ปวดใจทุกครั้งที่เห็นสื่อรายงานว่า เรายังคงเป็นแชมป์โลกในการส่งออกข้าว เพราะข้าวทุกเม็ดที่ส่งออกต้องเอาภาษีอากรที่เก็บจากพวกเราไปอุดหนุนชดเชยเป็นจำนวนมาก

น่าจะพิจารณาทบทวนได้แล้ว


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : นโยบายเกษตรกรรม วีรพงษ์ รามางกูร

view