สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ฝรั่งต้ม

ฝรั่งต้ม

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์




นวัตกรรมเป็นเรื่องของฝั่งบริษัทโดยแท้ ขยันทำออกมา ด้วยการขยันตะบี้ตะบันลงทุนลงแรง แต่ก็ไม่ได้สำเร็จเสมอไป

นิตยสาร Forbes เจ้าประจำนักจัดอันดับทางธุรกิจแทบทุกสิ่งทุกอย่างในสากลโลก มาปีนี้ Forbes จัดอันดับบริษัทนวัตกรรมสูงสุด 100 อันดับในโลก ปรากฏว่า มีบริษัทสัญชาติไทยแท้เข้าไปอยู่ด้วย มิหนำซ้ำอยู่ถึงอันดับ 8 ของโลก คือ บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) แซงหน้าบริษัทที่คนไทยน่าจะรู้จักกันดีอาทิ Hermes, Rakuten, Marriott, Coca-Cola, H&M, Colgate-Palmolive, Hershey, Procter&Gamble, Danone, Starbucks และ Baidu

ผมเอาหัวจริงๆ คิด และเอาหัวอย่างอื่นคิดอย่างถี่ถ้วน พร้อมทั้งอ่านเอกสารโดยเฉพาะหมายเหตุของการจัดอันดับในครั้งนี้ประกอบด้วยแล้ว ผมมีความคิดไปในทางเดียวเท่านั้นคือ งงได้โล่จริงๆ

สิ่งที่เรียกว่า ค่าพรีเมี่ยมนวัตกรรมของเขานั้น ก็คือ อัตราส่วนระหว่างความเชื่อมั่นของนักลงทุนที่มีต่อบริษัท สะท้อนในราคาหุ้น เทียบกับมูลค่าพื้นฐานของบริษัท ซึ่ง (Forbes เชื่อว่า) น่าจะเป็นมูลค่าที่มาจากความคาดหวังของนักลงทุนต่อผลการพัฒนานวัตกรรมของบริษัท โดยอาจออกมาในรูปของผลิตภัณฑ์ใหม่ บริการใหม่ หรือตลาดใหม่

เงื่อนไขของบริษัทที่จะเข้ามาในลิสต์นี้ได้คือ ต้องมีมูลค่าตลาด (มูลค่ารวมของหุ้นในตลาด) ไม่น้อยกว่า 10,000 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 300,000 ล้านบาท โดยยังจะต้องลงทุนทำวิจัยและพัฒนาอย่างน้อยในสัดส่วนที่ไม่ต่ำกว่า 2.5% ของยอดขาย และมีข้อมูลประกอบต่อเนื่อง 7 ปี

สิ่งผิดปกติในความเห็นส่วนตัวของผมคือ อัตราส่วน 2.5% นั้น ใช้สำหรับประเทศเป็นหลัก ส่วนองค์กรหรือบริษัทนั้น ส่วนใหญ่หากเป็นบริษัทที่มีนวัตกรรมหรือมุ่งมั่นทำนวัตกรรมจริงๆ 2.5% ไม่พอทำน้ำอิ้วหรอกครับ บริษัทที่ทำนวัตกรรมจริงๆ ลงทุนเรื่องการพัฒนาสินค้าหรือบริการใหม่มากกว่านี้หลายเท่านัก ถามว่าเท่าไหร่ ขั้นต่ำเบาะๆ ก็ต้อง 5% ขึ้นไปครับ ยิ่งถ้าหากว่าเป็นธุรกิจที่ใช้เทคโนโลยีเข้มข้นนั้น อาจลงทุนทำวิจัยและพัฒนามากถึง 20-30% ของยอดขาย

เพราะนวัตกรรมเปลี่ยนแปลงเร็วไงละครับ หากเราไม่จ่ายเพื่อแสวงหาเทคโนโลยีใหม่ของเราเองในวันนี้ เราอาจจะเสียเปรียบคู่แข่งอย่างมาก เวลาที่คู่แข่งเขาออกโปรดักส์ใหม่ออกมา

ความรู้ต้องใช้เวลา นวัตกรรมก็เช่นเดียวกัน ต้องใช้ทั้งเงินและเวลาในการสร้างสรรค์ พัฒนา และบ่มเพาะ ซึ่งอาจจะเจ๊งก่อนออกตลาด หรือออกตลาดไปแล้วยังเจ๊งก็ได้ ไม่มีความแน่นอน

เพราะมันเป็นเรื่องใหม่ ของใหม่ ไอเดียใหม่ ความเสี่ยงก็เลยมีตามมาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ทั้งนี้ ไม่ได้แปลว่า ไม่ควรทำนวัตกรรม เพราะถ้าไม่ได้ทำนวัตกรรม ก็จะพลาดโอกาสในการเติบโตทางธุรกิจทั้งระยะสั้นและระยะยาว

นวัตกรรมจึงเป็นหน้าที่ หรือเป็นภาคบังคับที่ทุกองค์กรต้องทำ...ถ้าคิดจะอยู่รอดแล้วเติบโต

ย้อนกลับมาที่เรื่องของ Forbes อีกที สมมติว่าเราเอาตัวเลขของ Forbes มาใช้ ก็คาดการณ์ได้ว่า ซีพี ออลล์ นี้ใช้เงินลงทุนเพื่อสร้างนวัตกรรมประมาณไม่ต่ำกว่า 7,000 ล้านบาท ในปี 2556

นี่เป็นตัวเลขในไซส์ที่มหึมามากเกินจินตนาการจริงๆ เพราะองค์กรวิจัยและพัฒนาขนาดใหญ่ของประเทศยังได้รับงบประมาณประจำปีน้อยกว่านี้ด้วยซ้ำ หรือถ้าจะพูดกันตรงไปตรงมา แปลได้ว่า ซีพีออลล์ มีการลงทุนนวัตกรรมมากกว่าสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ซึ่งเป็นหน่วยงานเฉพาะด้านวิจัยที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย!

สมมติว่า นี่เป็นเรื่องจริง ยังไงก็ยังลงทุนมากกว่าบริษัทเน้นเทคโนโลยีเข้มข้นที่ประกาศต่อสาธารณะอย่างเปิดเผยว่าจะส่งเสริมสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีของตัวเอง เช่น เอสซีจี หรือเครือปูนซิเมนต์ไทย ที่ซีอีโอท่านประกาศอย่างแข็งกร้าวว่าจะลงทุนทำการวิจัยและพัฒนาในระดับ 1,000 ล้านบาทต่อปี

ณ จุดนี้ กระตุกต่อมความสงสัยของผมอย่างแรง

ยิ่งไปกว่านั้น ตัวเมตตริกซ์ที่ Forbes ทำไว้ ยังขาดความเรียบลื่นอย่างมากด้วย เมื่อดูอัตราการเติบโตของยอดขายใน 12 เดือนที่ผ่านมา และอัตราผลตอบแทนรายปีย้อนหลัง 5 ปี จะเห็นว่าตัวเลขกระโดดไปมาไม่สัมพันธ์กับค่าพรีเมี่ยมนวัตกรรมเลย บางบริษัทมีอัตราการเติบโตที่ต่ำ แต่กลับมีค่าพรี่เมี่ยมนวัตกรรมสูง

เช่น บริษัทอย่าง Salesforce.com มียอดขายเติบโต 35.6% ในปีที่ผ่านมา มีค่าพรีเมี่ยมนวัตกรรมสูงถึง 75.9% ในขณะที่บริษัท ซีพี ออลล์ มียอดขายเติบโต 71.57% ในปีที่ผ่านมา แต่กลับมีค่าพรีเมี่ยมนวัตกรรมแค่ 57.8%

ผมสงสัยว่า Forbes จัดอันดับครั้งนี้ อาศัยการมองจากฝั่งอุปสงค์เป็นหลัก คือ ดูจากสิ่งที่นักลงทุนให้ “ค่า” กับบริษัทนั้นๆ เป็นค่าในแง่ของความคาดหวัง ซึ่งสมควรที่จะสะท้อนให้เห็นได้จากอัตราการเติบโตในอดีตที่ผ่านมา

ผมคิดว่า นี่เป็นการชี้เป้าที่ผิดอย่างแรง

เพราะนวัตกรรมเป็นเรื่องของฝั่งบริษัทโดยแท้ ขยันทำออกมา ด้วยการขยันตะบี้ตะบันลงทุนลงแรง ก็ไม่ได้แปลว่า จะประสบความความสำเร็จเสมอ

ต่อให้เคยมีประวัติดีเด่นอย่างไร ก็อาจล้มไปหน้าตาเฉยอย่างไม่รู้เนื้อรู้ตัวก็ได้

ดูบริษัทอย่าง โกดัก โนเกีย โซนี่ ฯลฯ นั่นปะไร

พวกนี้ลงทุนวิจัยและพัฒนาเพื่อสร้างสรรค์นวัตกรรมในระดับไม่ต่ำกว่า 10% ของยอดขายทั้งนั้น...ยังล้มคลุกฝุ่นได้

ผมไม่มีปัญหา กับการที่ฝรั่งมาบอกว่า มีบริษัทของคนไทยติดอันดับโลกกับเขาเรื่องนวัตกรรม

เพราะอันที่จริงในฐานะคนไทยสามัญแสนจะธรรมดา ผมก็ดีใจและภูมิใจอยู่แล้ว

แต่ด้วยความรับผิดชอบต่อวิชาชีพของผม นี่เป็นการโมเมเรื่องนวัตกรรมที่ผมไม่สบายใจเท่าไหร่

หากเอาตรรกะของ Forbes มาใช้ นวัตกรรมก็จะเป็นเพียงการ “เก็ง” ต่อ “ผลกำไร” ในสายตาของนักลงทุนเท่านั้น ว่าพร้อมจะจ่ายมากเท่าไหร่ เพื่อร่วมเสี่ยงกับโอกาสเติบโตของบริษัทนั้น

ซีพี ออลล์ เป็นบริษัทที่มุ่งเน้นเรื่องนวัตกรรมมานานหลายปีแล้วครับ และมุ่งมั่นเอาจริงเอาจังในเรื่องนวัตกรรมอย่างมาก ผมไม่มีข้อสงสัยในเรื่องนี้

แต่ผมรับเหตุผลความเป็นบริษัทนวัตกรรม เพียงเพราะความคาดหวังในแง่ผลกำไร ผ่านรูปแบบวิธีการที่นักลงทุนใช้เก็งเพื่อเล็งผลจากการตอบแทนด้วยส่วนต่างในราคาหุ้นไม่ได้

เนื่องจากนั่นมันคนละเรื่องกับนวัตกรรม การทำนวัตกรรม และการเป็นบริษัทที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : ฝรั่งต้ม

view