สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ข่าวร้ายเศรษฐกิจจีน :ของ ชัวร์ หรือ มั่วนิ่ม

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์

เราควรต้องเริ่มลองคิดบ้างว่าจะรับมืออย่างไรกับการสะดุดของพญามังกร ซึ่งมีความเป็นไปได้สูง

จีนเพิ่งเปิดเผยตัวเลข GDP ช่วงไตรมาส 3/2557 มีอัตราการโต 7.3% ซึ่งถือว่าชะลอตัวมากที่สุดในรอบ 5 ปี เล่นเอาตลาดหุ้นเอเชียปรับตัวลดลงเป็นส่วนใหญ่ ด้านนักวิเคราะห์ก็มองกันหลากหลาย บ้างก็เห็นว่าเป็นตัวเลขที่ดีกว่าที่เคยคาดการณ์กันทั่วไป บ้างก็มองว่าเป็นสัญญาณที่ดีที่จีนเริ่มเปลี่ยนมาเน้นการเติบโตที่ช้าลง แต่ยั่งยืนขึ้น อย่างไรก็ตาม ก็มีนักวิเคราะห์ส่วนหนึ่งที่เริ่มวิตก และเห็นว่านี่อาจเป็นเค้าลางข่าวร้ายเศรษฐกิจจีนที่กำลังจะชัดเจนขึ้น ข่าวร้ายที่ว่ายุคทองของเศรษฐกิจจีนได้กลายเป็นอดีตไปเสียแล้ว

ในช่วงต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา ได้มีการเผยแพร่บทความวิชาการของ Lawrence Summers อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังของสหรัฐฯ และอดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ซึ่งเขียนร่วมกับ Latt Pritchett ศาสตราจารย์ชื่อดังด้านเศรษฐศาสตร์โดยมีใจความสำคัญพูดเป็นภาษาบ้านๆ ว่า ข่าวร้ายเศรษฐกิจจีนเป็นของชัวร์!!

Summers เปรียบเทียบว่า ถ้าเราเจอคนแก่อายุ 60 ปี เราจะคาดการณ์สุขภาพของคนแก่คนนี้ในรอบ 20 ปี ต่อไป โดยดูจากประวัติสุขภาพที่ผ่านมาและค่าการตรวจต่างๆ ในปัจจุบัน (เช่น ค่าคอเลสเตอรอล) หรือดูข้อมูลสถิติของคนแก่ทั่วๆ ไป มาประกอบการพิจารณาด้วยนักเศรษฐศาสตร์ทั่วไปมักมองแต่ตัวเลขที่สดใสในอดีตและปัจจุบันของจีน และคิดว่าจีนน่าจะยังไปได้สวย หากไม่ดำเนินนโยบายอะไรที่ผิดพลาดแต่ Summers แย้งว่าหากเราหันมามองสถิติและประวัติศาสตร์การเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศต่างๆ ทั่วโลก ก็จะเห็นได้ว่าจีนน่าจะเติบโตด้วยอัตราที่สูงต่อไปได้อีกไม่นาน

นักเศรษฐศาสตร์ที่มักได้ชื่อว่า “มองจีนในแง่ร้าย” มักประเมินว่าอัตราการโตของจีนอาจลดลงมาที่ปีละ 5-6%(จากที่เติบโตเฉลี่ยราว 10% ติดต่อกันกว่า 30 ปี) แต่จากการคำนวณทางสถิติของ Summers กลับเห็นร้ายยิ่งกว่านั้น โดยมองว่าจีนน่าจะโตได้เฉลี่ยเพียงปีละ 3.9% ในช่วง 20 ปี ต่อจากนี้

ในประวัติศาสตร์โลก แม้หลายประเทศจะสามารถเติบโตในอัตราที่สูง (ปีละ 6% ขึ้นไป) แต่มักไม่สามารถรักษาอัตราการโตที่สูงนั้นได้ยาวนาน ในแง่นี้ จีนได้สร้างความสำเร็จเป็นเพียงประเทศเดียวในประวัติศาสตร์มนุษยชาติที่ตัวเลข GDP เติบโตในอัตราที่สูงกว่า 10% ต่อเนื่องยาวนานกว่า 30 ปี เศรษฐกิจที่มีอัตราการเติบโตที่สูงและยาวนานใกล้เคียงกับจีนมีเพียงสองแห่ง คือ ไต้หวัน ซึ่งโตปีละ 6.8% ในช่วงปี ค.ศ. 1962-1994 แต่ต่อมาก็โตลดลงเหลือเพียงปีละ 3.5% ในช่วงปี ค.ศ. 1994-2010 และเกาหลีใต้ ซึ่งโตสูงกว่า 6% ในช่วงปี ค.ศ. 1962-1991 แต่หลังจากนั้นก็โตเหลือเพียงละปีละ 4% เท่านั้นในจำนวนประเทศ 28 ประเทศ ที่ Summers เอาตัวเลขมาศึกษา พบว่า ประเทศที่เติบโตเฉลี่ยสูงกว่า 6% ในช่วงเวลาหนึ่ง เกือบทั้งหมดมักตามมาด้วยช่วงที่เติบโตในอัตราที่ต่ำ โดยเฉลี่ยเหลือเพียงราว 2.1% ต่อปี (ลดลงกว่า 4% เลยทีเดียว)

น้อยคนจะรู้ว่า ประเทศไทยเองก็เป็นประเทศที่สร้างประวัติศาสตร์ “เคยรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจ” เช่นเดียวกัน โดยเป็นหนึ่งในสี่ประเทศที่มีอัตราการโตสูงกว่า 4% ติดต่อกันถึง 30 ปี โดยสำหรับไทยเป็นในช่วงปี ค.ศ. 1958-1987 (อีกสามประเทศ คือ สิงคโปร์ อินโดนีเซีย และจีน) นอกจากนั้น พี่ไทยยังเร่งเครื่องตามมาด้วยอัตราการเติบโตที่สูงขึ้นเป็นเฉลี่ยที่ 6.51% ในช่วงปี ค.ศ. 1987-1995 แต่ทว่าอนิจจาหลังจากนั้นกลับตามมาด้วยอัตราการเติบโตเฉลี่ยต่อปีที่เพียง 1.85% เท่านั้น

Summers ยังเปิดเผยสถิติที่น่าสนใจว่า ในบรรดา 22 ประเทศ ที่การเติบโตทางเศรษฐกิจในอัตราที่สูงตามมาด้วยการปฏิรูปการเมือง ทุกประเทศยกเว้นเกาหลีใต้มีอัตราการเจริญเติบโตที่ลดลงในช่วงเปลี่ยนผ่าน โดยมีอัตราการเติบโตลดลงเฉลี่ยถึง 3.53% Summers บอกว่านี่ไม่ได้เป็นข้อมูลที่บอกว่าประชาธิปไตยไม่ดี โดยทั่วไปนักเศรษฐศาสตร์มักเห็นตรงกันว่า ถ้าไม่ปฏิรูปการเมือง อาจเกิดวิกฤติทางสังคมขึ้น หรือการเติบโตอาจหยุดชะงักลงโดยสิ้นเชิง เพราะระบบเผด็จการที่ขาดความโปร่งใสย่อมเป็นระบบที่ไม่ยั่งยืนอยู่แล้ว แต่ข้อมูลนี้อาจชี้ให้เห็นว่าเป็นเรื่องยากมากที่จะรักษาการเติบโตทางเศรษฐกิจในระดับที่สูงในช่วงเปลี่ยนผ่านซึ่งมักมีปัญหาและอุปสรรคมากมายจากการโต้กลับของระบบเก่า ถ้าเรามองว่าจีนเองก็กำลังเข้าสู่ช่วงของการเปลี่ยนผ่านนี้ (แม้อาจไม่ใช่การเปลี่ยนผ่านไปสู่ประชาธิปไตยที่มีการเลือกตั้ง แต่ก็เป็นการพยายามเปลี่ยนผ่านไปสู่ระบบการเมืองที่โปร่งใสขึ้น) ก็ยิ่งมีแนวโน้มว่าอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของจีนจะลดตัวลง

Summers บอกว่า เป็นการยากมากที่จะบอกว่า อะไรเป็นปัจจัยให้เศรษฐกิจเติบโตในอัตราที่สูง และนักเศรษฐศาสตร์ด้วยกันเองก็มีทฤษฎีและความเห็นที่หลากหลาย แต่กฎทางสถิติไม่เคยหลอกใคร เมื่อศึกษาตัวเลขอัตราการเติบโตของประเทศต่างๆ ทั่วโลกเราจะพบแนวโน้มที่นักสถิติเรียกว่า “การถอยกลับสู่ค่าเฉลี่ย” (regression to the mean) กล่าวคือ ไม่เกินช่วงระยะเวลาหนึ่ง อัตราการโตที่สูงเป็นพิเศษก็จะหยุดลงและลดลงใกล้เคียงกับค่าเฉลี่ยอัตราการโตของประเทศอื่นๆ (ท่านที่สนใจสามารถดาวน์โหลดบทความได้จากเว็บไซต์ของ National Bureau of Economic Research)

ถ้าเป็นเช่นนี้จริง จากที่เรามักตั้งคำถามว่าจะรับมืออย่างไรกับการทะยานของพญามังกร เราควรต้องเริ่มลองคิดบ้างว่า จะรับมืออย่างไรกับการสะดุดของพญามังกร ซึ่งมีความเป็นไปได้สูงและคงส่งผลสั่นสะเทือนไปทั่วโลก

อย่างไรก็ตาม ยังคงมีนักเศรษฐศาสตร์ที่เห็นว่าแม้จะเป็น “ของชัวร์” ที่จีนจะเติบโตในอัตราที่ต่ำลง แต่ก็จะเป็นการเติบโตที่มีคุณภาพและยั่งยืนขึ้น ไม่สร้างต้นทุนให้กับสิ่งแวดล้อมสูงดังเช่นการเติบโตที่เกินตัวในอดีต และเมื่อพิจารณาขนาดทางเศรษฐกิจของจีนที่ใหญ่ขึ้นกว่าสมัยก่อนแล้ว แม้จีนจะเติบโตด้วยอัตราที่ต่ำลงแต่ก็จะยังคงเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจที่สำคัญดังเดิม

ส่วนผู้ที่เห็นว่าการคาดการณ์ข่าวร้ายเศรษฐกิจจีนนั้น “มัวนิ่ม” ไปเลย ก็มีเช่นกัน ศาสตราจารย์ Lin Yifu นักเศรษฐศาสตร์ชื่อดังของจีน ซึ่งเป็นอดีตหัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของ World Bank ยังคงยืนยันว่าจีนจะสามารถเติบโตในอัตราที่สูงราว 8% ต่อไปได้อีกอย่างน้อย 10-15 ปี เพราะรายได้เฉลี่ยต่อหัวของจีน ยังอยู่ในระดับที่ต่ำมาก คิดเป็นเพียง 21% ของรายได้เฉลี่ยต่อหัวของสหรัฐฯ ซึ่งเทียบเท่ากับช่องว่างระหว่างสหรัฐฯ กับญี่ปุ่น ในปี ค.ศ. 1951 กับสิงคโปร์ในปี ค.ศ. 1967 กับไต้หวันในปี ค.ศ. 1975 และกับเกาหลีใต้ในปี ค.ศ. 1977 ช่องว่างในการพัฒนาดังกล่าว ทำให้จีนยังคงมีศักยภาพในการนำเข้าเทคโนโลยี และใช้ประโยชน์จากแรงงานที่ราคาถูกกว่าในการสร้างการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจในอัตราที่สูง สำหรับ Lin แล้ว การคาดการณ์ว่าเป็นไปไม่ได้ที่จีนจะเติบโตต่อไปโดยไม่สะดุดนั้น ไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่เป็นการวิเคราะห์ที่มีมาตลอด ทั้งๆ ที่ตัวเลขทางเศรษฐกิจต่างๆ ของจีนยังแสดงว่าจีนแข็งแรงดี

ในขณะที่ Lin ย้ำเน้นถึงโอกาสและศักยภาพในการพัฒนาก้าวต่อไปของจีน และให้ความสำคัญกับนโยบายทางเศรษฐกิจของรัฐบาลจีนที่จะขับเคลื่อนการพัฒนานั้น การวิเคราะห์ของ Summers ก็เตือนให้เราตั้งอยู่ในความไม่ประมาท ข้อสรุปหนึ่งที่สำคัญจากบทความของ Summers ก็คือ เป็นเรื่องที่ยากมากที่จะคาดการณ์อัตราการเติบโตของเศรษฐกิจ เพราะมีปัจจัยแวดล้อมที่เราคาดไม่ถึงมากมาย ประวัติศาสตร์สอนว่าเรามักไม่สามารถคาดการณ์อัตราการเติบโตในอนาคตได้เพียงดูจากประวัติความสำเร็จที่ผ่านมา หรือจากตัวเลขทางเศรษฐกิจในปัจจุบัน ดังที่ในสมัยหนึ่ง Paul Samuelson บรมครูของวิชาเศรษฐศาสตร์ เคยประเมินว่าสหภาพโซเวียตจะเติบโตแซงหน้าสหรัฐฯ หรือดังที่เมื่อสองทศวรรษที่แล้วนี้เอง นักเศรษฐศาสตร์หลายรายเคยคาดการณ์ว่าไทยจะกลายเป็นเสือตัวใหม่แห่งเอเชีย


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : ข่าวร้ายเศรษฐกิจจีน ชัวร์ มั่วนิ่ม

view