สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

4 สัญญาณบ่งบอกโรคหัวใจ สธ.ห่วงป่วยเพิ่ม แนะปรับพฤติกรรม

จาก ASTVผู้จัดการออนไลน์

        สธ. เผยโรคหัวใจคร่าชีวิตคนไทยกว่า 50,000 คน มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เผย 4 สัญญาณอาการบ่งบอก แนะปรับพฤติกรรมเสี่ยงลดโรคเบาหวาน ความดันสูง ไขมันสูง และอ้วน สกัดการเกิดโรคหัวใจ

4 สัญญาณบ่งบอกโรคหัวใจ สธ.ห่วงป่วยเพิ่ม แนะปรับพฤติกรรม
        นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า วันที่ 29 ก.ย. ทุกปี สมาพันธ์หัวใจโลก กำหนดให้เป็นวันหัวใจโลก (World Heart Day) โดยปัญหาโรคหัวใจเป็นสาเหตุการป่วยและการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรเป็นอันดับ 1 ของโลก องค์การอนามัยโลกรายงานปีละประมาณ 17 ล้านคน หากไม่เร่งป้องกันแก้ไข คาดว่าในปี 2573 หรือในอีก 16 ปี จะมีผู้เสียชีวิตเพิ่มเป็น 23 ล้านคน
       
       นพ.ณรงค์ กล่าวว่า หัวใจเป็นอวัยวะที่ทำงานหนักตลอด 24 ชั่วโมง ทำหน้าที่ในการส่งเลือดผ่านไปทางหลอดเลือดเพื่อไปเลี้ยงอวัยวะทุกส่วนในร่างกาย หากมีหลอดเลือดใดหลอดเลือดหนึ่ง มีปัญหาเชื่อมโยงกันคืออวัยวะปลายทางขาดเลือดไปหล่อเลี้ยง และหัวใจทำงานหนักขึ้น เกิดปัญหาหัวใจวาย และเสียชีวิต ส่วนใหญ่การป่วยและเสียชีวิตจากโรคนี้มักเป็นอย่างฉุกเฉิน ไม่รู้ตัวมาก่อน สำหรับสถานการณ์โรคหัวใจของไทย มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ในปี 2556 มีผู้เสียชีวิต 54,530 คน เฉลี่ยวันละ 150 คน หรือชั่วโมงละ 6 คน อัตราการป่วยต่อประชากรทุก 1 แสนคน
       
       “การแก้ไขปัญหา สธ. เน้นให้ทุกจังหวัดรณรงค์ปรับพฤติกรรมสุขภาพประชาชน ป้องกันการป่วย และจัดบริการรักษาพยาบาลผู้ที่ป่วยแล้ว โดยให้ทุกเขตสุขภาพตั้งศูนย์เชี่ยวชาญโรคหัวใจ สามารถให้การรักษาทั้งด้วยยา การผ่าตัด และขยายการให้ยาละลายลิ่มเลือดถึงโรงพยาบาลระดับอำเภอ เพื่อให้ประชาชนได้รับการช่วยเหลือขั้นต้นอย่างทันท่วงที ก่อนส่งรักษาต่อโรงพยาบาลใหญ่ เป็นการลดการเสียชีวิตของผู้ป่วย และมีบริการการแพทย์ฉุกเฉิน โดยประชาชนทุกพื้นที่ สามารถโทรขอความช่วยเหลือได้ที่หมายเลข 1669 ตลอด 24 ชั่วโมง” ปลัด สธ. กล่าว
       
       ด้าน นพ.โสภณ เมฆธน อธิบดีกรมควบคุมโรค (คร.) กล่าวว่า ผลวิจัยทั่วโลกยืนยันตรงกันว่าสาเหตุการป่วยโรคหัวใจเกือบ 100% มาจากโรคที่เกิดจากวิถีชีวิตและพฤติกรรมสุขภาพที่ไม่ถูกต้อง คือ เบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง และอ้วน ทำให้หลอดเลือดแข็งตัว ตีบตัน แคบ พฤติกรรมเสี่ยงคือ กินอาหารไม่สมดุล โดยเฉพาะรสหวาน มัน เค็ม กินผักผลไม้น้อย ใช้เครื่องอำนวยความสะดวกมากขึ้น ไม่ออกกำลังกาย การสูบบุหรี่ และดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งผู้ป่วยจาก 4 โรคคาดว่ามีไม่ต่ำกว่า 10 ล้านคน ขอให้ปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด ทั้งกินยาควบคุมอาการ ลดอาหารหวาน มัน เค็ม งดดื่มเหล้า งดสูบบุหรี่ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ และพบแพทย์ตามนัด เพื่อป้องกันโรคหัวใจและโรคแทรกซ้อนอื่นๆ เช่น หลอดเลือดสมองตีบ หรือแตก ไตวาย
       
       “ประชาชนที่สุขภาพปกติขอให้เน้นการป้องกัน ทำได้ตั้งแต่อายุ 6 ปีขึ้นไปจนถึงสูงอายุ คือ ออกกำลังกายทุกวัน อย่างน้อย 30 นาที ชั่งน้ำหนักตัวทุกวันตอนเช้าก่อนกินอาหาร เพื่อประเมินน้ำหนักตัวเอง กินอาหารที่มีน้ำตาล เกลือ ไขมันต่ำ เพิ่มการกินผัก ผลไม้ให้ได้วันละครึ่งกิโลกรัม งดสูบบุหรี่และดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ รวมถึงตรวจสุขภาพปีละ 1 ครั้ง เพื่อคัดกรองความผิดปกติของระบบต่างๆ ในร่างกาย ส่วนสัญญาณโรคหัวใจ ได้แก่ 1. เหนื่อย แน่นและเจ็บหน้าอก 2. นั่งพักแล้วอาการไม่ดีขึ้น และเป็นมากขึ้น 3. ผู้ป่วยโรคหัวใจใช้ยาอมใต้ลิ้นแล้วอาการไม่ดีขึ้น และ 4. มีอาการอื่นๆ ร่วม อาทิ คลื่นไส้ อาเจียน ใจสั่น หายใจไม่อิ่ม หากมีอาการดังนี้ ขอให้รีบไปพบแพทย์” อธิบดี คร. กล่าว


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : สัญญาณบ่งบอก โรคหัวใจ สธ.ห่วง ป่วยเพิ่ม ปรับพฤติกรรม

view