สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ขายของให้เด็กเล็ก

ขายของให้เด็กเล็ก

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์




ขายของไม่ใช่เรื่องง่าย มีลูกค้าต่างกลุ่มต่างวัย มีความต้องการที่แตกต่างกันออกไป

กลยุทธ์สำหรับวัยรุ่นอาจจะไม่เหมาะกับคนวัยทำงาน วิธีการขายสำหรับลูกค้าซึ่งมีครอบครัวแล้ว สามารถจะกลายเป็นโศกนาฏกรรมของนักขายถ้าเอาไปใช้กับคนโสด การขายของให้เด็ก โดยเฉพาะเด็กเล็กอายุไม่เกินเจ็ดขวบ ซึ่งดูเหมือนจะเป็นเรื่องหมู แต่พอเอาเข้าจริงก็จะรู้ว่างานนี้เจอกับหมูเขี้ยวตันเข้าเสียแล้ว เพราะเด็กในช่วงอายุนี้รับรู้และตีความข้อมูลได้ไม่เท่ากับผู้ใหญ่

ลองนึกถึงขนมขบเคี้ยว ของเล่น เสื้อผ้า เครื่องใช้ของเด็กเล็ก น่าพอจะนึกออกว่า สินค้าบางตัวสีสันฉูดฉาดจนจ้องได้ไม่นานก็ปวดลูกตา ลองนึกดูว่า ขนาดผู้ใหญ่ที่มีประสาทตาดี ยังทนดูไม่ได้ แล้วเด็กเล็กจะดูได้นานสักแค่ไหนเชียว ถ้าเด็กไม่ดู หรือดูไม่นาน คิดหรือว่าสินค้านั้นจะขายดี?

ผลการศึกษาด้านจิตวิทยาเด็กเล็กส่วนใหญ่ได้ผลตรงกันว่า ภาพซึ่งสื่อความหมายแบบเดียวกับข้อความในภาพจะช่วยให้เด็กสามารถจำข้อความที่ต้องการสื่อออกไปได้ดีกว่าภาพเพียงอย่างเดียวหรือข้อความเพียงอย่างเดียว การตั้งชื่อสินค้าจึงควรเป็นชื่อที่จำง่าย เด็กสามารถโยงให้เข้ากับสินค้านั้นได้ โลโก้หีบห่อรูปภาพก็ต้องเข้ากับชื่อ ไม่ใช่ขายขนมปังกรอบใส่ลูกเกดแต่ไปเอารูปแม่ไก่มาไว้บนกล่อง แบบนี้เด็กก็จะสับสนกันไปใหญ่

เมื่อภาพและข้อความในสื่อไม่สอดคล้องกัน เด็กจะไม่ให้ความสนใจกับสื่อนั้นมากนัก แถมพอดูเสร็จแล้ว เดี๋ยวเดียวก็ลืม บางทีสนใจแต่รูปจนไม่ได้อ่านข้อความหรือสังเกตองค์ประกอบอย่างอื่นเลย นักจิตวิทยาเขาบอกว่า ถ้าคิดจะออกแบบโฆษณาที่ภาพกับข้อความมันขัดแย้งกันแบบสุดๆ สู้เด็กอ่านข้อความบนกระดาษขาวเด็กยังจะจำได้ดีกว่าเสียอีก

ผลสรุปทางจิตวิทยาอีกข้อ คือ เด็กมีแนวคิดเกี่ยวกับความหมายของสีแต่ละสีอยู่ในใจแล้ว การแยกแยะเฉดสีของเด็กไม่ได้สลับซับซ้อนเหมือนกับผู้ใหญ่ ความสามารถในการแยกและรายละเอียดของสีจะเพิ่มขึ้นตามวัยและการศึกษาอบรม การเล่นสีจึงต้องมีความชัดเจน สีฟ้าสามเฉดสีในสายตาคนออกแบบมันก็คือสีฟ้าเหมือนกันสำหรับเด็ก

เนื่องจากภาพเป็นส่วนผสมของเส้นและสี การเลือกใช้สีที่เหมาะกับวัยของเด็กและเหมาะกับบุคลิกของสินค้าจึงเป็นเรื่องสำคัญ อย่าคิดว่าต้องโลโก้ต้องสีแดงแจ๊ด กล่องต้องเหลืองจัดสลับกับสีเขียวปี๋ หรือต้องเป็นสีสะท้อนแสงถึงจะได้ผล มันขึ้นอยู่กับว่าเราเองต้องการสื่ออารมณ์แบบไหนออกไปให้เด็กได้รับรู้

ผลสรุปข้อสุดท้าย คือ ภาพต้องไม่ “รก” จนเกินไป ถ้ามีจุดสนใจหลายๆ อย่างในภาพเดียวกัน เด็กจะเลือกจำโน่นนิดนี่หน่อย สุดท้ายก็เลยจำอะไรได้ไม่ค่อยดี ภาพที่ดีจึงควรจะมีองค์ประกอบหลักซึ่งเป็นจุดสนใจไม่มากนัก เอาสักที่สองที่ก็พอ

ลองมาทำการทดลองกันหน่อยนะครับ สมมติว่าเราแบ่งเด็กออกเป็นสองกลุ่ม กลุ่มแรกเข้าไปในห้องหมายเลขหนึ่ง กลุ่มที่สองเข้าห้องหมายเลขสอง ทั้งสองห้องมีโปสเตอร์อยู่สามอัน สำหรับของกินสามอย่าง แยมน้ำผึ้ง น้ำอัดลมรสส้ม น้ำองุ่น ให้เด็กเดินผ่านและกลุ่มเดินผ่านเข้าไปในห้องของกลุ่มตัวเอง พอออกมาก็ให้เด็กลองชี้สินค้าตัวอย่างที่เราตั้งเอาไว้ว่าสินค้าอะไรที่โฆษณาอยู่ในห้อง

ตารางที่แสดงไว้ดัดแปลงมาจากผลการศึกษาของงานวิจัยเกี่ยวกับการศึกษาพฤติกรรมการรับรู้ของเด็กเรื่องหนึ่ง โดยเป็นการแสดงรายละเอียดของโปสเตอร์โฆษณาสินค้าในแต่ละห้อง ลองเดากันดูเล่นๆ ว่าสินค้าอะไรในห้องไหนที่เด็กจำได้มากที่สุด

ผู้วิจัยเขาใช้วิธีการทางสถิติขั้นสูงเพื่อวิเคราะห์ผลจากแบบสอบถาม ได้ผลว่าเด็กจำแยมน้ำผึ้งและน้ำอัดลมรสส้มในห้องแรกได้ดีกว่าห้องที่สอง น้ำองุ่นในห้องแรกมีคนจำได้น้อยเมื่อเทียบกับแยมน้ำผึ้งและน้ำอัดลมรสส้มในห้องแรก ถ้าเอาผลรวมๆ ของห้องแรกมาเทียบกับห้องที่สอง เด็กในห้องแรกจำโปสเตอร์และตัวสินค้าได้มากกว่าเด็กในห้องที่สอง

ถึงแม้ข้อกลุ่มตัวอย่างจะเป็นเด็กฝรั่ง แต่ผลที่ได้ก็สามารถนำมาประยุกต์ใช้กับสินค้าในบ้านเราได้เหมือนกัน บางทีความฉูดฉาดอาจจะสะดุดตา ทำให้มีเด็กหันมาซื้อของเรา แต่หากมองกันยาวๆ ถ้าคนอื่นทำสีฉูดฉาดบ้างล่ะจะเป็นอย่างไร ลูกค้าตัวน้อยของเรายังจะจำสินค้าเราได้หรือเปล่า?

อย่าไปคิดว่าโปสเตอร์สีฉูดฉาดซึ่งมีรูปตัวการ์ตูนฮีโร่เต็มไปหมดจะช่วยให้ขายของได้เสมอไป ยิ่งถ้าต้องขายแข่งกับคนอื่นด้วย โปสเตอร์สีแจ๊ด ฮีโร่เต็มพรึ่บเหมือนกันหมด แทนที่เด็กจะจำได้ ฮีโร่ดันเข้าไปตีกันในหัวเด็ก สุดท้ายเลยจำได้แค่มีโปสเตอร์โฆษณาขนม มีสไปเดอร์แมน นินจาเต่า ก๊วนเรนเจอร์ อุลตร้าแมน แต่จำไม่ได้ว่าเป็นขนมยี่ห้ออะไร เสียเงินทำตลาดไปตั้งเยอะกลับไม่ได้อะไรเป็นชิ้นเป็นอัน มันน่าเสียดายนะครับ


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : ขายของให้เด็กเล็ก

view