สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

กลุ่มการเมือง Tea Party

กลุ่มการเมือง Tea Party

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์




กลุ่มการเมือง Tea Party ของสหรัฐอเมริกาซึ่งต่อจากนี้ขอเรียกว่า “กลุ่มน้ำชา” เป็นกลุ่มอนุรักษนิยมเชิงเสรีนิยม

(แตกต่างจากกลุ่มอนุรักษนิยมที่นิยมเผด็จการ) ที่ต้องการลดหนี้ภาครัฐและการขาดดุลงบประมาณของรัฐโดยการลดทั้งรายจ่ายภาครัฐและการเก็บภาษีของรัฐ กลุ่มดังกล่าวเริ่มก่อตัวขึ้นประมาณปี 2007 ภายใต้พรรครีพับลิกันและสร้างกระแสทางการเมืองจนประสบความสำเร็จอย่างมากในการเลือกตั้งปี 2010 ทำให้พรรครีพับลิกันได้เสียงเพิ่มในวุฒิสภาและได้เสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎร

แต่ต่อจากนั้นก็มีจุดยืนที่ดุดันยิ่งขึ้นโดยหวังที่จะเอาชนะประธานาธิบดีโอบามาในการเลือกตั้งปี 2012 แต่ไม่ประสบความสำเร็จ ทำให้แสดงจุดยืนที่ต่อต้านโอบามามากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะในส่วนของนโยบายประกันสุขภาพและการลดรายจ่ายของรัฐจนกระทั่งเกิดการเผชิญหน้าทางการเมืองทำให้ผ่านกฎหมายงบประมาณไม่ได้ต้องปิดรัฐบาลชั่วคราว ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจสหรัฐและเศรษฐกิจโลกจนในที่สุด กลุ่มน้ำชาสูญเสียความนิยมไปมากทั้งภายในพรรครีพับลิกันและต่อสาธารณชนโดยรวม ทำให้ผู้สมัครรับเลือกตั้งของกลุ่มน้ำชาถูกคัดออกจากการส่งผู้สมัครของพรรครีพับลิกันเกือบทั้งหมดในการเลือกตั้งกลางสมัยประธานาธิบดีในปลายปี 2014 ที่จะเกิดขึ้นเดือนพฤศจิกายนนี้

เหตุที่เขียนถึงกลุ่มน้ำชาก็เพราะว่าผมอยากเขียนถึงความสำคัญของเศรษฐกิจโดยรวมและโดยเฉพาะอย่างยิ่งนโยบายการคลังและผลพวงที่จะเกิดขึ้นในมิติของการเมืองซึ่งกลุ่มน้ำชานั้นอีกมิติหนึ่งก็ต่อต้านธุรกิจขนาดใหญ่โดยเฉพาะสถาบันการเงิน (ที่เรียกกันสั้นๆ ว่าWall Street) ที่มักมีอำนาจทางการเมืองและเรียกร้องให้รัฐบาลเร่งใช้งบประมาณอุ้มสถาบันการเงินและกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งกลุ่มมองว่าเป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่ทำให้รัฐบาลมีภาระหนี้สินเพิ่มขึ้นมิตินี้จะมีความนึกคิดคล้ายคลึงกับกลุ่มการเมืองฝ่ายซ้ายที่ต่อต้าน Wall Street เช่นกัน

บางคนอาจสงสัยว่าทำไมกลุ่มต่อต้านการใช้จ่ายฟุ่มเฟือยและสร้างหนี้สาธารณะจึงต้องตั้งชื่อว่า “กลุ่มน้ำชา” ผมจึงขอเล่าถึงการที่กลุ่มน้ำชาหยิบยืมชื่อและอุดมการณ์ของ Boston Tea Party มาใช้ประโยชน์ทางการเมือง ซึ่งพอสรุปเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ของการต่อสู้เพื่อการปลดปล่อยสหรัฐอเมริกาจากการเป็นเมืองขึ้นของอังกฤษได้ดังนี้

1. อเมริกาเป็นเมืองขึ้น (colony) ที่อังกฤษปกป้องคุ้มครอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการต่อสู้กับฝรั่งเศส (ที่มีถิ่นฐานในแคนาดา) และอินเดียนแดงที่เรียกว่า French and Indian War (ปี ค.ศ.1754-1763) เมื่อสงครามที่ยืดเยื้อจบสิ้นลง สถานะทางการเงินของรัฐบาลอังกฤษก็ย่ำแย่ลงทำให้รัฐสภาอังกฤษเริ่มเก็บภาษีคนอเมริกันมากขึ้น โดยมองว่าคนอเมริกันควรร่วมรับภาระในการป้องกันประเทศทั้งในอดีตและในอนาคต

2. แต่กฎหมายเก็บภาษีดังกล่าวได้สร้างความขัดแย้งกับชาวอเมริกันอย่างมากที่มองว่าหมดความจำเป็นแล้วที่จะต้องเสียภาษีเพื่อให้มีกองกำลังทหารอังกฤษประจำการอยู่ที่อเมริกาและที่สำคัญที่สุดคือการให้เหตุผลว่ารัฐสภาอังกฤษไม่ควรมีอำนาจเก็บภาษีคนอเมริกันได้เพราะเป็นการขัดต่อหลักประชาธิปไตยและรัฐธรรมนูญ เพราะไม่มีผู้แทนราษฎรอเมริกันในรัฐสภาอังกฤษซึ่งเป็นที่มาของการอ้างหลักการว่า “no taxation without representation” หมายความว่าการเก็บภาษีจากราษฎรนั่นย่อมต้องได้รับความเห็นชอบจากราษฎร (หรือผู้แทนราษฎร) เสียก่อน

3. อย่างไรก็ดีรัฐสภาอังกฤษยืนยันว่ามีอำนาจเก็บภาษีเมืองขึ้นทั้งหมดและได้พยายามผ่านกฎหมายภาษีหลายฉบับโดยเฉพาะอย่างยิ่งกฎหมาย Stamp Act (ปี 1765) ซึ่งเก็บภาษีกระดาษทุกชนิด เช่น หนังสือพิมพ์ แผ่นพับ ประกาศนียบัตร ใบอนุญาตต่างๆ หรือแม้กระทั่ง ไพ่และแสตมป์ ทำให้เกิดการต่อต้านอย่างรุนแรง จนในที่สุดรัฐสภาอังกฤษต้องยอมยกเลิกกฎหมายดังกล่าวในปีต่อมา แต่ก็ได้พยายามรักษาหลักการโดยการออกกฎหมายเก็บภาษีสินค้าหลายประเภท รวมทั้งชา (ที่นำเข้าจากจีน) ที่ได้รับความนิยมอย่างมากที่เรียกว่า Townsend Act แต่ก็ต้องยกเลิกกฎหมายดังกล่าวอีกในปี 1770 ยกเว้นในส่วนที่เก็บภาษีเพียง 3 สต.สำหรับใบชาเพื่อรักษาสิทธิที่จะเก็บภาษีประเทศเมืองขึ้น

4. เพื่อแสดงให้เห็นว่ากฎหมายมีผลใช้บังคับและเพื่อช่วยเหลือบริษัท East India Company (ที่กำลังมีปัญหาทางการเงิน) รัฐสภาอังกฤษจึงผ่านกฎหมาย Tea Act (1773) กำหนดภาษีใบชาที่ 3 สต.และได้ให้สิทธิบริษัทดังกล่าวแต่ผู้เดียวในการนำใบชา 600,000 ปอนด์ไปขายในอเมริกา แต่เมื่อเรือไปถึงท่าเรือของเมืองต่างๆ ก็ถูกต่อต้านอย่างรุนแรง เรือหลายลำจึงหันเรือกลับเช่นที่นครนิวยอร์กและฟิลาเดลเฟีย แต่ที่มลรัฐ Massachusetts (เมืองท่า Boston) ผู้ว่าการรัฐตัดสินใจ “ชน” กับผู้ที่ต่อต้านเพราะได้แต่งตั้งให้ลูกชายเป็นผู้แทนที่จำหน่ายใบชา ซึ่งทำให้ผู้ขายชาชาวอเมริกันรายอื่นๆ ไม่สามารถแข่งขันได้เพราะบริษัท East India Company ไม่ต้องจ่ายภาษีจึงเป็นผู้ผูกขาดตลาดชาในอเมริกาทั้งหมด

5. เหตุการณ์ที่เรียกขานกันว่า Boston Tea Party เกิดขึ้นตอนเย็นของวันที่ 16 ธันวาคม 1773 โดยชาวอเมริกันประมาณ 150 คนได้บุกขึ้นเรือ 3 ลำที่บรรทุกใบชาแล้วเทใบชาจาก 342 ลังลงทะเล เทียบเท่ากับการทำลายใบชาที่ชงชาได้ 18.5 ล้านถ้วย โดยอ้างว่าต้องการต่อต้านการเก็บภาษีจากประชาชนโดยไม่ได้รับความเห็นชอบจากประชาชน (กลุ่มพ่อค้าใบชาของอเมริกันที่เสียประโยชน์เข้าร่วมปฏิบัติการด้วย)

6. รัฐสภาอังกฤษตอบอย่างรุนแรงโดยการออกกฎหมายหลายฉบับในปี 1774 ที่รับอำนาจการปกครองตนเองของมลรัฐ Massachusetts และสั่งปิดท่าเรือเมืองบอสตันจนกว่าพลเมืองบอสตันจะจ่ายเงินทดแทนความเสียหายทั้งหมด นอกจากนั้นก็ยังขยายอำนาจของรัฐบาลอังกฤษไปยังเมืองขึ้น (มลรัฐ) ในอเมริกาทั้ง 13 แห่ง ทำให้เมืองขึ้นต่างๆ ไม่พอใจอย่างมากจึงเรียกประชุมร่วมกันที่เรียกว่า First Continental Congress โดยการรวมตัวดังกล่าวถือได้ว่าเป็นจุดเริ่มต้นของการทำสงครามกับอังกฤษที่เรียกว่า American Revolutionary War ซึ่งนำไปสู่การประกาศอิสรภาพจากอังกฤษในการประชุมครั้งที่ 2 ของเมืองขึ้นทั้ง 13 เมืองในวันที่ 4 กรกฎาคม 1776 (Declaration of Independence) โดยการสู้รบกับอังกฤษ (ซึ่งต่อมาฝรั่งเศส สเปนและเนเธอร์แลนด์ได้เข้ามาช่วยอเมริกา) ยืดเยื้อต่อเนื่องถึงปี 1783 ที่อังกฤษยอมลงนามในสนธิสัญญาปารีสให้การยอมรับประเทศสหรัฐอเมริกา

การเก็บภาษีโดยมิได้ขอความเห็นชอบของประชาชนทำให้เกิดการต่อต้าน และสงคราม จนกระทั่งอังกฤษต้องสูญเสียเมืองขึ้นที่สำคัญที่สุด จึงเป็นที่มาของ Boston Tea Party ครับ


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : กลุ่มการเมือง Tea Party

view