สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

รวมพลังต่อสู้คอร์รัปชัน เพื่อชัยชนะอย่างยั่งยืน

รวมพลังต่อสู้คอร์รัปชัน เพื่อชัยชนะอย่างยั่งยืน

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์



เมื่อวันที่ 6 กันยายน 2557ผมและชาว ก.ล.ต. ในฐานะหนึ่งในสมาชิกเครือข่ายองค์การต่อต้านคอร์รัปชัน

มีโอกาสได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในงาน“HAND IN HAND…ปฏิรูปการต่อสู้ เพื่อชัยชนะอย่างยั่งยืน”ที่จัดขึ้นในวันต่อต้านคอร์รัปชันประจำปี 2557ณ เซ็นทรัลเวิลด์ กรุงเทพฯงานนี้เป็นการรวมพลังของภาครัฐและเอกชนเพื่อแสดงออกถึงความต้องการร่วมกันแสดงเจตนารมณ์ว่า เราจะ “ไม่เอาคอร์รัปชัน” เป็นนิมิตหมายอันดีที่จะขจัดคอรัปชั่นให้หมดสิ้นไปจากประเทศไทยครับ

ที่ผ่านมาประเทศไทยมีภาพลักษณ์ไม่ดีในเรื่องปัญหาการคอร์รัปชันครับ 
จากการจัดอันดับดัชนีชี้วัดภาพลักษณ์คอร์รัปชันประจำปี 2556 ซึ่งจัดทำโดยองค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ (Transparency International: TI) นั้น ประเทศไทยได้คะแนนแค่ 35 จากคะแนนเต็ม 100 คะแนน อยู่ในอันดับที่ 102 จาก 177 ประเทศทั่วโลก คะแนนและอันดับลดลงจากปี 2555 ในขณะที่ประเทศเพื่อนบ้าน เช่น สิงคโปร์และมาเลเซีย ได้คะแนนสูงกว่าไทย คือ 86 และ 60 โดยอยู่ในอันดับที่ 5 และ 53ตามลำดับ

การที่ประเทศไทยถูกมองว่ายังมีการคอร์รัปชันในระดับสูงตามผลสำรวจดังกล่าว ส่งผลกระทบต่อความน่าเชื่อถือและศักยภาพในการแข่งขันของประเทศนะครับเพราะคนที่จะเข้ามาทำธุรกิจหรือเข้ามาลงทุนอาจคิดว่าเขาต้องมีต้นทุนแฝงที่เกิดจากการ “จ่าย” เพื่อให้ได้รับความสะดวกหรือไม่ หรือ หากไม่ “จ่าย” เขาจะเสียเปรียบหรือไม่การจ่ายที่ว่านี้เป็นอุปสรรคที่สำคัญของการแข่งขันอย่างเท่าเทียมและหากรุนแรงหนักเข้าคนก็ไม่อยากเข้ามาลงทุนหรือทำธุรกิจด้วย หากไม่หยุดการ “จ่าย” หรือการ “รับ” เศรษฐกิจและสังคมไทยก็จะพัฒนาต่อไปไม่ได้ครับ

ก.ล.ต. ในฐานะหน่วยงานกำกับดูแลตลาดทุนซึ่งเปรียบเสมือนเสาหลักสำคัญด้านเศรษฐกิจของประเทศให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่งในการแก้ไขปัญหาและป้องกันการคอร์รัปชันโดยได้ดำเนินการผลักดันบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ (บริษัทจดทะเบียน) บริษัทหลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนให้ดำเนินการในหลายรูปแบบ เช่น ขอความร่วมมือให้เข้ามาร่วมโครงการแนวร่วมปฏิบัติของภาคเอกชนไทยในการต่อต้านการทุจริต (Collective Action Coalition Against Corruption : CAC)ซึ่งดำเนินโครงการโดยสมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย (IOD) เพื่อผลักดันให้ภาคเอกชนในวงกว้างร่วมกันต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชันโดยปัจจุบันมีบริษัทเข้าร่วมประกาศเจตนารมณ์ตามโครงการนี้แล้ว 337 บริษัทซึ่งเป็นที่น่ายินดีว่าในจำนวนนี้เป็นบริษัทจดทะเบียน 163 บริษัทก้าวต่อไปสำนักงานมีเป้าหมายที่จะผลักดันให้บริษัทจดทะเบียนอย่างน้อยร้อยละ 60 ของบริษัทจดทะเบียนทั้งหมดปฏิบัติตามแนวทางการป้องกันการทุจริตคอร์รัปชันที่โครงการกำหนดเพื่อให้ได้ประกาศนียบัตรรับรองการเป็นสมาชิกแนวร่วมดังกล่าวภายในปี 2560ครับ 

ก.ล.ต. ยังให้ความสำคัญกับการป้องกันและป้องปรามการทุจริตคอรัปชั่นของบริษัทจดทะเบียนโดยออกเกณฑ์ให้บริษัทจดทะเบียนเปิดเผยข้อมูลมาตรการต่อต้านคอร์รัปชัน เพื่อให้ผู้ลงทุนใช้ข้อมูลเกี่ยวกับมาตรการการต่อต้านคอร์รัปชันเพื่อเป็นประโยชน์ในการตัดสินใจลงทุน รวมทั้งริเริ่มให้มีการจัดทำและเปิดเผยดัชนีชี้วัดความคืบหน้าการป้องกันการมีส่วนเกี่ยวข้องกับคอร์รัปชัน (Anti-corruption Progress Indicator) ของบริษัทจดทะเบียนด้วยครับ โดยดัชนีชี้วัดนี้จะมีด้วยกัน 5 ระดับ 

ระดับ 1 คือ มีนโยบายของคณะกรรมการบริษัทในเรื่องการดำเนินธุรกิจที่จะไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการคอร์รัปชัน ระดับ 2 คือ ประกาศเจตนารมณ์เข้าเป็นแนวร่วม CAC ระดับ 3 คือมีระบบในการปฏิบัติงานเพื่อป้องกันคอร์รัปชัน ระดับ 4 คือ ได้รับการรับรอง CAC และระดับ 5 คือการขยายผลไปยังผู้เกี่ยวข้องกับบริษัท เช่น หุ้นส่วนทางธุรกิจ ที่ปรึกษา ตัวกลาง หรือตัวแทนธุรกิจ ที่จะไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการคอร์รัปชันทุกรูปแบบซึ่งในเร็ว ๆ นี้ ก.ล.ต. จะเริ่มเปิดเผยดัชนีชี้วัด โปรดติดตามกันนะครับ

นอกจากนี้ ก.ล.ต. ยังส่งเสริมให้ผู้ลงทุนสถาบัน เช่น บริษัทหลักทรัพย์ และบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ใช้ดัชนีข้างต้น เป็นปัจจัยในการพิจารณาลงทุนภายใต้การจัดการและพอร์ตการลงทุนของบริษัทของตน และเปิดเผยคะแนนดัชนีชี้วัดไว้ในบทวิเคราะห์หลักทรัพย์เพื่อให้ผู้ลงทุนทั่วไปทราบข้อมูล รวมทั้งสนับสนุนนักลงทุนสถาบันและนักลงทุนบุคคลทั่วไปให้เข้าไปในที่ประชุมผู้ถือหุ้นเพื่อซักถามบริษัทจดทะเบียนเรื่องนโยบายการต่อต้านคอร์รัปชันและตั้งข้อสังเกตในเรื่องดังกล่าวด้วยครับ

เนื่องจากธุรกิจหลักทรัพย์เป็นภาคธุรกิจที่รับผิดชอบดูแลเงินของผู้ลงทุนจำนวนมาก จึงสมควรจะต้องเป็นแบบอย่างที่ดี ก.ล.ต. จึงให้ความสำคัญเป็นพิเศษ โดย ก.ล.ต. จะเปิดเผยดัชนีชี้วัดของบริษัทหลักทรัพย์และบริษัทจัดการกองทุนทุกแห่งตั้งแต่ปี 2558 เป็นต้นไป เพื่อแสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นตั้งใจในการดำเนินการป้องกันการคอร์รัปชันของผู้ประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ครับ นอกจากนี้ ปัจจุบันผู้ประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ก็สนใจร่วมโครงการแนวร่วมCACครับ โดยมีบริษัทหลักทรัพย์ 4 แห่งและบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน 3 แห่งที่ได้รับประกาศนียบัตรรับรองการเป็นสมาชิกแนวร่วมแล้วครับ

ผมเชื่อว่าภาคธุรกิจและบุคคลากรที่เกี่ยวข้องในตลาดทุนไทย จะสามารถเป็นแบบอย่างที่ดี ที่จะช่วยป้องกันและลดการคอร์รัปชันได้ครับ และผลที่จะตามมาก็คือ ความน่าเชื่อถือ (Integrity) และความโปร่งใส (Transparency) ของตลาดทุนไทยในสายตาของผู้ลงทุนทั่วโลก และผมหวังว่าจะการริเริ่มของผู้ร่วมตลาดทุนนี้จะขยายไปสู่วงกว้าง หรือจะเป็นแบบอย่างที่ดีให้แก่กิจการอื่น ๆ ที่มิได้อยู่ในตลาดทุนด้วย หากทุกฝ่ายร่วมมือกัน ปัญหาคอร์รัปชันก็จะลดลงและนำไปสู่ความเข้มแข็งและความยั่งยืนของเศรษฐกิจและสังคมไทยต่อไปครับ


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : รวมพลัง ต่อสู้คอร์รัปชัน ชัยชนะอย่างยั่งยืน

view