สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ฮ่องกงในดงสนธยา

ฮ่องกงในดงสนธยา

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์




ข่าวต่างประเทศในช่วงต้นเดือนที่ผ่านมานี้แทบจะถูกยึดครองพื้นที่สื่อด้วยเหตุการณ์ประท้วงในฮ่องกง

เพราะในมุมมองของสื่อหลายๆ สำนักมักจะคิดว่าความวุ่นวายที่เกิดขึ้นนั้นคล้ายกับเหตุการณ์ความไม่สงบในบ้านเรา ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้วมีความแตกต่างกันมากมายในเกือบจะทุกมุมมองเลยทีเดียว

ความตึงเครียดที่ระเบิดเป็นการประท้วงของฮ่องกงนั้นเรามักจะได้ข้อมูลข่าวสารจากสื่อกระแสหลักในยุโรปและอเมริกาเป็นหลัก จนทำให้เราได้เสพแต่ภาพของผู้ชุมนุมที่เป็นนักเรียน นักศึกษา และคนรุ่นใหม่ ซึ่งคล้ายคลึงกับกลุ่มผู้ชุมนุมของบ้านเราในอดีต

หากต้องการเห็นภาพที่ชัดเจนขึ้นของเขตบริหารพิเศษแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีนแห่งนี้เราคงต้องเท้าความไปถึงสงครามฝิ่นที่ประเทศจีนต้องพ่ายแพ้ต่อสหราชอาณาจักร ตั้งแต่ปี 2385 (1842) และ 2403 (1860) จนต้องยินยอมยกเกาะฮ่องกงรวมถึงดินแดนตอนใต้ของแม่น้ำเซินเจิ้นให้สหราชอาณาจักรเช่าเป็นระยะเวลายาวนานถึง 99 ปี

นับตั้งแต่ผู้สำเร็จราชการคนแรกคือ Lord Palmerston จนถึงคนสุดท้ายคือ Lord Chris Patten สหราชอาณาจักรได้วางรากฐานการศึกษา เศรษฐกิจ และการปกครองที่เข้มแข็งให้ฮ่องกงจนมีความเจริญรุดหน้าเทียบเคียงประเทศพัฒนาแล้ว

จนเมื่อครบกำหนด 99 ปีในวันที่ 30 มิถุนายน 2540 (1997) การส่งมอบเกาะฮ่องกงคืนให้จีนจึงกลายเป็นความหวาดหวั่นของคนฮ่องกงจำนวนไม่น้อยที่ไม่เชื่อมั่นในการปกครองของจีน แม้ว่าจะมีสัญญาจากรัฐบาลจีนที่ยอมให้ฮ่องกงมีสถานะเป็นเขตปกครองตนเองได้ต่อไปอีก 50 ปีก็ตาม

เมื่อขาดความเชื่อมั่นและคิดว่าการกลับสู่อ้อมอกของจีนน่าจะเป็นจุดล่มสลายของเศรษฐกิจฮ่องกงที่มั่งคั่งมายาวนานจนเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจของโลกแห่งหนึ่ง คนกลุ่มนี้จึงขายธุรกิจ ขายบ้าน อพยพโยกย้ายไปยังประเทศต่างๆ เช่น สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย โดยเฉพาะแคนาดาที่มีชาวฮ่องกงตั้งรกรากอยู่ในแวนคูเวอร์จนกลายเป็นฮ่องกงทาวน์ไปแล้ว

เมื่อฮ่องกงไม่ได้แย่อย่างที่พวกเขาคิด คนกลุ่มนี้จึงกลับไปทำธุรกิจต่อในฮ่องกง แต่แน่นอนว่าเศรษฐกิจฮ่องกงที่ขยายตัวต่อเนื่อง การจะกลับไปซื้อกิจการและซื้อบ้านของตัวเองคืนมาจึงแทบจะเป็นไปไม่ได้เพราะราคาที่ปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่องตามภาวะเศรษฐกิจและที่ดินที่มีจำนวนจำกัด คนกลุ่มนี้จึงเป็นคนกลุ่มหนึ่งที่มีปัญหาต่อเนื่องมาจนถึงทุกวันนี้

การมองโลกในแง่ร้ายและการคาดการณ์ที่ผิดพลาดทำให้คนกลุ่มนี้พลาดโอกาสสำคัญในการก้าวกระโดดของจีนสู่เวทีโลก โดยมีฮ่องกงเป็นด่านแรกจนสร้างความมั่งคั่งให้หมู่เกาะเล็กๆ แห่งนี้มากมายเกินกว่าที่ใครจะคาดคิด

นับตั้งยุคผู้นำประเทศ เติ้งเสี่ยวผิง ที่เปิดกว้างด้วยนโยบายบริหารแบบ 1 ประเทศ 2 ระบบ ทำให้ฮ่องกงรักษาอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจและยังคงสถานะการเป็นศูนย์กลางทางการเงิน การเป็นท่าเรือน้ำลึกที่สำคัญระดับโลก รวมถึงประตูการค้าสู่ประเทศจีน จนทำให้รายได้ต่อประชากรของฮ่องกงสูงติดอันดับ 1-5 ของโลกติดต่อกันหลายปี

ความพร้อมของฮ่องกงอยู่ที่ความเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจการค้าในหลายๆ ด้าน อัตราภาษีรายได้บุคคลธรรมดาและนิติบุคคลก็ต่ำมากเมื่อเทียบกับประเทศในเอเชีย ระบบขนส่งทั้งระบบทาง ระบบราง และท่าเรือน้ำลึกอันทันสมัย และระบบสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานที่มีความพร้อมติดอันดับต้นๆ ของโลก ทั้งอุโมงค์ใต้น้ำ สะพานเชื่อมเกาะต่างๆ ฯลฯ

อีกปัจจัยหนึ่งที่สำคัญไม่แพ้กันก็คือลักษณะพิเศษทางภูมิศาสตร์ที่เป็นประตูสำคัญทางภาคใต้ของจีน และไม่เพียงเท่านั้น เพราะรัฐบาลจีนตั้งใจจะให้สิทธิประโยชน์ต่างๆ กับฮ่องกงเพื่อสร้างมาตรฐาน 1 ประเทศ 2 ระบบให้ประสบผลสำเร็จจึงต้องวางแผนมากมายเพื่อให้ทุกอย่างบรรลุเป้าหมาย

รายละเอียดมีอะไร และส่งผลอย่างไรถึงการประท้วงในครั้งล่าสุดนี้คงต้องติดตามต่อใน “ไอทีไร้พรมแดน” ฉบับวันอังคารหน้า


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : ฮ่องกง ดงสนธยา

view