สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

สุขภาพขององค์กร

สุขภาพขององค์กร

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์




คำว่า Organizational Health หรือสุขภาพขององค์กร เป็นคำที่ผมนึกถึงมากขึ้นในช่วงหลัง

ทั้งนี้ อาจจะเนื่องจากได้มีโอกาสพบเจอกับหลายๆ องค์ กรที่มีทั้งสุขภาพที่ดี หรือ ปรารถนาที่จะมีสุขภาพที่ดี หรือ ที่มีสุขภาพที่แย่ ฯลฯ และยิ่งเมื่อเปรียบเทียบกับสุขภาพของคนเรา ก็จะพบว่าองค์กรต่างๆ ในประเทศไทยจะมีระดับความแข็งแรงของสุขภาพที่แตกต่างกันออกไป ทำให้ไปลองค้นคว้าในเรื่องนี้ดูและพบหนังสือเล่มหนึ่งชื่อ Beyond Performance ที่เขียนโดย Scott Keller และ Colin Price ที่ศึกษาลงไปในรายละเอียดในเรื่องของสุขภาพองค์กร

เหมือนกับคนที่มีสุขภาพดีทั่วๆ ไป ที่คนคนนั้นจะต้องมีความแข็งแรงทั้งในปัจจุบัน และ ความแข็งแรงที่พร้อมจะเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ เชื้อโรค อุบัติเหตุต่างๆ ที่ไม่อาจจะคาดเดาได้ในอนาคต ดังนั้น องค์กรที่มีสุขภาพที่ดีนั้น จะต้องมีความแข็งแรงทั้งในการดำเนินงานในปัจจุบัน และ พร้อมที่จะเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงหรือความไม่แน่นอนต่างๆ ได้ในอนาคตได้อย่างดี สามารถที่จะเรียนรู้และปรับตัวได้อย่างรวดเร็วอยู่ตลอดเวลา

เช่นเดียวกับการเสริมสร้างสุขภาพที่ดีในคนทั่วไป ที่คนแต่ละคนมีความแตกต่างกัน แนวทางหลักๆ ในการมีสุขภาพที่ดีในคนนั้นอาจจะไม่ต่างกันแต่วิธีการหรือแนวปฏิบัตินั้นแตกต่างกัน ดังนั้น สำหรับองค์กรที่ต้องการมีสุขภาพที่ดีเช่นเดียวกัน ที่เราอาจจะสามารถเรียนรู้แนวปฏิบัติที่ดีจากองค์กรอื่นได้ แต่จะพบเลยครับว่าสูตรหรือตำราในการนำไปสู่ความมีสุขภาพที่ดีสำหรับองค์กรแต่ละแห่งนั้นไม่เหมือนกัน แต่ละองค์กรจะต้องสร้างสูตรของตนเองขึ้นมา ที่เหมาะสมกับองค์กรของตนเอง

ท่านผู้อ่านอาจจะสงสัยต่อว่าแล้วองค์กรที่มีสุขภาพที่ดีจะนำไปสู่สิ่งใด? ในหนังสือ Beyond Performance ก็มีผลวิจัยที่เขาไปศึกษาคนกว่า 600,000 คนในมากกว่า 500 บริษัททั่วโลก และพบว่าองค์กรที่มีสุขภาพที่ดีนั้น จะเป็นองค์กรที่มีผลประกอบการที่ดีด้วย

คราวนี้ก็มาถึงคำถามสำคัญแล้วครับว่า แล้วอะไรคือสิ่งที่เป็นตัวบอกว่าองค์กรมีสุขภาพที่ดีหรือไม่? ผู้เขียนหนังสือทั้งสองคนก็ได้พัฒนาโมเดลที่น่าสนใจเพื่อใช้ในการตรวจสุขภาพองค์กร โดยในการที่จะสามารถระบุได้ว่าองค์กรของตนเองมีสุขภาพที่ดีนั้นจะต้องตรวจเช็คโดยดูจากแนวทางในการบริหารจัดการทั้งหมด 37 ประการ ซึ่งแนวทางในการบริหารทั้ง 37 ประการนั้นสามารถถูกจัดหมวดหมู่เข้าอยู่ในทั้งหมด 9 หมวดด้วยกัน

ท่านผู้อ่านลองดูทั้ง 9 หมวดนี้แล้วอาจจะลองประเมินดูองค์กรตนเองในเบื้องต้นว่ามีสุขภาพดีแค่ไหนก็ได้ครับ โดยทั้ง 9 หมวดประกอบไปด้วย 1) ทิศทาง 2) ความรับผิดชอบ 3) การประสานงานและควบคุม 4) การมุ่งเน้นต่อปัจจัยภายนอกองค์กร 5) ภาวะผู้นำ 6) นวัตกรรมและการเรียนรู้ 7) ความสามารถ 8) การจูงใจ และ 9) วัฒนธรรมและบรรยากาศการทำงาน

จริงๆ ไม่ต้องลงไปดูในรายละเอียดทั้ง 37 ประการ เพียงแค่ดูจากทั้ง 9 หมวดเราก็พอจะระบุได้ว่าองค์กรเรามีสุขภาพที่ดีหรือไม่ ในองค์กรที่มีปัญหาเรื่องสุขภาพนั้น ไม่ว่าจะเจาะลึกในหมวดไหนก็ล้วนแล้วแต่มีปัญหาทั้งสิ้น ตั้งแต่การขาดทิศทางที่รับรู้และเข้าใจร่วมกัน หรือ การประสานงานหรือเชื่อมโยงกันระหว่างแต่ละหน่วยงาน หรือ ขาดขวัญและกำลังใจในการทำงาน หรือ บรรยากาศในการทำงานไม่เกื้อหนุนต่อความสำเร็จขององค์กร หรือ ขาดผู้นำที่ดี มีวิสัยทัศน์ หรือ มุ่งเน้นแต่ตนเองจนไม่สนใจต่อการเปลี่ยนแปลงภายนอก เป็นต้น

การที่จะสร้างให้องค์กรของตนเองมีสุขภาพที่ดีขึ้นมาได้นั้น จะต้องอาศัยสิ่งที่จำต้องได้ลำบากอยู่มากพอสมควร การจะเป็นองค์กรสุขภาพดีได้ไม่ใช่เพียงแค่อาศัยการบริหารตัวเลข หรือ ผลการดำเนินงาน แล้วก็จะเป็นองค์กรสุขภาพดีได้ อย่างไรก็ดี สุขภาพขององค์กรนั้นก็ไม่ใช่เป็นหน้าที่ของฝ่ายทรัพยากรบุคคลหรือฝ่ายพัฒนาองค์กรเท่านั้นนะครับ แต่เป็นเรื่องของคนทุกคนในองค์กรที่จะต้องช่วยกัน เพียงแค่การสร้างบรรยากาศในการทำงานที่เชื่อมโยงประสานกัน ไม่มีการโยนงานหรือความรับผิดชอบระหว่างหน่วยงาน ก็เป็นหนึ่งในปัจจัยที่นำไปสู่สุขภาพองค์กรที่ดีแล้ว หรือ การที่บุคลากรในองค์กรมุ่งเน้นและให้ความสำคัญต่อประโยชน์หรือความสำเร็จขององค์กรเป็นสำคัญ ไม่ใช่มุ่งแต่จะคิดถึงแต่สิ่งที่ตนเองจะได้รับอยู่อย่างเดียว

อยากจะเชิญชวนท่านผู้อ่านลองตรวจสุขภาพองค์กรของตนเองในเบื้องต้นดูนะครับ เพื่อจะได้ทราบว่าตอนนี้ส่วนไหนที่ไม่แข็งแรง และเราจะเสริมสร้างสุขภาพให้กับส่วนที่อ่อนแอได้อย่างไร เพื่อสุดท้ายแล้วองค์กรจะมีสุขภาพที่แข็งแรง และนำไปสู่ผลประกอบการที่ดีครับ


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : สุขภาพขององค์กร

view