สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

เปิดใจเยาวชนภูฏาน ตามรอย ในหลวง สร้างโรงเรียนเกษตรทฤษฎีใหม่ในบ้านเกิด

จากประชาชาติธุรกิจ

“พวกเราอยากสร้างอาชีพให้คนในประเทศภูฏาน เราไม่อยากเป็นแค่พนักงานบริษัท แต่อยากเอาความรู้ไปสอนคนที่นั่น เราจะสร้างโรงเรียนเกษตรอินทรีย์ในภูฏาน โดยเปิดโอกาสให้ทุกคนได้เรียนฟรีอย่างเท่าเทียม จบไปแล้วสามารถทำเกษตรอินทรีย์ได้ เป็นการสร้างงาน สร้างคน และสร้างความมั่นคงด้านอาหารของประเทศ เราอยากให้ประเทศของเรายึดหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว...”


นี่เป็นจุดมุ่งหมายของ 4 เยาวชนภูฏาน ที่ดั้นด้นมาร่ำเรียนถึงประเทศไทย ด้วยเชื่อว่าศาสตร์พระราชาของไทยนั้นจะทำให้ประเทศเขารอดได้อย่างยั่งยืน


โซ นัม ลุนดุบ (Sonam Lhundup) และลุนดุบ วังโม (Lhundup Wangmo) สองพี่น้อง ทายาทที่ปรึกษาพระมหากษัตริย์ด้านการศึกษา (Royal Education Consultant) พร้อมด้วยสหายอีก 2 คน โซนัม เดมา (Sonam Dema) และ โชกิ ดอร์จิ (Choki Dorji) อายุ 20-21 ปี พวกเขาเดินทางมาจากราชอาณาจักรภูฏานมายังประเทศไทย เพื่อมาศึกษาต่อในระดับปริญญาตรีที่โรงเรียนปูทะเลย์มหาวิชชาลัย ซึ่งเป็นโรงเรียนทางเลือก ที่ก่อตั้งขึ้นตามหลักคิดจากพระราชนิพนธ์พระมหาชนก ยึดหลัก “บวร” หรือ บ้าน วัด โรงเรียน เป็นแกน  การเรียนการสอนใช้การประยุกต์หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงตามคำสอนของพระบาท สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวลงสู่การปฏิบัติในวิถีชีวิตผ่านฐานเรียนรู้กสิกรรม ธรรมชาติ เน้นการพึ่งตนเองเริ่มจากปัจจัย 4 และวิถีบุญ ทาน ธรรม


โซ นัม ลุนดุบ เล่าถึงแรงจูงใจของการสมัครเข้าเรียนที่โรงเรียนปูทะเลย์ฯว่า คุณพ่อของเขาซึ่งเป็นที่ปรึกษาพระมหากษัตริย์ด้านการศึกษาได้เดินทางไปดูงาน ที่ประเทศมาเลเซียเพื่อไปหาแนวทางเรื่องโรงเรียนสีเขียวและการทำเกษตร อินทรีย์ และได้มีโอกาสพบปะพูดคุยกับพระอาจารย์สังคม ธนปัญโญ ผู้ก่อตั้งโรงเรียนปูทะเลย์มหาวิชชาลัย ซึ่งเป็นโรงเรียนทางเลือกและมีการเรียนการสอนตามศาสตร์พระราชา และได้มีโอกาสเดินทางมาศึกษาดูงานที่นี่ก่อนตัดสินใจส่งพวกเขา 4 คนซึ่งกำลังจะจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 มาศึกษาต่อปริญญาตรีที่นี่ โดยมีเป้าหมายว่า เพื่อกลับไปสร้างโรงเรียนที่สอนเกี่ยวกับเกษตรอินทรีย์ที่ภูฏาน เพราะที่ภูฏานมีนโยบายประกาศออกมาว่าต้องปลูกพืชปลอดสารเคมี 100 เปอร์เซ็นต์


“แรกๆ พวกเราก็ไม่อยากมา เพราะต้องจากบ้านไกลถึง 4 ปี แต่วันหนึ่งผมได้ดูรายการหวงแผ่นดิน มีการสัมภาษณ์อาจารย์ยักษ์ (ดร. วิวัฒน์ ศัลยกำธร ผู้ร่วมก่อตั้งโรงเรียนปูทะเลย์ฯ) เห็นภาพผืนดินแห้งแล้งแม้แต่จอบก็ฟันไม่ลง แต่อาจารย์ยักษ์สามารถเปลี่ยนพื้นที่แห้งแล้งให้กลายเป็นสีเขียว ผมเลยประทับใจและอยากมาเรียนที่นี่”


เช่นเดียวกับโซนัม เดมา ตอนแรกก็สองจิตสองใจ เพราะคิดว่าถ้าเรียนเกษตร เรียนที่ภูฏานก็ได้ ทำไมต้องมาเรียนไกลถึงเมืองไทย แต่พ่อของเธอซึ่งมีอาชีพชาวนาอธิบายว่า การมาเมืองไทยไม่ใช่มาเรียนแค่การเกษตร แต่เป็นการเรียนรู้เกษตรทฤษฎีใหม่ตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เรียนการจัดการดิน น้ำ ป่า ตามศาสตร์พระราชา การจัดการพื้นที่บนภูเขาสูง เพื่อเอาความรู้ไปเผยแพร่ให้คนที่ภูฏาน ดังที่ในหลวงท่านทรงตรัสไว้ว่า “ยิ่งให้ไป ยิ่งได้มา” เลยคิดว่า คุ้มที่จะมา


พวกเขาเล่าต่อว่า ประเทศภูฏานปัจจุบันเริ่มเหมือนเมืองไทยในอดีต คือคนเริ่มทิ้งถิ่นฐานเพื่อเข้ามาใช้แรงงานในเมือง นักศึกษาที่เรียนในเมืองพอเรียนจบก็ไม่กลับไปทำงานที่บ้านเกิดตัวเอง ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ สังคมกำลังจะล่มสลาย เพราะภาคกสิกรรมต้องใช้แรงงาน ใช้กำลังคน แต่หนุ่มสาวไปทำงานในเมืองหมด ดังนั้นเราตั้งใจมาเก็บเกี่ยวความรู้เพื่อไปพัฒนาฟื้นฟูที่ดินทำกิน คนจะได้ไม่ทิ้งถิ่นฐาน  มีงานทำ เลี้ยงตัวเองได้ และกลับมาใช้ชีวิตร่วมกันในครอบครัว นั่นคือสาเหตุที่พวกเขาตัดสินใจมาที่นี่ เพราะเขาเชื่อในหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงว่าจะช่วยยกระดับความเป็นอยู่ของชาวบ้านได้จริง


พวกเขายังบอกอีกว่า คนประเทศภูฏานเคารพพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมาก เพราะที่นั่นเปิดสารคดีเกี่ยวกับพระราชกรณียกิจของในหลวงอยู่เสมอ แม้แต่สถานีโทรทัศน์ประจำชาติภูฏาน เคยออกสารคดีที่สมเด็จพระราชาธิบดีจิกมี เสด็จมาเมืองไทยและแสดงความเคารพต่อในหลวงอย่างสูงสุด ด้วยการจรดหน้าผากลงกับพื้น เป็นภาพที่ประทับใจชาวภูฏานมาก พวกเขาจึงเชื่อว่าถ้ากษัตริย์เขาแสดงความเคารพแบบนี้แสดงว่ากษัตริย์ของไทยต้องดีมาก ดังนั้นพวกเขาจึงรักในหลวงไม่น้อยไปกว่าคนไทย


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : เปิดใจ เยาวชนภูฏาน ตามรอยในหลวง สร้างโรงเรียนเกษตรทฤษฎีใหม่ บ้านเกิด

view