สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

บริษัทเอกชนผลักดันธุรกิจสะอาด ต้านคอร์รัปชัน

บริษัทเอกชนผลักดันธุรกิจสะอาด ต้านคอร์รัปชัน

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์




ถ้าผู้ให้เปลี่ยนพฤติกรรมเป็นไม่ให้ คอร์รัปชันก็ควรลดลงแต่บริษัทเดียวทำไม่ได้ บริษัทจำนวนมากๆ จะต้องพร้อมใจกัน

วันพฤหัสบดีที่ 16 ตุลาคมนี้ โครงการแนวร่วมปฏิบัติภาคเอกชนไทยในการต่อต้านการทุจริต หรือโครงการ CAC (ย่อมาจาก Collective Action Coalition of the Private Sector Against Corruption) จะจัดงานสัมมนาใหญ่ประจำปีสำหรับบริษัทที่เข้าร่วมประกาศเจตนารมณ์กับโครงการ CAC ในการต่อต้านการทุจริต และบริษัทเอกชนทั่วไปที่สนใจ โดยปีนี้การสัมมนาจัดเป็นปีที่ห้า ในหัวข้อ บทบาทความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนในการต่อต้านการทุจริต หรือ Tackling Corruption through Public-Private Collaboration ที่โรงแรมพลาซ่า แอทธินี กรุงเทพฯ อะ รอยัล เมอริเดียน ตั้งแต่เวลา 8.30 น. เป็นต้นไป

คอร์รัปชันเป็นปัญหาใหญ่ของประเทศ เพราะคนในสังคมมีพฤติกรรมไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย ทั้งบุคลากรในภาคราชการและบริษัทเอกชน นำไปสู่การจ่ายสินบน วิ่งเต้น การฮั้วการจัดซื้อจัดจ้าง เพื่อฉ้อโกงงบประมาณแผ่นดินโดยให้หน่วยราชการซื้อของหรือลงทุนในราคาที่แพงเกินความเป็นจริงเพื่อหาประโยชน์ สร้างความเสียหายให้กับเศรษฐกิจ และทำลายแรงจูงใจในการแข่งขันทำธุรกิจ เมื่อคอร์รัปชันเป็นพฤติกรรมสังคม การแก้ปัญหาจะต้องเปลี่ยนพฤติกรรมทั้งผู้ให้และผู้รับ บังคับโดยการสร้างความโปร่งใสในกระบวนการทำงานและการตัดสินใจของภาครัฐ รวมถึงสร้างแรงจูงใจให้ของเจ้าหน้าที่รัฐ บริษัทเอกชน และประชาชนร่วมกันแก้ไขปัญหา

สำหรับบริษัทเอกชน บทบาทในการแก้การทุจริตคอร์รัปชันมีมากเป็นพิเศษ เพราะบริษัทเอกชนอยู่ในสมการคอร์รัปชันโดยตรงในฐานะผู้ให้ ถ้าผู้ให้เปลี่ยนพฤติกรรมเป็นไม่ให้ไม่จ่าย คอร์รัปชันก็ควรลดลง แต่บริษัทเดียวทำไม่ได้ บริษัทจำนวนมากๆ จะต้องพร้อมใจกันทำ ร่วมกันเป็นแนวร่วมทำธุรกิจที่ไม่จ่ายไม่ให้ เปลี่ยนพฤติกรรมไปสู่การทำธุรกิจสะอาด โปร่งใส ปลอดคอร์รัปชัน และถ้าแนวร่วมนี้มีจำนวนมากๆ ภาคเอกชนก็สามารถใช้พลังความร่วมมือผลักดันให้ภาคราชการเปลี่ยนวิธี หรือกระบวนการในการทำหน้าที่หรือให้บริการประชาชน นำไปสู่ระบบการทำงานของภาครัฐที่โปร่งใส มีประสิทธิภาพ ที่ลดความเสี่ยงต่อการทุจริตคอร์รัปชัน อันนี้คือ แนวคิดที่ได้นำไปสู่การจัดตั้งแนวร่วมปฏิบัติของภาคเอกชนในการต่อต้านการทุจริต ในหลายประเทศรวมถึงประเทศไทย เพื่อสร้างพื้นที่ให้บริษัทเอกชนสามารถผลักดันการทำธุรกิจสะอาด โดยการร่วมมือกันของหลายๆ บริษัทอย่างสมัครใจ

สี่ปีที่ผ่านมา ตั้งแต่โครงการ CAC เริ่มต้นครั้งแรกในประเทศไทย เมื่อเดือนพฤศจิกายน ปี 2553 โดยคุณชาญชัย จารุวัสตร์ อดีตกรรมการผู้อำนวยการสถาบัน IOD และคุณดุสิต นนทะนาคร อดีตประธานสภาหอการค้าไทย กล่าวได้ว่าเป็นสี่ปีที่โครงการมีความก้าวหน้ามาตลอด และสามารถพัฒนาเป็นโครงการหลักของภาคเอกชนไทยในการต่อต้านการทุจริตที่เป็นที่ยอมรับ ทั้งจากบริษัทเอกชน หน่วยงานกำกับดูแลในประเทศ และสถาบันกรรมการและองค์กรต่อต้านการทุจริตในต่างประเทศ เริ่มจากแนวคิดที่จะให้มีการรวมตัวกันของบริษัทเอกชนประกาศเจตนารมณ์ทำธุรกิจสะอาด โดยบริษัทจะประเมินตนเองในการปฏิบัติตามเจตนารมณ์ดังกล่าวทั้งในแง่การมีนโยบาย และแนวปฏิบัติในการต่อต้านการทุจริต ซึ่งในวันแรกที่มีการประกาศเจตนารมณ์วันที่ 9 พฤศจิกายน ปี 2553 มีบริษัทเข้าร่วมโครงการ 27 บริษัท ถือเป็นการเปิดตัวที่น่าชื่นชมในภาวะช่วงนั้นที่ประเทศเริ่มมีปัญหาคอร์รัปชันรุนแรง

จากนั้นโครงการ CAC ก็มีความก้าวหน้ามาตลอด ถึงสิ้นเดือนกันยายนมีบริษัทเข้าร่วมประกาศเจตนารมณ์กับโครงการแล้ว 362 บริษัท เป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ 179 บริษัท และใน 362 บริษัทที่ประกาศเจตนารมณ์มี 54 บริษัทที่ผ่านการรับรองจากคณะกรรมการ CAC ที่มี ดร.พนัส สิมะเสถียร เป็นประธาน ว่าเป็นบริษัทที่มีนโยบายและแนวปฏิบัติที่ชัดเจนในการต่อต้านการทุจริต ความก้าวหน้านี้สะท้อนความต้องการของบริษัทในประเทศไทยจำนวนมากที่ไม่ชอบคอร์รัปชัน และอยากเห็นวัฒนธรรมการทำธุรกิจที่สะอาดโปร่งใสเกิดขึ้นในประเทศ เพื่ออนาคตของเศรษฐกิจ และเพื่อความน่าเชื่อถือของการทำธุรกิจในประเทศไทย

ปีนี้การตอบรับต่อการสัมมนาในวันพฤหัสที่จะถึงนี้ดีมาก ทั้งวิทยากรที่โครงการ CAC ได้รับเกียรติจากผู้บริหารระดับสูงสุดของหน่วยงานที่รับผิดชอบการต่อต้านการทุจริตในทั้งสามภาคของประเทศที่จะกล่าวปาฐกถาพิเศษ คือ ภาครัฐโดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง คุณสมหมาย ภาษี ภาคราชการโดยคุณปานเทพ กล้าณรงค์ราญ ประธานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชัน และภาคเอกชนและประชาสังคม โดยคุณประมนต์ สุธีวงศ์ ประธานองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) วิทยากรจากต่างประเทศที่จะมาร่วมงานก็มาก ซึ่งไฮไลต์ ก็คือ ปาฐกถาพิเศษของ Dr. Samual Paul จากเมืองบังกาลอร์ ประเทศอินเดีย ผู้ที่มีบทบาทสูงในการสร้างระบบประเมินการให้บริการของหน่วยงานรัฐโดยภาคประชาชนผู้ใช้บริการ เพื่อให้เกิดความโปร่งใส ซึ่งประสบความสำเร็จมาก และเป็นต้นแบบให้หลายประเทศนำไปใช้

สำหรับการสัมมนา ปีนี้จะมีสามหัวข้อ คือ ประสบการณ์และแนวคิดใหม่ของความร่วมมือระหว่างภาครัฐกับเอกชนในภาคเช้า โดยวิทยากรจากไทย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และสวิตเซอร์แลนด์ ช่วงบ่ายก็จะมีการเสวนาในสองเรื่อง คือ บทบาทบริษัทเอกชนในการต่อต้านการทุจริต และบทบาทประชาชนในการต่อต้านการทุจริต จบด้วยปาฐกถาพิเศษในช่วงเย็นจากผู้บริหารจากองค์กร CIPE สหรัฐอเมริกาที่ให้การสนับสนุนโครงการ CAC มาตลอดตั้งแต่เริ่มต้น ปีนี้การจัดงานได้รับการสนับสนุนอย่างอบอุ่นจากภาคเอกชน โดยมีผู้สนับสนุน 31 บริษัท

สถาบัน IOD ได้ทำหน้าที่เลขานุการขับเคลื่อนโครงการ CAC มาตั้งแต่ต้นโดย IOD มองว่าพันธกิจของโครงการ CAC ที่ IOD ทำขณะนี้ก็คือการผลักดันการกำกับดูแลกิจการที่ดี ให้เกิดขึ้นจริงในภาคปฏิบัติ เพราะคอร์รัปชันก็คือความบกพร่องในการกำกับดูแลกิจการ และคณะกรรมการบริษัท ซึ่งเป็นผู้กำหนดนโยบายสูงสุดของบริษัทมีหน้าที่โดยตรงที่จะกำหนดนโยบายให้บริษัททำธุรกิจสะอาด ไม่มีคอร์รัปชัน โดยมีนโยบายและแนวปฏิบัติที่ชัดเจน ทำให้บริษัทจะทำธุรกิจโดยไม่มีพฤติกรรมคอร์รัปชัน อันนี้เป็นนโยบายที่คณะกรรมการบริษัทเลือกได้และควรต้องทำ เพราะถ้าบริษัทเอกชนเลือกที่จะทำแบบนี้กันมากๆ โอกาสที่เราจะเห็นการเปลี่ยนพฤติกรรมในการทำธุรกิจของบริษัทเอกชนไม่เอาด้วยกับคอร์รัปชันก็จะมีมาก ซึ่งจะเป็นการเปลี่ยนพฤติกรรมของประเทศโดยปริยาย

การต่อสู้คอร์รัปชันเป็นการเดินทางไกล ที่ต้องเดินทางเพื่อความอยู่รอดของประเทศ ขณะนี้จากความร่วมมือของภาครัฐ เอกชน และภาคประชาสังคม เราเริ่มเห็นแสงสว่างปลายอุโมงค์ ก็อยากเชิญชวนให้บริษัทเอกชนมาร่วมงาน มาหาความรู้ รับทราบในความก้าวหน้าและบทบาทที่บริษัทเอกชนสามารถทำได้ในการต่อต้านการทุจริต พร้อมร่วมผลักดันโครงการ CAC และให้แสงสว่างปลายอุโมงค์ยิ่งเห็นชัดเจนขึ้น จนเกิดเป็นกำลังใจและความหวังที่จะนำไปสู่ความสำเร็จของการแก้ปัญหาที่สำคัญของประเทศ

พบกันวันพฤหัสนี้ครับ


CAC เตรียมระดมไอเดียสู้คอร์รัปชัน เผยภาคธุรกิจร่วมใจต้านโกงเพิ่มขึ้น 44%

โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์

       แนวร่วมปฏิบัติของภาคเอกชนไทยในการต่อต้านการทุจริต ฟันธงภาคธุรกิจตื่นตัวสู้ทุจริต เผยผ่านการรับรองติดตั้งกลไกต้านโกงเพิ่มถึง 44%
       
       ดร. บัณฑิต นิจถาวร เลขาธิการ แนวร่วมปฏิบัติของภาคเอกชนไทยในการต่อต้านการทุจริต (Collective Action Coalition Against Corruption หรือ CAC) เปิดเผยว่า ปัจจุบันมีบริษัทที่ได้รับรองตนเองว่ามีนโยบายและแนวปฏิบัติต่อต้านการ ทุจริตและได้ผ่านการรับรองของคณะกรรมการ CAC เพิ่มขึ้น 44% ในช่วงไตรมาสที่ 3 ที่ผ่านมา ซึ่งแสดงถึงความตื่นตัวและจริงจังของภาคเอกชนในการต่อสู้กับปัญหาคอร์รัปชัน
       โดยคณะกรรมการให้การรับรองบริษัทที่ได้รับรองตนเองว่ามีนโยบายและมี แนวปฏิบัติป้องกันการทุจริตภายในองค์กรครบถ้วนตามเกณฑ์ที่ CAC กำหนดเพิ่มขึ้นอีก 24 บริษัท ทำให้จำนวนบริษัทที่ผ่านการรับรองจาก CAC เพิ่มเป็น 78 บริษัท นับเป็นความก้าวหน้าของภาคธุรกิจในประเทศไทยที่นำนโยบายต่อต้านการโกงไป ปฏิบัติจริงอย่างเป็นรูปธรรม
       นอกจากนี้ กระแสความตื่นตัวในการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชันมีผลให้บริษัทเอกชนเข้า ร่วมลงนามประกาศเจตนารมณ์ต่อต้านการทุจริตกับ CAC ในไตรมาสที่ 3 เพิ่มขึ้นอีก 39 บริษัท โดยเป็นบริษัทจดทะเบียนถึง 27 แห่ง ซึ่งทำให้มูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด (market capitalization) ของบริษัทจดทะเบียนทั้งหมดที่เข้ามาร่วมในโครงการ CAC สูงถึง 69% ของมูลค่าตลาดรวม

       โครงการ CAC เป็นโครงการที่บริษัทเอกชนเข้าร่วมตามความสมัครใจ เมื่อสิ้นไตรมาสที่ 3 มีบริษัทที่ร่วมประกาศเจตนารมณ์แล้ว 362 บริษัท เป็นบริษัทจดทะเบียน 179 บริษัท โดยมีบริษัทยักษ์ใหญ่ระดับโลกที่ดำเนินธุรกิจในประเทศไทยร่วมอยู่ด้วยเป็น จำนวนมาก
       “การที่มีบริษัทจดทะเบียน 179 บริษัทเข้ามาร่วมโครงการ CAC คิดเป็น market cap สูงถึง 69% ของมูลค่าตลาดรวมแสดงให้เห็นชัดเจนว่าบริษัทขนาดใหญ่ในตลาดฯ ให้ความสำคัญการทำธุรกิจอย่างสะอาดและโปร่งใสซึ่งเป็นเครื่องชี้ที่ดีถึง คุณภาพการกำกับดูแลกิจการของบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ สิ่งต่อไปที่ต้องทำก็คือ ผ่านการรับรองจากคณะกรรมการ CAC โดยมีนโยบายและแนวปฏิบัติภายในองค์กรที่ชัดเจนในการต่อต้านการทุจริต พร้อมขยายวงธุรกิจสะอาดไปสู่บริษัทที่เป็นคู่ค้า และบริษัทขนาดกลางและเล็กให้เข้ามาร่วมโครงการให้มากขึ้น” ดร. บัณฑิต กล่าว
       ทั้งนี้ จะมีการประกาศรายชื่อบริษัทที่ผ่านการรับรองและมอบใบรับรองอย่างเป็นทางการ ในงานสัมมนาประจำปีของ CAC ในหัวข้อ “บทบาทความร่วมมือภาครัฐ-เอกชนในการต่อสู้คอร์รัปชัน” โดยจะมีการปาฐกถาพิเศษและร่วมเสวนาโดยผู้บริหารระดับสูงในการต่อต้านการ ทุจริตจากทั้งภาครัฐและเอกชนทั้งในและต่างประเทศ เช่น นายสมหมาย ภาษี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง นายปานเทพ กล้าณรงค์ราญ ประธานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) นายประมนต์ สุธีวงศ์ ประธานองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) เป็นต้น
       ทั้งนี้ CAC ก่อตั้งขึ้นมาตั้งแต่ปี 2553 มีวัตถุประสงค์เพื่อให้เกิดการนำนโยบายและมาตรฐานการกำกับดูแลที่มี ประสิทธิภาพในการป้องกันการคอร์รัปชันในระดับบริษัทธุรกิจไปปฏิบัติ โดยบทบาทของ CAC จะเน้นในส่วนของบริษัทเอกชน ด้วยการพยายามให้มีการนำนโยบายต่อต้านคอร์รัปชันไปปฏิบัติให้เกิดผลจริง โดย CAC ทำงานอย่างใกล้ชิดและคู่ขนานไปกับ องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) (ACT)
       โครงการ CAC ได้รับการสนับสนุนการดำเนินการจาก Center for Private Enterprise หรือ CIPE จากสหรัฐอเมริกา และถูกจัดตั้งขึ้นมาโดยองค์กรธุรกิจชั้นนำของประเทศซึ่งได้แก่ สมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย (IOD) สภาหอการค้าไทย สภาหอการค้าร่วมต่างประเทศในประเทศไทย (JFCCT) สมาคมบริษัทจดทะเบียนไทย สมาคมธนาคารไทย สภาธุรกิจตลาดทุนไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสภาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย
       รายชื่อ 24 บริษัทที่ผ่านการรับรองในไตรมาสที่ 3
       1.บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)
       2.บริษัท อินโดรามา เวนเจอร์ส จำกัด (มหาชน)
       3.ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน)
       4.ธนาคาร ทหารไทย จำกัด (มหาชน)
       5.ธนาคาร ยูโอบี จำกัด (มหาชน)
       6.บริษัท แอล เอช ไฟแนนเชียล กรุ๊ป จำกัด (มหาชน)
       7.ธนาคาร แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ จำกัด (มหาชน)
       8.บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ จำกัด
       9.บริษัทหลักทรัพย์ บัวหลวง จำกัด (มหาชน)
       10.บริษัท กรุงเทพประกันชีวิต จำกัด (มหาชน)
       11.บริษัท ทุนธนชาต จำกัด (มหาชน)
       12.ธนาคาร ธนชาต จำกัด (มหาชน)
       13.บริษัทหลักทรัพย์ ธนชาต จำกัด (มหาชน)
       14.บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ธนชาต จำกัด
       15.บริษัท ธนชาต ประกันภัย จำกัด (มหาชน)
       16.บริษัทหลักทรัพย์ เคเคเทรด จำกัด
       17.บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ภัทร จำกัด
       18.บริษัทบริหารสินทรัพย์ แม๊กซ์ จำกัด
       19.บริษัทบริหารสินทรัพย์ เอ็น เอฟ เอส จำกัด
       20.บริษัทบริหารสินทรัพย์ ที เอส จำกัด
       21.บริษัทประกันชีวิต นครหลวงไทย จำกัด (มหาชน)
       22.บริษัท ราชธานี ลิสซิ่ง จำกัด (มหาชน)
       23.บริษัท อุตสาหกรรมถังโลหะไทย จำกัด (มหาชน)
       24.บริษัท ไบเออร์ไทย จำกัด


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : บริษัทเอกชน ผลักดัน ธุรกิจสะอาด ต้านคอร์รัปชัน

view