สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ก่อนพายุจะมา ลมมักจะสงบเสมอ

ก่อนพายุจะมา ลมมักจะสงบเสมอ

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์




ตลาดเงินที่ค่อนข้างมีเสถียรภาพ ตลาดหุ้นไทยที่ร้อนแรง ท่ามกลางความผันผวนในตลาดการเงินอื่นของโลก

ทำให้ผมระมัดระวังตัวเพิ่มขึ้น และเริ่มมองหากลยุทธ์ในการปกป้องมูลค่าทรัพย์สินทางการเงิน ที่ผมกล่าวข้างต้นมาไม่ได้เป็นการปริวิตกมากจนเกินไป หรือเป็นเพียงการ “ตื่นตูม” แต่หากเป็นการหาแนวทางที่ต้องทำในกรณีที่เกิดการ “exit” ของบรรดา money manager ทั้งหลาย ก็เลยอยากจะแชร์ความเห็นของผมกับท่านผู้อ่านนะครับ ทั้งหมดจากนี้ไปเป็นความเห็นส่วนตัวและโปรดใช้วิจารณญาณด้วยครับ

การดำเนินนโยบายการเงินสามารถกระทำได้ไม่ยากลำบากนักในช่วงที่ผ่านมา ทั้งนี้น่าจะมีเหตุผลมาจากการควบคุมปริมาณเงินที่ทำได้ค่อนข้างดี การเคลื่อนย้ายเงินทุน (Capital Flow) ก็ค่อนข้างสมดุล กล่าวคือไม่ได้มีการเคลื่อนย้าย (ทั้งออกและเข้า) แบบฉับพลัน ดังนั้น เราจึงเห็นอัตราดอกเบี้ยที่ค่อนข้างคงที่มาก และแน่นอนว่า ตลาดพันธบัตรก็มีการเคลื่อนไหวที่ไม่ตื่นเต้นเกินไป บรรดานักค้าดอกเบี้ย (Interest Rate Trader) ก็ดูเหมือนว่าจะทำงานไปได้ไม่มีปัญหาอะไร

ค่าเงินบาทถือว่ามีเสถียรภาพมาก เมื่อเทียบกับเงินสกุลอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นเงินต่าง ๆ ในภูมิภาค หรือเงินสกุลที่มีดอกเบี้ยสูง เช่น ดอลลาร์ออสเตรเลีย และดอลลาร์นิวซีแลนด์ และในที่สุดเงินดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งต่างก็มีการเคลื่อนไหวที่อยู่ในเกณฑ์ผันผวนมากถึงมากที่สุด ตัวอย่างเช่น ค่าของเงินดอลลาร์เมื่อเทียบกับเยนญี่ปุ่น ที่มีค่าสูงขึ้นมาเป็นลำดับ หรือเงินดอลลาร์ออสเตรเลีย และดอลลาร์นิวซีแลนด์ที่มีการปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง ค่าของเงินบาทที่นิ่งอยู่ในช่วงนี้ก็เป็นอีกเหตุการณ์หนึ่งที่ถือว่า “amazing” มาก

สำหรับการดำเนินนโยบายการคลังก็สามารถจะ “พลิกฟื้น” มา “restart” ได้อีกครั้งหลังจากมีปัญหาการเมืองภายในในช่วง ก่อน คสช. การดำริที่จะเร่งการเบิกจ่ายงบประมาณปี 2558 เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจภายในก็เป็นเรื่องที่น่าดีใจ เมื่อเราพิจารณาจากภาวะเศรษฐกิจที่ชะงักงันในช่วงก่อนหน้านี้ รวมถึงวินัยทางการคลังที่ต้องผ่อนปรนไปพอควรในช่วงก่อนหน้าที่ผ่านมา

ดูเหมือนว่าทุกอย่างจะดี สวยงามและราบรื่นนะครับ นี่ขนาดยังไม่รวมถึงการคืนความสุขเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่เกิดขึ้น อาทิ การลดราคาน้ำมันหน้าปั๊มลงมา หรือการบำบัดทุกข์ของชาวนาเรื่องเงินจำนำข้าว อย่างไรก็ตามมีข้อบ่งชี้บางประการที่ผมอยากจะยกมาให้ทุกท่านรับทราบและรับรู้ได้เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการพิจารณาของท่านนะครับ

ประการแรก อัตราดอกเบี้ยกำลังจะอยู่ในขาขึ้น โลกเราอยู่ในช่วงดอกเบี้ยขาลง และอยู่นิ่งมานาน สืบเนื่องมาจากภาวะเศรษฐกิจที่ซบเซาของสังคมเศรษฐกิจขนาดใหญ่ ซึ่งได้แก่ สหรัฐ, สหภาพยุโรป, ญี่ปุ่น เป็นต้น มีเพียงสังคมเศรษฐกิจจีนเท่านั้นที่สามารถประคองตัวให้รอดพ้นภาวะดังกล่าวได้ในช่วงที่ผ่านมา (ซึ่งไม่ได้เป็นการ guarantee ว่าจะเป็นอย่างนี้ได้ตลอดไป) เราได้พูดถึงสหรัฐอเมริกามาเป็นอย่างมากและต่อเนื่อง และคงจะไม่ลงรายละเอียดอีก เพียงแต่อยากจะบอกว่า ภาวะอัตราดอกเบี้ยขาขึ้นในโลกนี้จะนำโดยสหรัฐอเมริกาก่อน ช่วงเวลา (timing) นั้นถึงแม้ยังถกเถียงกันอยู่และยังคงไม่แน่นอน แต่ที่แน่ ๆ ไม่เห็นมีใครโต้แย้งเลยว่า อัตราดอกเบี้ยจะไม่ขึ้น

ประการที่สอง การเคลื่อนย้ายเงินทุนที่จะเกิดขึ้นในครั้งต่อไป จะค่อนข้างรุนแรงและเป็นไปอย่างรวดเร็ว ที่ผมเรียนเช่นนี้นั้น เพราะมองดูแล้วว่า บรรดาผู้จัดการกองทุนทั้งหลาย คงต้องมุ่งเน้นการไปลงทุนเพิ่มเติมในตลาดที่มีสัญญาณฟื้นตัวอย่างเด่นชัด คือ อเมริกา แน่นอนว่าหลังจากการปรับตัวลงมาจาการทำกำไร ซึ่งน่าจะเกิดขึ้น (ถ้าไม่ได้เกิดขึ้นแล้ว) ในเร็ว ๆ นี้ ซึ่งหมายความว่า อัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้นและความคาดหวังว่าราคาของสินทรัพย์ทางการเงินจะต้องวิ่งขึ้น ก่อให้เกิดการเคลื่อนย้ายเงินทุนกลับไปยังตลาดดังกล่าว โดยเริ่มต้นจากอเมริกาก่อน

สิ่งที่เราต้องตระหนักดังกล่าวข้างต้น ประกอบกับสถานการณ์ที่เป็นไปในตอนนี้ของตลาดการเงินบ้านเรา (ดอกเบี้ยระดับต่ำ , เงินบาทมีเสถียรภาพ, หุ้นในสภาวะร้อนแรงแบบนี้) ก็อยากจะเตือนให้เห็นกันไว้ดังนี้ครับ

เตือนที่ 1 ภาวะการส่งออกที่ไม่กระเตื้องเท่าที่ควร และการบริโภคภายในที่ค่อนข้างนิ่ง จะทำให้ภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว การใช้จ่ายภาครัฐที่ว่าจะทำในปีงบประมาณ 2558 จะเป็นตัวกระตุ้นเพียงตัวเดียวที่เราต้องพึ่ง หากไม่ได้เป็นไปตามนั้น ก็ต้องพิจารณาดูว่า สภาวะเศรษฐกิจจะเป็นอย่างไร

เตือนที่ 2 การเคลื่อนย้ายเงินทุนที่กล่าวมา จะทำให้อัตราดอกเบี้ยภายในประเทศ และค่าของเงินบาทจะมีการปรับตัวอย่างหลีกเลี่ยงได้ยาก การบริหารจัดการจะต้องทำให้ไม่มีการกระชาก (shock) เกิดขึ้น ซึ่งน่าจะเป็นบทพิสูจน์การบริหารจัดการได้เป็นอย่างดีว่า ทำได้ดีหรือไม่ดีแค่ไหนอย่างไร ตลาดหุ้นเองก็น่าจะได้รับผลกระทบด้วยเช่นกัน

การเตรียมตัวนั้นได้กล่าวไปค่อนข้างชัดเจนในบทความเดือนที่แล้วนะครับ (ชัดขนาดมีท่านผู้อ่านบางท่านได้กรุณาเตือนผมว่ามันชัดไปหรือเปล่า) จะไม่ขอกล่าวในที่นี้อีก ขอสรุปสุดท้ายตรงนี้เลยนะครับว่า เมื่อมีกำไรแล้วก็ต้อง take profit เพราะมันทำง่ายกว่าการตัดขาดทุน (cut loss) มาก บางท่านมีทัศนคติว่า ถ้ายังไม่ขายก็ยังไม่ขาดทุน ก็เป็นมุมมองที่คิดได้ เพียงแต่อยากจะบอกว่า การบ่งบอกสถานะทางการเงินของท่านด้วยการตีค่า (Mark to market) เท่านั้นที่จะชี้ว่า ท่านจนลงหรือรวยขึ้นอย่างไรอย่างแท้จริง สวัสดีครับ


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : ก่อนพายุจะมา ลมมักจะสงบเสมอ

view