สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

กำจัดตัวการคอร์รัปชัน

กำจัดตัวการคอร์รัปชัน

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์




ขณะที่กำลังเขียนคอลัมน์ เป็นช่วงเวลาใกล้เคียงกับที่ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ

หรือ ป.ป.ช. กำลังประชุมกันว่าจะยืนยัน เรื่องถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง 39 คนให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ หรือ สนช. ถอดถอนหรือไม่

ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง 39 คน ประกอบด้วย อดีตประธานรัฐสภา สมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ อดีตรองประธานรัฐสภา นิคม ไวยรัชพานิช อดีตนายกรัฐมนตรี ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และอดีตส.ว.อีก 36 คน

ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง 39 คน มีเพียงอดีตนายกรัฐมนตรี ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เท่านั้น ที่กระทำผิดต่างกรรมออกไป คือ จงใจไม่ใช้อำนาจยับยั้งโครงการรับจำนำข้าว ปล่อยให้เกิดการทุจริตประเทศชาติเสียหายหลายแสนล้านบาท

ส่วนอีก 38 คน ทำผิดเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ

คดีของ "สมศักดิ์ นิคม และส.ว." นั้น ป.ป.ช.ไต่สวนข้อเท็จจริงจากพยานแล้ว มีมติเมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2556 ว่า พยานหลักฐานมีเพียงพอ ว่า สมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ อดีตประธานสภาผู้แทนราษฎร และอดีตประธานรัฐสภา นิคม ไวยรัชพานิช อดีตประธานวุฒิสภา และอดีตรองประธานรัฐสภา ได้กระทำผิดส่อไปในทางทุจริตต่อหน้าที่ราชการ จงใจใช้อำนาจขัด รัฐธรรมนูญ ปี 2550 และกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ พ.ศ.2542

ส่วนคดี "ยิ่งลักษณ์" คณะกรรมการป.ป.ช.ชุดใหญ่พิจารณาแล้วเห็นว่าพฤติการณ์ เป็นการส่อว่าจงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดรัฐธรรมนูญ มาตรา 178 ส่อว่าจงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัด พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการแผ่นดินฯ มาตรา 11 (1) อันเป็นเหตุแห่งการถอดถอนผู้ถูกกล่าวหาออกจากตำแหน่งตามรัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 270

ทั้งนี้ ป.ป.ช. มีมติชี้มูลความผิดผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง และส่งไปให้สมาชิกวุฒิสภา พิจารณา 4 เรื่อง คือ

1. กรณี ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ปล่อยปละละเลยให้มีการทุจริตในโครงการจำนำข้าว

2. กรณี สมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ อดีตประธานรัฐสภา ส่อว่าจงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ ประเด็นแก้ไขรัฐธรรมนูญที่มา ส.ว.

3. กรณี นิคม ไวยรัชพานิช อดีตประธานวุฒิสภา ส่อว่าจงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ ประเด็นแก้ไขรัฐธรรมนูญที่มา ส.ว.

4. กรณีอดีตสมาชิกวุฒิสภา 36 คน ส่อว่าจงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ ประเด็นแก้ไขรัฐธรรมนูญที่มา ส.ว. ในกลุ่มนี้เป็นการกระทำผิดตามรัฐธรรมนูญ 2550

ที่ป.ป.ช.ต้องกลับมาพิจารณาเรื่องนี้ กันอีกครั้ง เพราะเมื่อมีรัฐประหาร รัฐธรรมนูญ 2550 ได้รับการยกเลิก จึงไม่มีผลบังคับใช้แล้ว

ขณะที่ รัฐธรรมนูญ ชั่วคราว 2557 ไม่มีบทบัญญัติใหม่มารองรับกระบวนการถอดถอน

แต่ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ ซึ่งทำหน้าที่เป็น ส.ส. และ ส.ว. ได้เขียนข้อบังคับสนช. 2557 กำหนดเรื่องถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ไว้เป็นอำนาจที่ทำได้

สนช.ต้องการทราบว่า ป.ป.ช.จะยังยืนยันว่า มีอำนาจยื่นเรื่องถอดถอน ได้หรือไม่

ทั้ง 4 เรื่องนี้ มองในแง่ยุทธศาสตร์ปราบปรามคอร์รัปชัน ขององค์กรปราบปรามคอร์รัปชัน

ยุทธศาสตร์ที่ 1 คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ไม่ได้ยกเลิกองค์กรป.ป.ช. ขณะเดียวกันก็ประกาศให้การปราบโกงอยู่ในทุกๆ กลุ่มปฏิรูป 11 กลุ่ม

ยุทธศาสตร์ที่ 2 ป.ป.ช.ต้องพิสูจน์ว่า การคอร์รัปชัน ของทุกฝ่ายคือตัวการฉุดดัชนีคอร์รัปชันไทยให้ต่ำลง

เราต้องปลูกฝังว่าการคอร์รัปชัน คือปัญหาที่เราจะต้องทำทุกวิถีทางที่จะขจัดมันออกไป การอ้างว่าไม่มีรัฐธรรมนูญ 2550 แล้วทำให้เรื่องถอดถอนต้องตกไป นั้น ไม่ได้ แต่ต้องยืนยันว่า การคอร์รัปชันนั้นผิดกฎหมายไทย ต้องกำจัดตัวการคอร์รัปชันให้หมดไป


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : กำจัด ตัวการคอร์รัปชัน

view