สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

คุณหลอกดาว

คุณหลอกดาว

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์




โดยส่วนตัวและโดยหน้าที่ผมชอบนโยบาย Digital Economy มาก ทั้งคุ้นเคยกับวิธีคิด วิธีการพัฒนาธุรกิจ

และวิธีการประยุกต์กับอุตสาหกรรมอื่น

แต่ผมก็อดรู้สึกไม่ได้ว่า นโยบายที่ดีอย่างนี้จะยืนอยู่ในความรับรู้ และการลงมือทำของภาครัฐได้ยาวนานขนาดไหน

ไม่กี่ปีที่ผ่านมา เรามีแนวคิดของเศรษฐกิจฐานความรู้ (Knowledge-based Economy) โดยรัฐบาลชุดหนึ่ง จากนั้นรัฐบาลอีกชุดหนึ่งนำเสนอนโยบายเรื่องเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (Creative Economy) แล้วถัดมาทั้งสองเรื่อง ก็เลือนรางไปจากแนวนโยบายของรัฐ

ประชาชนก็อาจฝันค้างได้ และผมก็ค่อนข้างมีความรู้สึกเล็กน้อยว่า เราอาจอกหักได้อีกครั้ง เมื่อมีการผลัดเปลี่ยนรัฐบาล

อันที่จริง ไม่ว่าเศรษฐกิจฐานความรู้ เศรษฐกิจสร้างสรรค์ เศรษฐกิจดิจิตอล หรือต่อไปอาจจะมีเศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) ตามมา มันก็ดีทั้งนั้นครับ ล้วนแล้วแต่เป็นนโยบายที่ชวนให้ “หนูดาว” อย่างเราฝันเคลิ้มกลางวันถึงชายหนุ่มรูปหล่อฐานะดี ที่จะมาฉุดชีวิตเราให้ดีขึ้นจากดาวไปเป็นเดือนได้...แล้วบางที เราอาจจะต้องอกหักซ้ำๆ ซากๆ เพราะถูกชายคนเก่าทิ้งไปอย่างไม่ใยดี ดาวจึงถูกหลอกให้ชอกช้ำกับฝันกลางวัน ลอยมาลอยไปอย่างนี้มานานแล้ว

เมื่อรัฐไม่ชัดเจน (อันที่จริงก็ชัดเจน แต่ช่วงเวลาของความชัดเจนนั้นแสนสั้นเหลือเกิน) งบประมาณก็ขาดเสถียรภาพ เพราะเงินที่จะลงไปพัฒนา สนับสนุน หรือส่งเสริมในแนวนโยบายนั้นๆ ก็จะเปลี่ยนแปรไปมา ทำให้โครงสร้างพื้นฐานที่เป็นเรื่องใหญ่และสำคัญ ไม่ได้ถูกวางไว้อย่างเป็นระเบียบ

เรามีสำนักงานของรัฐ องค์กรของรัฐ ที่ว่าด้วยเรื่องเศรษฐกิจฐานความรู้ เศรษฐกิจสร้างสรรค์ ทั้งคู่ครับ แถมวันนี้เราก็ยังมีหลายหน่วยงานที่ทำหน้าที่สนับสนุนสิ่งที่สอดคล้องกับเศรษฐกิจดิจิตอลด้วยซ้ำ

คำถามคือ เราจะเอาแน่สักทางดีไหมครับ มันจะได้ชัดเจน ไม่เป็นเบี้ยหัวแตก ธุรกิจก็จะได้เดินตามกันถูกทาง ไม่ใช่ทางใครทางมัน รัฐ เอกชน ผู้ประกอบการ จะได้ร่วมมือกันใช้ทรัพยากรประเทศเพื่อการพัฒนาที่มีเป้าหมายร่วมกัน

เงินแผ่นดินมีจำกัดครับ อยากได้เพิ่มก็ต้องเก็บภาษีเพิ่ม หรือไม่ก็ต้องพัฒนาธุรกิจให้มีรายได้เพิ่ม เพื่อที่จะได้มีเงินบำรุงรัฐเพิ่มมากขึ้น เราจึงมีนโยบายดีๆ เหล่านั้นออกมา ไม่ใช่แค่เพื่อเรื่องเงินๆ ทองๆ แต่ย่อมส่งผลดีต่อสังคมในภาพรวมด้วย เพราะเราได้พัฒนารากฐานทางเศรษฐกิจที่มีความเหมาะสมกับศักยภาพและความสามารถของประเทศชาติแต่ถ้าเปลี่ยนแนวทางกันบ่อยก็ไม่ไหวเหมือนกัน

สิ่งที่ผมคิดว่า อาจเป็นมรดกที่รัฐอาจทิ้งไว้ได้คือ กฎหมายที่เกี่ยวข้อง ซึ่งในสถานการณ์ปัจจุบัน น่าที่จะเกิดได้ไม่ยากลำบากนัก

ในโลกที่พัฒนาแล้ว นโยบายสำคัญๆ ล้วนแล้วแต่ต้องมีกฎหมายรองรับทั้งนั้น

เพราะเขาต้องการให้เป็นเรื่องที่ยั่งยืน ไม่ใช่มาแล้วโปรยเสน่ห์ยาหอมใส่ แล้วก็ไป แต่ต้องให้ทำเป็นเรื่องที่ต่อให้รัฐบาลชุดนี้ไม่อยู่ รัฐบาลใหม่ก็ต้องรับหน้าที่ไปทำต่อ เพราะมีกฎหมายสั่งให้ทำไว้แล้ว งานจึงจะมีความต่อเนื่อง

ถ้าอยากเปลี่ยนแปลงนโยบายพื้นฐานตรงนั้น ก็ต้องปรับแก้กฎหมายกันนั่นเอง นโยบายถึงจะกลายเป็นเรื่องจริงจัง ไม่ใช่เรื่องเชื่อก็ได้ไม่เชื่อก็ได้ วันนี้ทำ พรุ่งนี้เลิก

ผมสนับสนุน Digital Economy เต็มที่ เพราะผมรู้ดีว่า เด็กไทยรุ่นใหม่ปัจจุบันเขาเติบโตมากับเรื่องนี้ โดยที่ผู้ใหญ่ไม่ต้องสอน ถึงสอนก็ไม่อาจคุมการเรียนรู้ของเขาได้ ถึงคุมได้ก็ไม่มีวันครอบคลุมได้หมด

เพราะวันนี้ เรื่องดิจิตอลมันแทรกซึมเป็นยาดำในทุกเรื่องทุกด้านของชีวิต ไม่ว่าจะยากดีมีจน ก็เกี่ยวกันทั้งนั้น ขนาดทีวียังเป็นดิจิตอลเลย

อีกประการ ว่ากันด้วยเรื่องความสามารถแล้ว ผมไม่เชื่อว่า เราไม่แพ้ชาติใดในโลกมาแต่กำเนิด

ทว่า ผมเชื่อว่า เราไม่ได้เก่งมากนัก (ในวันนี้) แต่ถ้าเราทำกันดีๆ เราอาจจะพอสู้เขาได้ในบางเรื่องบางมุมของธุรกิจ

ผมรู้จักน้องๆ รุ่นใหม่หลายคน ที่ไปได้ดิบได้ดีกับการประกอบธุรกิจใหม่เกี่ยวกับดิจิตอล สามารถดึงดูดเงินลงทุนจากต่างประเทศได้เยอะ ไม่ว่าจะเป็นบริษัทอย่าง Builk, Wongnai, ShopSpot, Ensogo, Ookbee, Computerlogy และ Tarad

พวกนี้มูลค่าธุรกิจรวมกันสูงกว่า 10,000 ล้านบาทครับ

จ้างงานก็เยอะ และกระจายรายได้ไปสู่ภาคอุตสาหกรรมอื่นอีกมาก ตั้งแต่ สิ่งพิมพ์ แฟชั่น รับเหมา สุขภาพ การศึกษา ค้าปลีก เกษตร การเงิน อสังหาริมทรัพย์ อุตสาหกรรมในครัวเรือน หัตถกรรม วัสดุก่อสร้าง อาหาร ท่องเที่ยว โลจิสติกส์ ฯลฯ

ถ้าประเมินวงเงินที่เกี่ยวพันกันในทางเศรษฐกิจ หรือเงินหมุนเวียนในระบบที่บริษัทข้างต้นก่อให้เกิด น่าที่จะไม่ต่ำกว่า 100,000 ล้านบาทต่อปี

คำถามที่น่าสนใจเป็นอย่างยิ่งก็คือ เราจะทำบริษัทอย่างนี้ออกมาอีกได้ไหม?

คำตอบคือ ได้ครับ และผมก็เชื่อว่า “เราทำได้จริง” ด้วย

นี่ต่างหากที่รัฐควรมุ่งไป ไม่ว่าจะด้วยการใช้งบประมาณของรัฐลงไปพัฒนา สนับสนุน หรือส่งเสริม เพราะผลกระทบต่อภาคเศรษฐกิจโดยรวมนั้น ล้วนแล้วแต่เป็นของจริง

ลองคิดดูว่า ชีวิตทั้งชาวลูกทุ่ง ลูกกรุง สมัยปัจจุบันนี้ ต่างพึ่งพาอาศัยมือถือเป็นอวัยวะติดตัวกันทั้งนั้น แม้แต่พนักงานรักษาความปลอดภัย ยันแม่บ้าน คนขับรถรับจ้าง วินมอเตอร์ไซต์ ยังมีสมาร์ทโฟนไว้ใช้กันเลย ชีวิตเราอยู่บนแพลทฟอร์มโมบายกันมากขึ้นทุกวันทุกคืน

ยิ่งในธุรกิจดิจิตอลแล้ว ยิ่งทำง่าย เริ่มต้นง่าย ต้นทุนต่ำ อาศัยความคิดเป็นหลัก สามารถเริ่มจากคน 1 คนได้ ที่สำคัญคือ เป็นธุรกิจที่มี Leveraging Power สูง เนื่องจากเป็นธุรกิจที่โตเร็ว (High Growth) และสร้างมูลค่าได้มาก อย่างที่ผมบอกว่า การบริโภคปัจจุบันของประชากร หันไปสู่ Mobile มากขึ้นเรื่อยๆ ดังนั้น บริษัทหรือองค์กรในวันนี้ ต้องขบคิดเรื่องนี้อย่างจริงจังครับว่า เรายังอยู่ในอนาล็อกโหมดหรือเปล่า ถ้าใช่ เราอาจจะกำลังค่อยๆ เลือนหายไปโดยไม่รู้ตัว

สิ่งที่น่าดีใจคือ ไม่ว่าวันนี้ รัฐจะสนับสนุนอย่างจริงจังหรือไม่ก็แล้วแต่ ภาคเอกชนไปข้างหน้าไม่ได้รอแล้ว ปัญหาคือ รัฐจะวิ่งตามมาทันหรือไม่ หรือจะเดินต้วมเตี๊ยมจนหมดเวลาเสียก่อน

จากการสำรวจของ Thumpsup วันนี้ เรามีธุรกิจดิจิตอล ที่อยู่ในช่วงของการพัฒนาสินค้าและบริการใหม่ ประมาณ 45% อีกเกือบ 30% นำร่องทดสอบตลาดไปแล้ว และมีราวๆ 12% ที่กำลังขยายธุรกิจและเติบโตอย่างเข้มแข็ง

ณ วันนี้ ไม่ว่าผู้มีอำนาจจะพูดอย่างไร หรือจะทำ (ต่อไป) อย่างไรก็แล้วแต่ หนูดาวผู้ไม่มีอำนาจ ได้ลงมือทำมาแล้วไม่ต่ำกว่า 3 ปี ด้วยอัตราการเติบโตที่มากกว่า 100% ในแต่ละปี ดาววันนี้จึงไม่อาจถูกหลอกได้โดยง่ายอีกต่อไป

เหลือแต่คำถามคือ ดาวเขาจะเอากับคุณด้วยหรือไม่? เท่านั้นเอง


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : คุณหลอกดาว

view