สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ยี่ฟังเหลียน

จากประชาชาติธุรกิจ

คอลัมน์ สามัญสำนึก ถวัลย์ศักดิ์ สมรรคะบุตร

นอกจากข่าวราคายางพาราดิ่งเหวจนต่ำกว่าต้นทุนการผลิตของชาวสวนยางแล้ว ยังมีอีกข่าวหนึ่งที่ได้รับความสนใจในแวดวงยางพารานั่นก็คือข่าวการ "ล้ม" ประมูลขายยางจำนวน 100,000 ตันให้กับ "ยี่ฟังเหลียน" โบรกเกอร์ค้ายางจากสิงคโปร์

โดยยางที่ขายให้กับยี่ฟังเหลียน เป็นยางในสต๊อกรัฐบาลที่มาจากโครงการแทรกแซงยางพาราจำนวน 208,000 ตัน ทางยี่ฟังเหลียนเสนอราคารับซื้อสูงสุด ทั้งยางแผ่นรมควันกับยางแท่ง ท่ามกลางความประหลาดใจของพ่อค้ายางที่ว่าซื้อไปได้อย่างไร ?

นั่นก็คือยี่ฟังเหลียน เสนอราคารับซื้อยางแท่งจำนวน 32,000 ตันในราคา 54 บาท/กก. ขณะที่ยางแผ่นรมควันเสนอราคารับซื้อ 62 บาท/กก. จำนวน 68,000 ตัน และมีการทำสัญญาซื้อขายกันเมื่อวันที่ 28 สิงหาคม 2557 หรือหลังการยึดอำนาจของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ประมาณ 2 เดือน ในขณะที่องค์การสวนยาง (อสย.) เจ้าของสต๊อกยางดังกล่าวก็ได้ออกแถลงข่าวถึงผลสำเร็จในการขายยางได้ราคาสูง กว่าราคาตลาดในช่วงนั้นถึง 4 บาท/กก.

ทว่าหลังจากที่ทำสัญญาซื้อขายยางกับยี่ฟังเหลียนได้ไม่นานก็มีข่าว "วงใน" ปูดออกมาว่าสัญญาซื้อขายยางครั้งนี้เป็นสัญญาปากเปล่า เนื่องจากไม่มีการวางแบงก์การันตีค้ำประกัน ผู้ซื้อจะเปิด L/C ให้กับผู้ขายก็ต่อเมื่อถึงกำหนดระยะเวลารับมอบสินค้าเท่านั้น โดยในงวดแรกกำหนดรับมอบสินค้าระหว่างวันที่ 11-15 กันยายน 2557 แต่ไม่ปรากฏว่ายี่ฟังเหลียนเปิด L/C เข้ามาแต่อย่างใด

จนกระทั่งนายปีติพงศ์ พึ่งบุญ ณ อยุธยา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ต้องออกมายอมรับความจริงว่า ยี่ฟังเหลียนผิดสัญญา ไม่ยอมส่งเงินรับมอบสินค้า และได้สั่งให้คณะกรรมการตรวจสอบการซื้อขายยางกับบริษัทนี้แล้ว

อย่างไรก็ตาม การไม่ยอมมารับมอบสินค้ายางงวดแรก สอดคล้องกับผู้เกี่ยวข้องในคณะกรรมการนโยบายยางธรรมชาติ (กนย.) ที่ชี้ว่า กรณีนี้ไม่ใช่เรื่องเหนือความคาดหมายจากเหตุผลง่าย ๆ ที่ว่าระดับราคารับซื้อที่สูงกว่าราคาตลาดโลกมาก หรือจะมีพ่อค้ายางคนไหนในโลกซื้อยางไปขายต่อในราคาขาดทุนบานเบอะ

ยกตัวอย่างง่าย ๆ ยี่ฟังเหลียนซื้อยางแผ่นรมควันไปในราคา กก.ละ 62 บาท ยางแท่ง กก.ละ 54 บาท แต่ราคาตลาดกลางภายในประเทศ ณ ปัจจุบันเฉลี่ยอยู่ที่ 48-49 บาท ยางแท่งประมาณ 46 บาท นั่นหมายถึง หากยี่ฟังเหลียนรับมอบสินค้าก็จะขาดทุนทันที กก.ละ 8-14 บาทตามลำดับ

 

ขณะที่ตัวยี่ฟังเหลียนเองออกมาให้ข่าวว่า ที่เสนอราคารับซื้อยาง "สูงกว่า" ราคาตลาด ณ วันที่ทำสัญญาซื้อขายถึง 4 บาท/กก.นั้นก็คือ "ก็เพื่อชี้นำตลาดซื้อขายจริงให้สูงขึ้น" ทั้ง ๆ ที่ซื้อจริงแค่ 100,000 ตันจะไปชี้นำราคายางได้อย่างไร ส่วนที่ไม่ยอมมารับมอบสินค้างวดแรกก็เป็นเพราะ "ยังติดขั้นตอนการออกใบรับรองคุณภาพมาตรฐานสินค้ายางจากกรมวิชาการเกษตร"

 

กลับกลายเป็น "ความฉลาด" ในการหาทางออก ด้วยการโยน "เผือกร้อน" กลับมายังรัฐบาลไทย เสมือนหนึ่งกำลังจะบอกว่ายางในสต๊อกรัฐบาลเสื่อมคุณภาพจนไม่อาจจะยอมรับได้ ซึ่งในประเด็นนี้ การตั้งคณะกรรมการตรวจสอบสต๊อกยางพาราแบบเดียวกับที่ทำการตรวจสอบสต๊อกข้าว ก่อนเปิดระบาย จะช่วยไขปริศนาที่ว่า ยางพารามี "ของดี" หรือ "ของเสีย" เท่าไหร่กันแน่

ส่วนคำถามที่ว่าในอนาคตจะมีใครมารับซื้อยางพาราใน สต๊อกจำนวน 208,000 ตันหรือไม่นั้น คำตอบดูจะมืดมนเมื่อพิจารณาจากปัจจัย 3 ประการ คือ 1) เศรษฐกิจจีน ซึ่งเป็นผู้ซื้อยางพารารายใหญ่ที่สุดในโลก อยู่ในภาวะชะลอตัวลง ส่งผลให้ความต้องการใช้ยางอยู่ในระดับต่ำ กับ 2) สต๊อกยางจีน ณ เมืองชิงเต่า ยังอยู่ในระดับสูงเฉลี่ยระหว่าง 240,000-250,000 ตัน ขณะที่สต๊อกยางพาราของไทยรวมทั้งประเทศ (รัฐ+เอกชน) น่าจะมีอยู่ไม่ต่ำกว่า 350,000 ตัน กลายเป็นตัวกดดันราคายางอยู่ในขณะนี้ และ 3) ราคาซื้อขายยางล่วงหน้าในตลาด TO-COM-SICOM อยู่ในช่วงขาลงมาโดยตลอด


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : ยี่ฟังเหลียน

view