สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

หูทวนลม ปราบคอร์รัปชั่น ปม ไมค์แพง รับน้อง บิ๊กตู่

จากประชาชาติธุรกิจ

คอลัมน์ ชั้น 5 ประชาชาติ โดย วิไล อักขระสมชีพ

คอลัมน์ ชั้น 5 ประชาชาติ โดย วิไล อักขระสมชีพ oilday@yahoo.com

คะแนนนิยมจากประชาชนโดยรวม หนุนให้ "พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา" หรือ "บิ๊กตู่" นั่งนายกรัฐมนตรีคนที่ 29 และในฐานะหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ยังแรงดีไม่มีตก

แต่ทว่าเส้นทางรัฐบาล "บิ๊กตู่" เริ่มต้นก็เริ่มไม่ค่อยหอมหวนเสียแล้ว จากข่าวฉาว "ซื้อไมโครโฟนแพง" ในช่วงที่ตกแต่งห้องประชุมคณะรัฐมนตรี ทำเนียบรัฐบาล ด้วยงบประมาณ 67 ล้านบาท ขณะที่ "หม่อมหลวงปนัดดา ดิศกุล" รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี โยนไปว่า เรื่องนี้เป็นของส่วนราชการที่รับผิดชอบ คือ สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี กรมโยธาธิการและผังเมือง

ความด่างพร้อยของปม "ไมโครโฟนแพง" ตัวละ 1.4 แสนบาท จำนวน 181 ตัว คิดเป็นมูลค่ารวมราว 25.34 ล้านบาท เป็นการจัดซื้อจัดจ้างกับ "บริษัทอัศวโสภณ" ถือเป็นผลงาน "โบดำ" ชิ้นแรกที่ปูดออกมา โดย "เรืองไกร ลีกิจวัฒนะ" คณะทำงานฝ่ายกฎหมาย พรรคเพื่อไทย ที่ได้ยื่นร้องต่อ ป.ป.ช. ให้ตรวจสอบกรณีนี้ แม้ล่าสุด"บิ๊กตู่" จะแถลงข่าวร้อนในวันที่ 2 ของการเป็นนายกรัฐมนตรี (วันที่ 16 ก.ย. 57) ว่า ได้สั่งให้รื้อไมค์เหล่านี้แล้ว และทุกอย่างอยู่ในกระบวนการตรวจสอบอยู่ก็ตาม และให้เวลาตรวจสอบ 3 เดือน

ภาพ "การทุจริตคอร์รัปชั่น" ที่เกิดขึ้นนับเป็นการรับน้องรัฐบาล "บิ๊กตู่" ทีเดียว

เพราะปม "ไมค์แพง" ได้เป็นกระจกเงาสะท้อนถึงเนื้อในสังคม "ข้าราชการ-เอกชน" และอาจมีคนใกล้ชิดรัฐบาล "บิ๊กตู่" ด้วย ที่ทำ "หูทวนลม" กับคำประกาศวาระแห่งชาติ "ปราบทุจริตคอร์รัปชั่น"

เป็นที่รับรู้กันอยู่แล้วว่า รัฐบาล "บิ๊กตู่" ไม่มีฝ่ายค้านเข้ามาทำหน้าที่ตรวจสอบเหมือนรัฐบาลที่มาจากการ "เลือกตั้ง" โลกโซเชียลเน็ตเวิร์กจึงเป็นเหมือนช่องทางที่แชร์ได้ดี และทำให้ประชาชนตื่นตัวกันมากกับเรื่อง "ทุจริตคอร์รัปชั่น"

จึงยังมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่า นี่เป็นเพียงงานจัดซื้อจัดจ้างแบบงานเล็ก ๆ ก็มีกลิ่นโชย "ทุจริต" แล้ว ขณะที่การแถลงข่าวก็ไม่ได้มีความชัดเจนหรือนำข้อมูลข่าวสารหรือการทำสัญญาจัดซื้อจัดจ้างมาเปิดเผย อย่างโปร่งใสแต่อย่างใด

หากในระยะข้างหน้ารัฐบาล "บิ๊กตู่" ยังมีโครงการอีกมากมายที่จะต้องใช้งบประมาณอีกมูลค่าหลักล้านล้านบาทกันทีเดียว ผ่านโครงการต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นโครงการแก้ปัญหาปากท้องชาวบ้าน ราคายางตกต่ำ การเข็นโครงการเงินผัน (NIT) สู่มือคนจน การลงทุนโครงการสาธารณูปโภคโดยเฉพาะรถไฟฟ้าที่จ่ออยู่ไม่น้อย

"ทุจริตคอร์รัปชั่น" จะมีโอกาสเกิดขึ้นยิ่งกว่า "ซื้อไมโครโฟนแพง" หรือไม่อย่างไร

ผู้เขียน กำลังติดตามอยู่ว่า รัฐบาลชุดนี้จะมีการออกมาตรการหรือแนวทางที่จะตรวจสอบเรื่อง "ทุจริตคอรัปชั่น" ที่เข้มข้นกว่านี้หรือไม่

ขณะที่ "สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย" หรือ "TDRI" ได้เผยแพร่บทศึกษา "ข้อเสนอการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารของภาครัฐ สกัดคอร์รัปชั่นให้ตรงจุด" ออกมา ผู้เขียนเห็นว่า น่าจะเป็นแสงสว่างส่องให้รัฐบาลและข้าราชการได้บ้าง

โดย "ดร.เดือนเด่น นิคมบริรักษ์ และธิปไตร แสละวงศ์" ร่วมกันศึกษา และระบุว่า การต่อต้านคอร์รัปชั่นที่มีประสิทธิภาพ ตามหลักการ ต้องเกิดจากความร่วมมือระหว่างรัฐและภาคประชาสังคม โดย "รัฐต้องเปิดเผยข้อมูลข่าวสารให้ภาคประชาชนเข้าถึง" เพื่อตรวจสอบการบริหารงานของรัฐอีกทางหนึ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง "ข้อมูลการจัดซื้อจัดจ้างและการให้สัมปทานของรัฐ" ซึ่งจะสะท้อนให้เห็นถึงการใช้งบประมาณอย่างโปร่งใสและตรวจสอบได้

TDRI ชี้จุดบอดของพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. 2540 ที่กำหนดให้หน่วยงานของรัฐต้องเปิดเผยข้อมูลข่าวสารให้ประชาชนทราบ ว่า มีการบังคับใช้กฎหมายนี้ อย่างไร้ประสิทธิภาพ เนื่องจากมีข้อยกเว้นที่ค่อนข้างกว้าง เช่น เปิดให้เจ้าหน้าที่สามารถใช้วิจารณญาณจะเปิดเผยหรือไม่เปิดเผยข้อมูลที่ร้องขอ และข้ออ้างอีกว่าข้อมูลนี้กระทบความมั่นคง ความปลอดภัยต่อส่วนบุคคล ความเป็นส่วนตัวกระบวนการยุติธรรม เป็นต้น และกฎหมายนี้ก็ไม่มีบทลงโทษ หากไม่มีการเปิดเผยข้อมูลตามคำสั่งคณะกรรมการ แต่ว่ากลับมีบทลงโทษเจ้าหน้าที่ที่เปิดเผยข้อมูลที่ห้ามเปิดเผย

จึงดู "ย้อนแย้ง" กับวัตถุประสงค์ที่ต้องการใช้กฎหมายนี้ในการตรวจสอบการทำงานของรัฐบาล

ขณะที่คณะกรรมการวินิจฉัยการเปิดเผยข้อมูลข่าวสาร (กวฉ.) ของสำนักงานคณะกรรมการข้อมูลข่าวสารของราชการ (สขร.) ก็ยังมีกระบวนการพิสูจน์ที่ใช้เวลานานว่า ข้อมูลนี้เปิดเผยได้หรือไม่ แถมหน่วยงานนี้ที่ไม่มีอำนาจลงโทษเจ้าหน้าที่รัฐด้วย

จึงมีข้อเสนอให้ปรับปรุง พ.ร.บ.นี้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ โดยส่วนแรก ให้แก้ไขคำว่า "ข้อมูลข่าวสารของราชการ" เป็น "ข้อมูลข่าวสารสาธารณะ" เพื่อให้ครอบคลุมถึงข้อมูลข่าวสารของบริษัทเอกชน ซึ่งจัดทำบริการสาธารณะและวางหลักการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารที่อยู่บนพื้นฐาน "ผลประโยชน์สาธารณะ" ต้องมาก่อน "ผลประโยชน์ส่วนบุคคล" การกำหนดให้การปฏิเสธเปิดเผยข้อมูลจะต้องเป็นเอกสารที่จัดชั้นความลับล่วงหน้า เป็นต้น ส่วนที่ 2 ปรับปรุงเชิงสถาบัน คือ จัดให้ "สขร." เป็นองค์กรอิสระจากฝ่ายบริหารและการเมือง

ส่วนที่ 3 ควรให้ "เขี้ยวเล็บ" แก่ สขร.ในการลงโทษทางปกครองแก่หน่วยงานของรัฐที่ไม่เปิดเผยข้อมูลตามคำสั่ง และเสนอให้กระทรวงการคลัง และ สำนักงาน ก.พ. ให้ความสำคัญต่อการทำดัชนีชี้วัดการปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสาร เพื่อกำหนดค่าตอบแทนและแรงจูงใจให้พนักงาน หน่วยงานราชการและรัฐวิสาหกิจ

หากจะเดินหน้า "ปราบทุจริตคอร์รัปชั่น" ต้องเริ่มที่แก้กฎหมายให้ชัดเจนและเข้มข้น

ระยะทางพิสูจน์ม้า กาลเวลาพิสูจน์รัฐบาล "บิ๊กตู่" เส้นทางเดินจะเกิดข่าว "ทุจริตคอร์รัปชั่น" มากน้อยแค่ไหน


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : หูทวนลม ปราบคอร์รัปชั่น ไมค์แพง รับน้อง บิ๊กตู่

view