สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

เงินโอน แก้จน คนขยัน แก้จนอย่างมีหลักการ

จากประชาชาติธุรกิจ

โดย ดร.ปัณณ์ อนันอภิบุตร

คอลัมน์ ระดมสมอง โดย ดร.ปัณณ์ อนันอภิบุตร สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.)

งานสัมมนาวิชาการประจำปีของสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เมื่อ 6 สิงหาคม 2557 มีการนำเสนอบทความวิชาการเรื่อง "เงินโอน แก้จน คนขยัน (Negative Income Tax : NIT)" หรือบางสื่อใช้คำว่า "การคืนภาษีคนจน" ซึ่งแม้ว่าข้อเสนอดังกล่าวจะปรากฏตามสื่อต่าง ๆ ไปบ้างแล้ว แต่ด้วยเหตุที่เรื่องนี้เป็น แนวคิดใหม่ จึงมีประเด็นที่มักเข้าใจคลาดเคลื่อน ผู้เขียนจึงขอนำประโยชน์ที่สำคัญของ NIT บางประเด็นมาอธิบาย

ช่วงประมาณ 10 ปีที่ผ่านมา รายจ่ายทางด้านสวัสดิการของรัฐบาลไทยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จนเป็นเม็ดเงินสูงกว่า 1 ล้านล้านบาท แต่ด้วยข้อจำกัดเกี่ยวกับฐานข้อมูลรายได้ของประชากร ทำให้รัฐบาลไม่สามารถแก้ปัญหาความยากจนให้ตรงกลุ่มเป้าหมายได้

บ่อย ครั้งที่รัฐบาลเลือกวิธีการช่วยเหลือคนยากจนและด้อยโอกาสในลักษณะ "การให้อย่างถ้วนหน้า" (Universal Coverage) แต่การจัดสวัสดิการโดยขาดการตรวจสอบรายได้ของ ผู้รับประโยชน์ ทำให้รัฐบาลมีภาระรายจ่ายสูงเกินจำเป็น และไม่สามารถแก้ไขปัญหาความยากจนได้อย่างมีประสิทธิภาพ

 



โดยผู้ที่เข้าถึงสวัสดิการที่รัฐจัดหาให้โดยเฉลี่ยระหว่างปี 2553-2555 เป็นผู้ที่ไม่จนถึงร้อยละ 90 และเป็นคนจนเพียงร้อยละ 10 เท่านั้น

สศค.จึง ศึกษาหาแนวทางในการนำ NIT มาใช้ดูแลคนจนอย่างเป็นระบบ โดยประยุกต์จากข้อเสนอของศาสตราจารย์ Milton Friedman นักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบล ซึ่งเขียนไว้ในหนังสือชื่อ "Capitalism and Freedom" เมื่อ ค.ศ. 1962 และในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ประเทศต่าง ๆ ในโลกได้ทยอยนำระบบ NIT มาประยุกต์ใช้ เช่น ออสเตรเลีย อังกฤษ แคนาดา สิงคโปร์ สวีเดน อิสราเอล เกาหลีใต้ นิวซีแลนด์ ซึ่งสะท้อนว่า NIT เป็น นวัตกรรมทางการคลัง ที่หลายประเทศให้ความสำคัญมากขึ้น

กล่าวสั้น ๆ ได้ว่า NIT จะช่วยในการ "หาตัวคนจน" โดยใช้เครื่องมือของระบบภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ซึ่งเป็นการประสานระบบภาษีอากรและระบบสวัสดิการให้เป็นหนึ่งเดียว อันเป็นการโอนเงินสดโดยมีเงื่อนไขว่าผู้ที่ได้รับเงินโอนจะต้องทำงานและยื่น แบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา

ประโยชน์ที่สำคัญของ NIT มีดังนี้ 1.NIT ไม่ส่งเสริมให้คนจนขี้เกียจ รอรับการช่วยเหลือจากรัฐ กล่าวคือ NIT มิใช่โครงการ "สวัสดิการ" แต่เป็นโครงการที่ต้อง "ทำงานแลก" เพื่อสร้างแรงจูงใจให้บุคคลพึ่งพาตนเองได้มากกว่าการรอรับสวัสดิการ โดยมีหลักการว่าหากคนจนขวนขวายพยายามอย่างเต็มที่แล้ว แต่ยังคงมีรายได้ไม่เพียงพอ รัฐบาลจึงจะยื่นมือเข้าไปช่วยเหลือ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สำหรับคนจน (มีรายได้ต่ำกว่าเส้นความยากจน) รัฐบาลจะโอนเงินให้ในอัตรา 20% จึงเป็นการส่งเสริมให้คนจนขยันมากขึ้น เพราะทุก ๆ บาทที่เขาทำงานเพิ่มขึ้น หารายได้ได้มากขึ้น เขาจะได้รับเงินสมทบจากรัฐบาลอีก 20 สตางค์

2.NIT ไม่ใช่โครงการประชานิยม กล่าวคือ "ประชานิยม" เป็นคำที่คลุมเครือ และการตีความของแต่ละคนย่อมแตกต่างกันไป อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนให้นิยาม "ประชานิยม" ว่า จะต้องเข้าเงื่อนไข 3 ประการ 1) เอื้อประโยชน์แก่กลุ่มคนบางกลุ่ม เช่น เกษตรกร 2) ผูกติดกับพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่ง ดังนั้นเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง ก็มีแนวโน้มที่พรรคการเมืองอื่นจะไม่ดำเนินโครงการนั้น ๆ ต่อไป 3) ไม่คำนึงถึงภาระทางการคลังเท่าที่ควร ซึ่งหากพิจารณาภายใต้เงื่อนไข 3 ประการนี้ จะพบว่า NIT ไม่เข้าเงื่อนไขใด ๆ ของประชานิยมเลย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง NIT ใช้เงินงบประมาณต่ำมากเมื่อเทียบกับโครงการเชิงประชานิยมในปัจจุบัน เพราะการ "หาตัวคนจน" ของ NIT ทำให้การจัดสรรงบประมาณของรัฐบาลเป็นไปอย่างถูกฝาถูกตัว จึงเป็นการใช้เงินภาษีของประชาชนอย่างประหยัดและมีประสิทธิภาพ

3.NIT มีต้นทุนในการบริหารจัดการต่ำมาก เพราะไม่ต้องจ้างคน และไม่ต้องมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเยอะ แต่สามารถใช้เพียง 1-2 หน่วยงานในการรับแบบแสดงรายการเงินได้ที่คนจนยื่น แล้วก็โอนเงินไปยังคนจน 4.NIT เป็นการเปลี่ยนระบบการจัดสรรเงินไปยังคนจน โดยไม่ต้องการให้ไอติมถูกเลียโดยคนจำนวนมากระหว่างทาง แล้วก็เหลือเฉพาะไม้ไอติมไปถึงมือคนจน แต่ NIT จะเป็นการนำไอติม "ทั้งแท่ง" ใส่มือคนจน นั่นคือเป็นการ "จ่ายเช็ค" หรือ "โอนเงินสด" เข้าบัญชีของคนจนโดยตรง 5.NIT เป็นการสร้างแรงจูงใจ "เชิงบวก" ในการจูงใจคนให้เข้าสู่ระบบภาษี ซึ่งปัจจุบันนั้นระบบภาษีเงินได้ของไทยมีแรงจูงใจ "เชิงลบ" อยู่แล้ว โดยมีบทลงโทษทางอาญาแก่ผู้ที่ยื่นแบบฯเท็จ และผู้ที่ไม่ยื่นแบบฯ แม้กระนั้นก็ตามผู้ที่อยู่ในระบบภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาของไทยยังคงมีสัด ส่วนน้อยมาก และเศรษฐกิจนอกระบบของไทยมีขนาดมโหฬาร (ถึงกว่า 50% ของ GDP) ซึ่ง NIT เป็นความพยายามที่จะทำให้คนที่อยู่ใต้โต๊ะ (นอกระบบ) ขึ้นมาบนโต๊ะ และถึงแม้ว่าในระยะสั้น รัฐบาลอาจจะต้องโอนเงินช่วยเหลือคนจนดังกล่าว แต่เมื่อคนกลุ่มนี้เข้ามาอยู่ในระบบแล้ว ในระยะยาวเมื่อเขามีรายได้มากขึ้น ก็จะกลายเป็นผู้อยู่ในระบบภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาไปโดยปริยาย มิใช่ว่าจะต้องหนีภาษีไปตลอดชีวิตดังเช่นที่เป็นอยู่มากมายในปัจจุบัน

6.NIT ไม่ใช่การ "สงเคราะห์" คนจน รวมทั้งไม่ใช่การที่คนจนมาขอ "ส่วนบุญ" จากรัฐบาล แต่ NIT เป็นการรับรอง "สิทธิของคนจน" ในการที่จะได้รับการดูแลจากรัฐบาลเพื่อให้สามารถดำรงชีวิตในสังคมได้อย่างมี ศักดิ์ศรี 7.NIT ไม่ใช่การสนับสนุนให้คนจนนำเงินไปใช้จ่ายในทางที่ไม่ถูกไม่ควร (เช่น นำไปซื้อเหล้า บุหรี่ ฯลฯ) แต่ NIT วางอยู่บนหลักการที่เชื่อในศักยภาพของมนุษย์ที่มีเหตุมีผล สามารถตัดสินใจได้ด้วยตนเอง โดยไม่ต้องรอให้รัฐบาลเข้ามาสั่งการ หรือทำตัวเป็น "คุณพ่อรู้ดี" ซึ่งถึงแม้คนจนอาจจะนำเงินไปใช้จ่ายในทางที่คุณพ่อเห็นว่าไม่ถูกไม่ควร คนจนก็จะต้องเป็นผู้รับผลกรรมของการกระทำของตนเอง อันจะเป็นการปลูกฝังค่านิยมที่ถูกต้องในสังคมให้ประชากรในสังคมมีวุฒิภาวะ และมีความรับผิดชอบมากขึ้นต่อพฤติกรรมของตนเอง8.NIT ช่วยสร้างฐานข้อมูลคนจน อันจะ ทำให้รัฐบาลสามารถนำข้อมูลนี้ไปใช้ในการทบทวนและออกแบบระบบสวัสดิการสังคม ได้อย่างถูกฝาถูกตัว และใช้เงินภาษีของประชาชนอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

ประการ สำคัญ NIT จะต้องไม่จบในตัวเอง แต่ข้อมูลคนจนที่รวบรวมได้จาก NIT จะนำไปสู่การออกแบบระบบสวัสดิการใหม่ รวมถึงการบูรณาการเข้ากับมาตรการอื่น ๆ เช่น การให้เงินทุนประกอบอาชีพแก่คนจน การพัฒนาฝีมือแรงงาน และการจัดหางานให้แก่คนจน เป็นต้น

หมายเหตุ : บทความนี้เป็นความเห็นส่วนตัวของผู้เขียน มิได้มีท่าทีหรือนโยบายของหน่วยราชการที่เกี่ยวข้องแต่อย่างใด


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : เงินโอน แก้จน คนขยัน แก้จน อย่างมีหลักการ

view