สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

QE ยุโรป จะออกมาแบบไหน?

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์



ถึงตรงนี้ กูรูหลายเสียงขึ้นเรื่อยๆ เริ่มที่จะมองใกล้เคียงกันแล้วว่าธนาคารกลางยุโรป

คงจะต้องทำมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณหรือ Quantitative Easing (QE) ในส่วนของหนี้ภาครัฐบาลในที่สุด ทว่าความเห็นที่แตกต่างกันคือช่วงเวลาที่มาตรการดังกล่าวจะออกมา โดยความเห็นกว่าครึ่งออกจะเชื่อว่าน่าจะเป็นสิ้นปีนี้หรือต้นปีหน้า บทความนี้ ขอมองข้ามประเด็นว่าจะออกหรือไม่ รวมถึงช่วงเวลาที่มาตรการดังกล่าวจะออกมา โดยจะเน้นไปที่รูปแบบของ QE ที่จะออกมามากกว่า



 แต่ก่อนอื่นต้องอธิบายเสียก่อนว่า การที่ธนาคารกลางยุโรปเริ่มต้นด้วยการทำ QE จากการเริ่มซื้อสินทรัพย์ของภาคเอกชนประเภท Asset-Backed Securities (ABS) ก็เนื่องจากตลาดตราสารหนี้ที่มีสินทรัพย์ค้ำประกันหรือ Securitization ในภาคเอกชนของยุโรป ยังถือว่าค่อนข้างเล็กเมื่อเทียบกับของสหรัฐอเมริกา ดังรูปที่ 1 ทำให้การดำเนินการซื้อตราสาร ABS ในตลาด Securitization ต้องใช้เวลาสร้างตลาดให้มีปริมาณการซื้อขายอีกสักระยะ สอง หากพิจารณามูลค่าคงค้างของตราสาร Securitization ในยุโรปแยกตามประเทศ จะพบว่าประเทศอิตาลีและสเปนมีอยู่รวมกันเกือบ 8 แสนล้านยูโร หรือ คิดเป็นเกือบครึ่งหนึ่งของตราสาร Securitization ทั้งหมดในยุโรป ดังรูปที่ 2

ซึ่งตรงนี้ ธนาคารกลางยุโรปต้องการแก้ปัญหาโดยมุ่งตรงไปที่ประเทศที่มีความอ่อนแอทางเศรษฐกิจเป็นหลัก และ สาม ในส่วนของตราสาร Securitization และ ตราสารหนี้ที่มีกระแสเงินสดจากสินเชื่อบ้านหรือสินเชื่อประเภทโครงการค้ำประกันหรือ Covered Bonds ที่ถือไว้โดยสถาบันการเงินส่วนใหญ่อยู่ที่ประเทศที่มีความอ่อนแอทางเศรษฐกิจเป็นหลัก ดังรูปที่ 3 จึงทำให้สามารถแก้ปัญหาได้ถูกจุดกว่า



 ทว่าธนาคารกลางยุโรปต้องเลือกทำ QE เพิ่มเติมจากมาตรการเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ ระยะเวลา 2 ปีที่เน้นเฉพาะสินเชื่อที่มิใช่อสังหาริมทรัพย์ หรือ Targeted Longer-term Refinancing Operations (TLTRO) ก็เนื่องจาก QE มุ่งกระตุ้นไปที่สินทรัพย์ที่มีอายุยาวนานกว่า ส่งผลกระทบต่ออัตราดอกเบี้ย ระดับราคา และการใช้จ่ายได้มากกว่า รวมถึงการตัดสินใจว่าจะกระตุ้นมากแค่ไหนก็ขึ้นกับความตั้งใจของธนาคารกลาง ผ่านการขยายตัวของงบดุล ท้ายสุด ยังสามารถคงมาตรการ QE ไว้จนอัตราเงินเฟ้อเข้าใกล้ระดับที่ตั้งเป้าหมายไว้

 ทีนี้ ก็มาถึงรูปแบบของ QE ที่ทางธนาคารกลางยุโรปน่าจะกำลังคิดไว้อยู่ มีแนวโน้มจะเป็น QE ที่ซื้อพันธบัตรรัฐบาลทั้งกลุ่มประเทศที่เศรษฐกิจมีความแข็งแรงและที่เศรษฐกิจมีความอ่อนแอ โดยสัดส่วนของแต่ละประเทศมากน้อยตามสัดส่วนของมูลค่าเงินกองทุนในธนาคารกลางยุโรป เพื่อมิให้ขัดกับกฎหมายที่ว่าด้วยการใช้มาตรการนโยบายการเงินไปจ่ายการขาดดุลทางการคลัง

 นอกจากนี้ QE ของยุโรป ของนายมาริโอ ดรากิ ประธานธนาคารกลางยุโรป ต้องพยายามมุ่งไปที่อายุพันธบัตรซึ่งอัตราดอกเบี้ยสามารถลดลงได้ง่าย รวมถึงไปสร้างความคาดหวังให้อัตราเงินเฟ้อในยุโรปเพิ่มขึ้นด้วยคำพูดที่ดูหนักแน่นตามสไตล์ที่นายดรากิถนัด ซึ่งตรงนี้ จะทำให้อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงลดลง และปริมาณสินเชื่อในระบบธนาคารของยุโรปเพิ่มขึ้นในที่สุด เมื่อมาถึงตรงนี้ ตราสารพันธบัตรที่มีราคาสูงขึ้น ก็จะไปไล่ให้ราคาหุ้นในตลาดยุโรปต้องพลอยสูงตาม เนื่องจากกองทุนรวมต่างๆ ทั้งรายย่อยและใหญ่ต้องปรับพอร์ตกันให้จ้าละหวั่น ซึ่งปรากฏการณ์นี้เคยเกิดในสหรัฐเมื่อปี 2010-2012 อย่างชัดเจน

 ซึ่งการที่ราคาสินทรัพย์ที่สูงขึ้น จะส่งผลให้ทั้งประชาชน ความต้องการสินเชื่อ และ การปล่อยสินเชื่อของธนาคาร กระเตื้องสูงขึ้นกันไปหมดทั้งระบบเศรษฐกิจ



 ทว่ายังมีคำถามที่หลายคนข้องใจ คืออัตราดอกเบี้ยนโยบายของยุโรป ต่ำจนเกือบจะเท่ากับศูนย์แล้ว QE จะใช้ลดอัตราดอกเบี้ยได้ผลหรือ คำตอบคือ แม้แต่ญี่ปุ่นเองที่อัตราดอกเบี้ยของพันธบัตรรัฐบาลต่ำกว่าของยุโรป ยังสามารถลดลงได้จากการใช้มาตรการ QQE (Quantitative and Qualitative Easing) ดังรูปที่ 4 จึงไม่ต้องกังวลในกรณีของ QE ในยุโรปแต่อย่างใด

 โดยสรุป QE สำหรับพันธบัตรรัฐบาลของยุโรป มีโอกาสจะมีขึ้นในเร็ววัน เนื่องจากให้ผลลัพธ์ออกมาค่อนข้างเร็วหลังจากนำมาใช้ โดยระหว่างนี้ ปล่อยให้ QE ภาค ABS สร้างตลาดการซื้อขายของตนเองให้เข้มแข็งไปพลางๆ ก่อนครับ


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : QE ยุโรป จะออกมา แบบไหน

view