สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

แนะวิธีเลือกซื้อ กล่องทีวีดิจิทัล ไม่ต้องรีบ-แลกอย่างไรให้คุ้ม 690 บาท

จากประชาชาติธุรกิจ

ชุลมุนกันพอสมควร หลังคูปองส่วนลดเพื่อแลกซื้อกล่องแปลงสัญญาณทีวีดิจิทัลเริ่มทยอยส่งตรงถึง บ้านประชาชนแล้ว นอกเหนือจากสารพัดปัญหาทั้งที่เกิดจากความผิดพลาดโดยไม่ได้ตั้งใจ และความตั้งใจของแก๊งมิจฉาชีพที่หาลู่ทางทำประโยชน์จาก "คูปองส่วนลด" ราคา 690 บาท

เมื่อเร็ว ๆ นี้ "เครือข่ายองค์กรผู้บริโภคและนักวิชาการ" ร่วมกันแนะนำวิธีเลือกซื้อกล่องทีวีดิจิทัลที่คุ้มค่าต่อผู้บริโภค

"ดร.วีรพันธ์ รังสีวิจิตรประภา" อาจารย์คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า 7 ข้อสังเกตที่่ผู้บริโภคควรให้ความสำคัญก่อนนำคูปองส่วนลดไปใช้สิทธิ์ คือ 1.สำรวจภายนอกกล่องรับสัญญาณที่วางจำหน่าย ควรเลือกที่มีปุ่มเปิด-ปิดที่ตัวกล่อง เพราะหากรีโมตหายก็ยังทำงานได้ 2.สังเกตที่ปุ่มนูนสัมผัสตรงเลข 5 ที่รีโมตรองรับการใช้สำหรับผู้ที่มีปัญหาทางการมองเห็น 3.รีโมตควรมีการจัดทำเมนูภาษาไทยเพื่อป้องกันความสับสนของผู้บริโภคจากปุ่มที่มีมากกว่ารีโมตทั่วไป 4.คู่มือการใช้งานควรมีทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ ตามมาตรฐานสำนักงาน กสทช. 5.ควรเลือกซื้อกล่องที่ใช้สายพ่วงตัวแปลงไฟ (Adapter) เพราะหากสายต่อไฟมีปัญหาก็แยกซื้อเฉพาะ Adapter ซึ่งมีราคาถูกกว่ามาเปลี่ยนได้ ไม่ต้องซื้อใหม่ทั้งหมด

6.ควรเลือกกล่องและตัวจ่ายไฟที่มีความเหมาะสมกันเพื่อให้ใช้งานได้นาน เนื่องจากจะมีบางกล่องที่ใช้ปลักจ่ายกระแสไฟฟ้าน้อยกว่าที่กล่องต้องใช้ ทำให้อายุการใช้งานน้อยกว่ามาตรฐาน ซึ่งจะอยู่ที่ 10 ปี และ 7.หากต้องการชมช่องรายการแบบความคมชัดสูง (HD) ต้องเป็นกล่องที่มีสายประเภท HDMI เท่านั้น

"สารี อ่องสมหวัง"
เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า จากการสอบถามไปยัง 4 บริษัทที่ผ่านการคัดเลือกของ กสทช. ให้เข้าโครงการ ได้แก่ โซเคน, วันบ็อกซ์โฮม, สามารถฯ และซุปเปอร์จี พบว่า กล่องราคา 690 บาท บางบริษัทจะไม่รวมเสาอากาศ แต่ถ้ามีการแข่งขันเพิ่มขึ้น กลไกตลาดจะผลักดันให้ "ราคา" ลดลงหรืออาจมีอะไรเพิ่มเติมมากขึ้น ทั้งอยากให้ กสทช. มีโครงการรับบริจาคกล่องทีวีดิจิทัล หรือการนำกล่องไปแจกผู้ด้อยโอกาส รวมถึงคนในพื้นที่บุกรุก หรือชุมชนแออัดด้วย เนื่องจากไม่มีสถานะความเป็นเจ้าบ้าน และมีจำนวนหลายครัวเรือน

"จากการตรวจสอบในท้องตลาดมีประมาณ 32 ยี่ห้อ ตนยังยืนยันว่าผู้บริโภคไม่ต้องจ่ายเงินเพิ่มจากราคาคูปองที่ กสทช.กำหนด 690 บาท ในตลาดมีสินค้าราคา 690 บาทจำหน่ายแน่นอน อยากแนะนำให้ผู้บริโภคไม่ต้องรีบร้อนใช้คูปอง ควรอ่านข้อมูลให้ชัดเจนก่อน เลือกกล่องที่มีคุณภาพเหมาะกับการใช้งาน มีบริการหลังการขายที่น่าเชื่อถือ เนื่องจากคูปองมีระยะเวลาใช้ถึง 6 เดือน"


ส่วนปัญหาที่เริ่มได้รับการร้องเรียนคือ 1.มีกระบวนการเก็บสำเนาบัตรประชาชน สำเนาทะเบียนบ้านในหลายพื้นที่ โดยผู้นำชุมชนทั้งในกรุงเทพฯและต่างจังหวัด เช่น ในเขตหนองจอกและคันนายาว เริ่มมีบริษัทไปทำการตลาดโดยการเอาเปรียบผู้บริโภค เช่น มีข้ออ้างว่าจะให้หัวละ 30 บาท หากเก็บสำเนาต่าง ๆ ได้

แย่กว่านั้นคือ 3 อำเภอในอยุธยา นอกจากจะเก็บสำเนาบัตรประชาชนและสำเนาทะเบียนบ้านแล้ว ยังมีการเก็บคูปองส่วนลดทีวีดิจิทัลไปด้วย ทำให้ประชาชนโดนละเมิดสิทธิ์ในการเลือกซื้อกล่องที่มีคุณภาพ เนื่องจากความไม่เข้าใจของประชาชนในพื้นที่

"หากพบเห็นการกระทำผิดเกี่ยวกับการรับแลกคูปอง สามารถร้องเรียนมายังมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค รวมทางสายด่วน 1200 ของสำนักงาน กสทช.ได้ เพื่อให้มีการจัดการอย่างเด็ดขาดกับผู้ที่กระทำผิดกฎหมาย"


ฟาก "มณี จิรโชติมงคลกุล" อนุกรรมการด้านสื่อและโทรคมนาคม องค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคภาคประชาชน กล่าวว่า ในบางพื้นที่ของกรุงเทพฯยังมีประชาชนส่วนหนึ่งไม่ทราบว่าคูปองใช้อย่างไร แสดงให้เห็นว่า สำนักงาน กสทช.ขาดการประชาสัมพันธ์อย่างมาก

"ในกรุงเทพฯเองเริ่มมีการฉวยโอกาสของบริษัทต่าง ๆ ทั้งการใช้เทคนิคการขายที่ละเมิดสิทธิ์ของประชาชน ทาง กสทช.ควรให้ความรู้กับประชาชน และเข้มงวดกับผู้นำชุมชน ขณะที่ไปรษณีย์ไทยเองก็ควรป้องกันไม่ให้เกิดการทุจริต และทำผิดกฎหมาย รวมถึงแนะนำผู้บริโภคว่าไม่ควรเร่งรีบในการใช้คูปอง แต่ควรศึกษาการใช้งานให้รอบคอบ อยากฝาก กสทช.ให้เข้มงวดกับผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการเพื่อไม่ให้ผู้บริโภคถูกเอารัดเอาเปรียบ"


"ชลดาบุญเกษม"
อนุกรรมการด้านสื่อและโทรคมนาคม องค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคภาคประชาชน กล่าวว่า จากการทำงานในพื้นที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยาพบว่า ประชาชนยังไม่ทราบเรื่องคูปองดิจิทัลว่าคืออะไร การใช้งานเป็นอย่างไร จึงอยากฝากสำนักงาน กสทช.ดูแลให้ความรู้ในพื้นที่ด้วย

และมีบางบริษัททำการตลาดโดยติดต่อผู้นำชุมชนให้เก็บสำเนาบัตรประชาชน และสำเนาทะเบียนบ้านเช่นกันกับพื้นที่อื่น ๆ และให้ประชาชนเซ็นใบจองการซื้อกล่องทำให้ชาวบ้านกังวลว่าอาจไม่ได้สินค้า เพราะไม่รู้ว่าเลือกซื้อเองได้

จากการสำรวจยังพบว่ากล่องแปลงสัญญาณทีวีดิจิทัลที่วางขายในห้างสรรพสินค้าส่วนใหญ่ราคายังค่อนข้างสูงมีตั้งแต่ 890 บาท, 990 บาท, 1,200 บาท และ 1400 บาท อีกทั้งบางยี่ห้อยังไม่มีเครื่องหมายรับรองจาก กสทช. จึงอยากฝากให้ กสทช.ดูแลด้วยเช่นกัน


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : แนะวิธีเลือกซื้อ กล่องทีวีดิจิทัล ไม่ต้องรีบ แลกอย่างไรให้คุ้ม 690 บาท

view