สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ได้กลับเป็นลูกหนี้ดี อย่าคิดฉวยโอกาส

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
ฐิตารีย์ ลิขิตธนธรรม



และแล้วเมื่อวันที่ 19 ก.ย. 2557 ก็มีการประกาศในราชกิจจานุเบกษา ไปเรียบร้อยแล้วสำหรับประกาศของ

คณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลเครดิต เรื่อง อายุข้อมูลในการประมวลผลข้อมูลของบริษัทข้อมูลเครดิต และการส่งข้อมูลของสมาชิก หลังจากนี้เจ้าหนี้สถาบันการเงินทั้งหลายที่เป็นสมาชิกของบริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ หรือเครดิตบูโร จะต้องส่งข้อมูลลูกหนี้ที่ค้างชำระเกิน 90 วัน หรือลูกหนี้ที่กลายเป็นเอ็นพีแอล ให้กับเครดิตบูโรเพียงแค่ 5 ปี เท่านั้น และหลังจากนั้นเครดิตบูโรก็จะแสดงข้อมูลให้สมาชิกเจ้าหนี้รายอื่น ตรวจสอบต่อไปได้อีก 3 ปี หรือรวมแล้ว 8 ปี เท่ากับว่าประวัติการเป็นหนี้เสียของลูกหนี้จะถูกเก็บไว้ในเครดิตบูโรแค่ 8 ปีเท่านั้น หลังจากนั้นจะถูกกดสวิตช์ลบบัญชีดำ หรือแบล็กลิสต์เหล่านั้นทิ้งไปในฉับพลัน

ลูกหนี้เอ็นพีแอลเหล่านี้ ทางคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลบัตรเครดิตระบุว่ามีจำนวนลูกหนี้ 6 แสนราย และส่วนใหญ่หรือ 95% เป็นลูกหนี้รายย่อย ที่เหลืออีก 5% เป็นนิติบุคคล โดยหวังว่าการปรับหลักเกณฑ์ดังกล่าว จะช่วยให้เกิดความเป็นธรรม และลดอุปสรรคในการเข้าถึงสินเชื่อของลูกหนี้ เพราะส่วนใหญ่เป็นลูกหนี้ตั้งแต่วิกฤตเศรษฐกิจมียอดหนี้ไม่มากมายนัก และคดีก็หมดอายุความไปแล้วและยังเป็นการลดปัญหาหนี้นอกระบบในทางอ้อมด้วย ขณะเดียวกันมุ่งหวังว่าลูกหนี้ที่ได้รับการลบประวัติการค้างชำระหนี้ไปแล้ว จะกลับมาเป็นลูกหนี้ที่ดีมีวินัยทางการเงินมากขึ้น

แต่เดี๋ยวก่อน…ลูกหนี้ทั้งหลายอย่าเพิ่งเฮ แม้ว่าประวัติของท่านจะใสสะอาดในเครดิตบูโรแล้ว แต่อย่าลืมว่าไม่มีกฎหมายใดที่สั่งให้เจ้าหนี้ลบข้อมูลภายในได้ สถาบันการเงินทั้งหลายยังคงเก็บข้อมูลที่ตัวเองมีอยู่ โดยเฉพาะธนาคารขนาดใหญ่ที่มีการจัดเก็บฐานข้อมูลลูกค้าจำนวนมากและเก็บมาอย่างยาวนาน ขณะที่ลูกหนี้รายหนึ่งมักไม่ได้มีธุรกรรมมากกว่า 1 สถาบันการเงินอยู่แล้ว สิ่งที่อาจเกิดขึ้นคือธนาคารทั้งหลายต้องเข้าไปไล่เซฟข้อมูลลูกหนี้เอ็นพีแอลมาเก็บไว้ก่อนเพื่อเป็นฐานข้อมูลตัวเอง หากเครดิตบูโรล้างรายชื่อไปก็ยังมีข้อมูลของตัวเองเก็บใช้สำหรับวิเคราะห์สินเชื่อของตัวเองในอนาคต

อย่างไรก็ตามในกรณีที่เป็นสถาบันการเงินรายใหม่ที่ยังมีข้อมูลไม่มากนัก อาจเห็นการปรับตัวไปสู่ความระมัดระวังมากขึ้น เน้นลูกหนี้เดิมที่มีข้อมูลอยู่ ส่วนลูกหนี้ใหม่ที่ไม่มีข้อมูลก็อาจลดโอกาสในการให้สินเชื่อที่ไม่มีหลักประกัน คิดดอกเบี้ยในอัตราสูง หรือเรียกหลักประกันจากลูกหนี้เพิ่มขึ้นเพื่อเป็นการชดเชยความเสี่ยงนั่นเอง

เสียงสะท้อนจากผู้บริหารสถาบันการเงินในกรณีดังกล่าว คือความเสียดายข้อมูลเครดิต ที่ถือเป็นแหล่งศึกษาพฤติกรรมลูกหนี้ แม้จะไม่ได้เป็นปัจจัยหลักในการตัดสิน ว่าแบงก์จะให้สินเชื่อหรือไม่ก็ตาม เพราะข้อมูลประวัติการชำระหนี้เป็นเพียงหนึ่งปัจจัยที่ต้องดูประกอบเข้ากับข้อมูลในปัจจุบัน โดยเฉพาะความสามารถในการชำระหนี้เป็นหลัก นอกจากนี้แบงก์ยังห่วงอีกว่าอาจมีลูกหนี้เอ็นพีแอลกลุ่มหนึ่ง ที่คิดไม่ดีฉวยโอกาสไม่เคลียร์หนี้ที่ยังค้างอยู่ แต่ยอมรอไปอีกสักปีสองปีเพื่อรอให้เครดิตบูโรลบประวัติไปเสียก่อน

สรุปแล้วการล้างข้อมูลเหล่านี้อาจจะเปิดโอกาสให้ลูกหนี้ลืมตาอ้าปากได้อีกครั้ง ได้จริงตามวัตถุประสงค์ของทางการ และนั่นคือโอกาสที่ดีของลูกหนี้ที่มีเจตนาดีแต่โชคอาจไม่เข้าข้าง เพราะเมื่อเจ้าหนี้เห็นถึงความตั้งใจจริงแล้วจะให้น้ำหนักกับ”อดีต”เพียงส่วนเดียว ในทางกลับกันหากเป็นลูกหนี้ที่ฉวยโอกาสนี้ ในการสร้างพฤติกรรมไม่ดีผิดไปจากเจตนารมณ์ของผู้แก้กฎหมายแล้ว ก็อาจจะต้องยอมรับถ้าจะถูกแบงก์กฏิเสธการให้สินเชื่อ แม้จะไม่ติดแบล็กลิสต์แล้วก็ตาม


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : ได้กลับเป็นลูกหนี้ดี อย่าคิดฉวยโอกาส

view