สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

มองไกล-ทำใกล้ ปัจจัยสร้างอนาคต (1)

จากประชาชาติธุรกิจ

คอลัมน์ เอชอาร์คอร์เนอร์
อริญญา เถลิงศรี, บรูซ แมคเคนซี บริษัทที่ปรึกษา เอพีเอ็ม กรุ๊ป

นาทีนี้สำหรับประเทศไทยจำเป็นอย่างยิ่งที่บรรดาผู้ นำหรือผู้ที่วาดหวังจะเป็นผู้นำองค์กรไม่ว่าขนาดใหญ่หรือเล็กจะต้องทบทวนตัว เองว่าพัฒนาศักยภาพและคุณภาพในการทำงานให้เท่าทันกับสภาวการณ์และความ เปลี่ยนแปลงของโลกมากพอหรือไม่อย่างไร

เพราะเรามีเวลาอีกเพียง 1 ปีกับไม่กี่เดือนก่อนจะก้าวเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนหรือ AEC (ASEAN Economic Community) เราจึงยิ่งต้องถามตัวเองว่าพร้อมหรือยัง มีแผนการรับมือที่แข็งแรงหรือไม่ มีแผนการรุกที่เหมาะสมรัดกุมเพียงใด

การก้าวพลาดอาจจะหาหนทางแก้ไขได้ แต่คนที่ไม่ยอมก้าวไปข้างหน้ายึดติดอยู่แต่กับความสำเร็จในอดีตย่อมจะตกยุค และกลายเป็นเพียงประวัติศาสตร์ไปในที่สุด ดังเช่นบทเรียนมากมายที่เกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลาในแวดวงธุรกิจ หลายองค์กรเคยเป็นยักษ์ใหญ่ แต่ยักษ์...ก็ล้มได้เช่นกัน

การศึกษาวิจัยว่าด้วยเรื่องขีดความสามารถของผู้นำไทยในอนาคตที่จำเป็นต่อการทำงาน การบริหาร และนำพาองค์กรไปสู่ความสำเร็จ ได้มาถึงจิ๊กซอว์ชิ้นสุดท้าย ซึ่งเชื่อมโยงกับทุกหัวข้อที่เคยกล่าวมาแล้วในบทความก่อนหน้า ได้แก่ ความสามารถในการนำท่ามกลางความคลุมเครือไม่แน่นอน, การบริหารงานด้วยความยืดหยุ่น, กล้าสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ และลงมือทำทันที

ความสามารถในการสื่อสารกับคนต่างรุ่นต่างวัย โดยเฉพาะกับคนรุ่นใหม่ผู้เป็นอนาคตขององค์กร, การสร้าง การรักษา และการเรียกคืนความเชื่อมั่น-ศรัทธาในตัวผู้นำ และองค์กร, ศักยภาพในการเรียนรู้พัฒนาอย่างต่อเนื่องของผู้นำ และในครั้งนี้คือขีดความสามารถในการบริหารด้วยวิสัยทัศน์ ทั้งแผนเฉพาะหน้าระยะใกล้ และมองไกลไปถึงอนาคต

อนาคตเป็นสิ่งที่ไม่มีใครล่วงรู้ แต่ผู้นำที่มีวิสัยทัศน์สามารถสร้างอนาคตที่ดี และนำพาองค์กรให้ประสบความสำเร็จได้ ด้วยการกำหนดเป้าหมาย และทิศทางที่ถูกต้องเหมาะสม การวางกลยุทธ์การแก้ปัญหาเฉพาะหน้าอย่างมีประสิทธิภาพได้ทันท่วงที โดยตระหนักถึงผลกระทบที่จะเกิดตามมาในภายหลัง

สิ่งเหล่านี้นับเป็นตัวชี้วัดวิสัยทัศน์ของผู้นำเป็นอย่างดี

แต่เป็นที่น่าเสียดายว่าจากผลการศึกษาพบว่าผู้นำไทยส่วนใหญ่ให้ความสำคัญกับการทำงาน และแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้ามากกว่าจะมองการณ์ไกลไปสู่การพัฒนาและแก้ปัญหาที่ยั่งยืน อีกทั้งยังมีทัศนคติบางประการที่เป็นอุปสรรคขัดขวางความเจริญก้าวหน้าขององค์กร ซึ่งสามารถแก้ไขปรับปรุงได้และควรทำทันที

ผู้นำองค์กรของไทยไม่ว่า ภาครัฐหรือเอกชนมักจะให้ความสำคัญกับผลงานที่เห็นผลรวดเร็วทันใจและจับต้อง มองเห็นได้ นิยมตั้งเป้าผลงานโดยเน้นปริมาณมากกว่าคุณภาพ อีกทั้งยังค่อนข้างติดกับสูตรสำเร็จในการทำงาน/แก้ปัญหาด้วยวิธีเดิม ๆ แบบที่เคยทำกันมา

วิธีการเช่นนี้มีแต่จะทำให้องค์กรย่ำอยู่กับที่ เพราะไม่พัฒนาสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ ยิ่งไปกว่านั้น ผู้บริหารจำนวนมากมักสร้างผลงาน หรือแก้ปัญหาโดยไม่ค่อยคำนึงถึงผลสะท้อนที่จะตามมาในอนาคตมากนัก

ความจริงแล้วการแก้ปัญหาในปัจจุบันเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่จำเป็นต้องมองเผื่อไปถึงผลในอนาคตด้วย ถ้าแก้ไขไปเพียงให้จบเรื่อง หรือแค่ทำให้เสร็จไปโดยไม่นึกถึงวันข้างหน้า ก็เป็นไปได้ว่าจะมีปัญหาตามมาให้แก้อยู่ตลอด กลายเป็นการทำงานแบบแก้ปัญหาไปเรื่อย ๆ

ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดของการบริหารงานแบบไทย ๆ คือโครงการแท็บเลตเพื่อการศึกษาสำหรับนักเรียนชั้นประถมปีที่ 1 ของรัฐบาลที่ผ่านมา ซึ่งนำเสนอว่าเป็นสื่อการสอนที่ทันสมัย จะช่วยให้เด็กไทยก้าวทันโลก โดยให้เรียนรู้การใช้งานตั้งแต่ยังเด็กเพื่อสร้างพื้นฐานที่ดี

หากแต่สิ่งที่สำคัญยิ่งกว่าสื่อการสอนคือเนื้อหาบทเรียนที่จะใช้ในการสอนนั้นยังไม่พัฒนาไปไหน ยิ่งเมื่อต้องนำไปใช้ในแท็บเลตแล้วยิ่งต้องวางระบบและรูปแบบการใช้งานต่าง ๆ ให้เหมาะสมกับสื่อด้วย

สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นเรื่องยุ่งยากซับซ้อน ต้องอาศัยทรัพยากรทางความคิดวิทยาการหลากหลายแขนงร่วมกัน ใช้งบประมาณและเวลาอย่างมากในการเตรียมความพร้อม เพื่อให้เป็นสื่อการสอนที่มีประสิทธิภาพอย่างแท้จริง

แต่สิ่งเหล่านี้ไม่ใช่ผลงานที่จับต้องได้ในสายตาประชาชน สู้แจกจ่ายแท็บเลตให้กับนักเรียนไม่ได้ แจกปุ๊บรับได้ทันที สร้างความพึงพอใจให้กับผู้ปกครอง นักเรียน ครูทั่วประเทศได้ทันตาเห็น

แต่เมื่อนำไปใช้กลับมีสถานะไม่ต่างจากหนังสือเรียน บางโรงเรียนยังมีระบบสำรองไฟฟ้าไม่พอสำหรับชาร์จแบตเตอรี่พร้อม ๆ กันหลายแห่งครูผู้สอนยังไม่เข้าใจวิธีใช้อุปกรณ์ เมื่อเครื่องมือชำรุด ก็ไม่มีหน่วยงานที่รับผิดชอบดูแลซ่อมแซมอุปกรณ์คอยรองรับ และยังมีปัญหาอื่น ๆ อีกมากมายที่เรียกได้ว่าเป็นการใช้งบประมาณจำนวนมหาศาลของประเทศชาติอย่างเสียของ

ทั้ง หมดทั้งมวลเพราะผู้บริหารประเทศไม่ยอมศึกษาถึงผลกระทบต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้นรอบด้าน ไม่มีความสามารถในการมองไกลไม่มีแม้แต่แผนแก้ปัญหาเฉพาะหน้าจึงนับเป็นอีก โครงการของรัฐบาลที่ถูกทักท้วงและถูกวิพากษ์วิจารณ์ตลอดมาหลายคนจึงเชื่อว่า การสร้างผลงานให้เป็นที่ประจักษ์คือความสำเร็จ แต่อาจไม่ใช่ทุกความสำเร็จที่สามารถตอบสนองต่อเป้าหมายระยะยาวขององค์กร ตัวอย่างที่น่าสนใจคือโครงการส่งเสริมการท่องเที่ยว ซึ่งได้รับงบประมาณจำนวนมากในแต่ละปี ทำประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อต่าง ๆ จัดโรดโชว์ จัดอีเวนต์ และงานออกร้านมากมายทั้งในและต่างประเทศ เพื่อส่งเสริมให้นักท่องเที่ยวไปเยี่ยมเยือน

ซึ่งมักจะได้รับการตอบ รับที่ดี สร้างชื่อเสียงและรายได้ให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเสมอ แต่เพราะแผนประชาสัมพันธ์ส่วนมากเน้นที่จำนวนนักท่องเที่ยวมากกว่าคุณภาพของ นักท่องเที่ยว

ปัจจุบันจึงเกิดปัญหาตามมาจากนักท่องเที่ยวที่มีมากจนล้นในบางสถานที่และปัญหาอีกมากจากนักท่องเที่ยวคุณภาพต่ำ ซึ่งก็สร้างความเดือดร้อนให้แก่เจ้าบ้านในแหล่งท่องเที่ยวไม่น้อย นอกจากนี้ ในแผนการส่งเสริมการท่องเที่ยวแทบจะไม่พูดถึงการอนุรักษ์พัฒนาที่ยั่งยืนต่อสถานที่ท่องเที่ยว ทรัพยากร และชุมชน ทั้งที่เหล่านี้คือหัวใจของการท่องเที่ยวทุกแห่ง

สำหรับแผนการในอนาคตที่ผู้นำองค์กรต่าง ๆ มักจะให้ความสนใจคือการสร้างนวัตกรรมใหม่ การคิดค้นผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆที่สามารถตอบสนองความต้องการของคนรุ่นใหม่ แต่ผู้นำองค์กรเกือบทั้งหมดมักจะพ่วงคำถามเข้าไปด้วยเสมอว่า...ถ้าลงทุนเพื่อการคิดค้นสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ แล้วจะทำกำไรให้ได้หรือไม่ มาก-น้อยแค่ไหนคุ้มค่าหรือเปล่า

ความจริงที่ผู้บริหารหลายคนลืมไปคือก่อนจะเป็นสิ่งที่ได้ชื่อว่านวัตกรรมหรือผลิตภัณฑ์ใหม่ใด ๆ ที่ใช้ได้จริงนั้น จำเป็นต้องผ่านการลองผิดลองถูกทั้งสิ้น คำถามคือมีองค์กรไหนบ้างในบ้านเราที่มีหน่วยงานเพื่อการวิจัยพัฒนานวัตกรรมใหม่ และได้รับงบฯสนับสนุนอย่างจริงจัง

เพราะการคิดค้นสิ่งใหม่ ๆ นับเป็นการลงทุนอย่างหนึ่ง และการลงทุนย่อมมีความเสี่ยง ต้องค้นคว้า วิจัย ทดลอง ทดสอบ ต้องใช้เวลา รวมถึงใช้ให้ถูกที่ถูกเวลา มีความเป็นไปได้ทั้งผลลัพธ์เป็นที่น่าพอใจ และล้มเหลว แต่ทั้งนี้เพื่อให้ได้สิ่งใหม่ ๆ ที่ยังไม่เคยมีใครทำมาก่อน นั่นคือต้องยอมเสี่ยง ซึ่งถ้านำไปผูกกับเรื่องรายได้ หรือความคุ้มค่าอาจจะต้องเผื่อใจให้ความผิดหวังเอาไว้บ้าง

เมื่อความเสี่ยงเป็นเรื่องที่รับไม่ได้สำหรับผู้นำไทย การลงทุนเพื่อการวิจัยจึงไม่ค่อยอยู่ในความสนใจ ไม่ทุ่มทุน ไม่อยากเสี่ยง ผลคือไม่ก่อให้เกิดองค์ความรู้ใหม่ นวัตกรรมหรือผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ การพัฒนาจึงเป็นไปอย่างเชื่องช้า และถอยเข้าสู่โหมดล้าหลังในที่สุด

ในทางกลับกัน หากมีงบประมาณเพื่อการพัฒนา แต่ผู้นำไม่มีความสามารถในการบริหาร ไม่มีวิสัยทัศน์ที่ดีพอ ก็กลายเป็นการตำน้ำพริกละลายแม่น้ำได้เช่นกัน ดังตัวอย่างจากผลการวิจัยเรื่อง สภาวการณ์การศึกษาไทยในเวทีโลก พ.ศ. 2555 ซึ่งเปรียบเทียบปัจจัยด้านต่าง ๆ ที่มีผลต่อการพัฒนาการศึกษาของประเทศไทยกับประเทศอื่น ๆ


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : มองไกล ทำใกล้ ปัจจัยสร้างอนาคต (1)

view