สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

อุตพิดและมะลิวัลย์กับการผายลมทางปาก

อุตพิดและมะลิวัลย์กับการผายลมทางปาก

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์




หลังรัฐบาลแถลงนโยบายที่จะใช้เงินนับแสนล้านบาทเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจออกมาไม่ทันข้ามวัน การถกเถียงกันก็เกิดขึ้น

ว่าการใช้เงินบางอย่างเป็นประชานิยมหรือไม่ เป็นไปตามคาด ฝ่ายรัฐบาลอันประกอบด้วยคณะรัฐมนตรี หัวหน้าองค์กรของรัฐบางแห่งและผู้สนับสนุนรัฐบาลต่างดาหน้ากันออกมาประสานเสียงว่า ไม่ใช่ อีกฝ่ายหนึ่งซึ่งประกอบด้วยสื่อบางสำนักและผู้สังเกตการณ์บางคนลงความเห็นว่า เป็นประชานิยม

การถกเถียงกันในประเด็นเช่นนี้ไม่เคยมีในเมืองไทยจนกระทั่งปี 2544 หลังจากนั้น ทุกรัฐบาลที่เข้ามาบริหารประเทศต่างพูดว่าตนมิได้ทำอะไรที่เป็นประชานิยมด้วยเหตุผลต่าง ๆ รวมทั้งรัฐบาลซึ่งมาจากผู้เคยเป็นนักการเมืองฝ่ายค้านที่เปลี่ยนชื่อโครงการของรัฐบาลก่อนที่ตนเคยตราว่าเป็นประชานิยมแล้วบอกว่ามิใช่ประชานิยม วาทกรรมศรีธนญชัยที่ใช้เรียกอุตพิดว่ามะลิวัลย์แบบนี้เกิดขึ้นในทุกรัฐบาลตั้งแต่ปี 2544

ย้อนไปในปีนั้น นโยบายที่รัฐบาลแถลงออกมาทำให้ผมนึกถึงอาร์เจนตินา จึงได้รวบรวมเรื่องราวของประเทศนั้นมาบอกกล่าวเพื่อหวังจะเตือนคนไทยให้พึงระวัง ทั้งนี้เพราะนโยบายประชานิยมแบบเลวร้ายนั้นคล้ายยาเสพติด รายละเอียดได้รวมไว้ในหนังสือชื่อ “ประชานิยม: หายนะจากอาร์เจนตินาถึงไทย?” ซึ่งสำนักพิมพ์เนชั่นบุ๊คส์พิมพ์ออกมาเมื่อกลางปี 2546 หนังสือเล่มนี้คงไม่มีผลอะไรต่อนโยบายของรัฐบาลในกาลต่อมา ทุกรัฐบาลจึงต่างยืนยันว่าตนมิได้ดำเนินนโยบายประชานิยม ทั้งที่หลักฐานยืนยันว่าทำ

เมื่อถึงรัฐบาลที่เริ่มเข้ามาบริหารประเทศในปี 2554 นโยบายประชานิยมอันสุดแสนเลวร้ายเกิดขึ้นในนามของการรับจำนำข้าวจากชาวนา ผมมองว่านโยบายนี้จะมีผลทำให้ชาติไทยประสบหายนะเฉกเช่นนโยบายในอุตสาหกรรมมะพร้าวของเฟอร์ดินาน มาร์กอส ทำให้ฟิลิปปินส์เป็น “คนง่อยแห่งเอเชีย” จึงได้ทักท้วงหลายต่อหลายครั้ง รวมทั้งการนำหนังสือเล่มดังกล่าวมาปรับเปลี่ยนให้ทันสมัยและมอบให้สำนักพิมพ์โพสต์บุ๊คส์พิมพ์ออกมาเมื่อต้นปี 2555 ชื่อ “ประชานิยม: ทางสู่ความหายนะ” เฉกเช่นคำเตือนทั้งหลาย หนังสือเล่มนี้ไม่มีผลอะไร นโยบายเลวร้ายทั้งหลายจึงดำเนินต่อไปในนามของมะลิวัลย์ซึ่งหากเข้าใกล้จะรู้ได้ทันทีว่าเป็นอุตพิด

โครงการที่ก่อให้เกิดการถกเถียงกันมากที่สุดในช่วงนี้ได้แก่การจะใช้เงิน 4 หมื่นล้านบาทจ่ายให้ชาวนาตามอัตราไร่ละ 1 พันบาทโดยมีข้อจำกัดว่าจะจ่ายให้รายละไม่เกิน 15 ไร่ โครงการนี้ยังไม่มีความกระจ่างเกี่ยวกับแนวทางปฏิบัติ จึงเกิดข้อสงสัยหลายอย่างในหมู่ผู้สนใจ ในฐานะลูกชาวนาซึ่งเติบโตมาในครอบครัวที่ค่อนข้างยากจนเพราะมีนาไม่ถึง 10 ไร่ ผมดีใจแทนชาวนายากจนทั้งหลาย แต่ก็มีข้อสงสัยอยู่บ้างเช่นกัน

ในเบื้องแรก เนื่องจากชาวนามิได้ยากจนหมดทุกคน การแจกเงินแบบนี้มีลักษณะของการหว่านแหลงไปโดยไม่มีปลาผุด แม้ชาวนาก็จะรู้ทันทีว่ามันไม่ต่างกับการขี่ช้างจับตั๊กแตน นอกจากโครงการนี้ดูจะตั้งสมมติฐานว่าชาวนาทุกคนยากจนและเดือดร้อนแล้ว ยังดูจะวางอยู่บนสมมติฐานที่ว่าการทำนาทุกแห่งขาดทุนอีกด้วย นั่นเป็นสมมติฐานที่คลาดเคลื่อนมากเนื่องจากนาในแต่ละพื้นที่มีทั้งต้นทุนและผลผลิตต่างกัน ฉะนั้น ชาวนาที่มีกำไรก็ยังจะได้รับเงิน รวมทั้งชาวนาที่มีทำอาชีพอื่นเป็นหลักและมั่งคั่ง ซึ่งทำนาตามแบบที่เรียกกันว่า “ชาวนามือถือ” นั่นคือ โทรศัพท์สั่งให้ผู้รับจ้างไถ หว่าน ใส่ปุ๋ย เก็บเกี่ยว ฯลฯ ออกไปทำงานให้เขาเมื่อถึงเวลา เนื่องจากครอบครัวของผมเคยเช่านาทำ จึงเกิดคำถามตามมาว่าจะทำอย่างไรในกรณีนาเช่า ผู้เช่านาทำจะได้รับเงินหรือไม่ หรือจะมีใครเข้ามาตัดทอน ในสังคมที่มักมีการฮั้วกัน ประเด็นนี้สำคัญยิ่ง

ชาวนาที่ยากจนมากคงจะใช้เงินที่ได้รับไปอย่างรวดเร็ว แต่การใช้เงินของพวกเขาก็ใช่ว่าจะกระตุ้นเศรษฐกิจตามที่รัฐบาลคิดไว้เพราะการใช้นั้นอาจเป็นเพียงการชำระหนี้ที่ค้างอยู่ ส่วนผู้รับชำระหนี้และชาวนาที่มีฐานะมั่งคั่งคงไม่รีบใช้เงินแบบสุรุ่ยสุร่ายเพราะความไม่สุรุ่ยสุร่ายคือปัจจัยที่ทำให้พวกเขามั่งคั่ง หรือในกรณีที่พวกเขาพากันรีบออกไปใช้จ่ายแบบนั้น ย่อมเป็นการกระทำที่ผิดหลักเศรษฐกิจพอเพียงซึ่งนายกรัฐมนตรีย้ำนักย้ำหนาว่าจะยึดเป็นฐานของการบริหารประเทศ หรือการให้คำมั่นสัญญาว่าจะยึดเศรษฐกิจพอเพียงครั้งนี้ไม่ต่างกับนายกรัฐมนตรีคนก่อน ๆ กระทำ นั่นคือ เป็นวาทกรรมที่ขาดความจริงใจ หรือการผายลมทางปาก?

เรื่องชาวนาและอาชีพเกษตรกรรมโดยทั่วไปเป็นประเด็นใหญ่และสลับซับซ้อนมาก ฉะนั้น การแก้ปัญหาระยะสั้นโดยการหว่านเงินลงไปคงไม่มีผลอะไรในการปรับเปลี่ยนโครงสร้างให้เป็นไปในทางยั่งยืน เรื่องนี้คงเป็นหน้าที่ของ สปช. ที่จะเสนอต่อไปว่าจะทำอย่างไร ส่วนข้อเสนอจะมีผลดีเพียงไรขึ้นอยู่กับเนื้อหาว่าเหมาะสมกับสภาพการณ์หรือไม่และรัฐบาลที่จะนำไปปฏิบัติจะทำจริงหรือไม่ หากยังเป็นรัฐบาลโดยนักการเมืองศรีธนญชัยที่ชอบผายลมทางปาก หรือเรียกอุตพิดว่ามะลิวัลย์ ปัญหาร้ายแรงย่อมยืดเยื้อ

สำหรับในด้านการนำแนวคิดเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงมาประยุกต์ใช้ ผมได้เสนอไว้หลายต่อหลายครั้งหลังปี 2540 รวมทั้งการเสนอให้เขียนไว้ในแนวรัฐธรรมนูญ นั่นคือ ไม่ว่าใครจะเข้ามาเป็นหัวหน้ารัฐบาล จะต้องวางนโยบายให้อยู่ในกรอบของเศรษฐกิจพอเพียง หนังสือและบทความส่วนหนึ่งอาจดาวน์โหลดฟรีได้ที่เว็บไซต์ของมูลนิธินักอ่านบ้านนา (www.bannareader.com) รวมทั้งบทความเรื่อง “สารถึงรัฐบาล คสช. สนช. และ สปช. เรื่องความพอเพียง” และหนังสือเรื่อง “สู่ความเป็นอยู่แบบยั่งยืน” และ “ทางข้ามเหว” ผมพยายามเผยแพร่แนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงมาตั้งแต่ได้ยินพระราชดำรัสเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงครั้งแรกเพราะมั่นใจเต็มร้อยว่า แนวคิดนี้มีความนำสมัยและเป็นเสมือนแสงสว่างส่องทางให้เราก้าวพ้นหุบเหวของปัญหาสารพัด


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : อุตพิด ลิวัลย์ ผายลมทางปาก

view