สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

การสลับ วันหยุดชดเชย

จากประชาชาติธุรกิจ

คอลัมน์ ระดมสมอง
โดย ธำรงศักดิ์ คงคาสวัสดิ์ http://tamrongsakk.blogspot.com

เรื่องนี้ยังคงมีคอนเซ็ปต์ (Concept) คล้าย ๆ กับเรื่องที่ผมเขียนไปก่อนหน้านี้คือเรื่องบริษัทจะหักค่าลาพักร้อนเกินสิทธิได้หรือไม่ นั่นคือแนวคิดทำนองที่ว่าบริษัทอื่นเขาก็ทำกันมายังงี้แหละ ทำกันมาตั้งนานแล้ว คงไม่ผิดหรอก เพราะใคร ๆ เขาก็ทำกัน (จำคีย์เวิร์ดที่ขีดเส้นใต้ไว้นะครับ) ก็เลยทำสิ่งที่ไม่ถูกต้อง (แต่คิดเอาเองว่าถูก) กันต่อมา

เมื่อเกิดปัญหาร้องเรียนหรือฟ้องร้องค่อยมาถึงบางอ้อว่า สิ่งที่ทำมาโดยตลอดนั้นไม่ถูกต้อง


ภาพจาก www.cache.boston.com

เรื่องนี้มีอยู่ว่าบริษัทแห่งหนึ่งทำธุรกิจประกอบชิ้นส่วนคอมพิวเตอร์และอิเล็กทรอนิกส์ มีวันทำงานจันทร์ถึงเสาร์ หยุดวันอาทิตย์ เวลาทำงาน 08.00-17.00 น. ได้ไปตกลงร่วมกับทางสหภาพแรงงานโดยประกาศวันหยุดประเพณีประจำปี คือนำวันเสาร์ที่ 12 เมษายน ซึ่งปกติจะต้องเป็นวันทำงาน ไปแลกกับวันจันทร์ที่ 7 เมษายน ซึ่งเป็นวันหยุดชดเชยวันจักรี (วันที่ 6 เมษายน ซึ่งเป็นวันจักรีตรงกับวันอาทิตย์ ซึ่งเป็นวันหยุดประจำสัปดาห์ของบริษัท)

ดังนั้นจากประกาศของบริษัท จึงให้พนักงานหยุดงานวันเสาร์ที่ 12 เมษายน โดยให้มาทำงานในวันจันทร์ที่ 7 เมษายนแทน ซึ่งดูแล้วก็เหมือนกับจะไม่น่ามีปัญหาอะไร เพราะเป็นการแลกวันหยุดกัน ซึ่งบริษัทอื่นก็ทำกันอย่างนี้อยู่บ่อย ๆ ไป เรียกว่าใคร ๆ เขาก็ทำกัน จริงไหมครับ

แต่...ช้าก่อน...

บริษัทแห่งนี้มาเกิดปัญหาตรงที่บริษัทไปเลิกจ้างพนักงานคนหนึ่งเพราะพนักงานคนนี้มาทำงานในวันที่ 7 เมษายน แค่ครึ่งวันเช้า (08.00-12.00 น.) และขาดงานไปใครึ่งวันบ่าย

ลูกจ้างเลยนำเรื่องไปฟ้องศาลแรงงาน ?

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า "....งานที่ลูกจ้างทำ ไม่ต้องด้วย พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานฯ มาตรา 29 วรรคท้าย และกฎกระทรวงฉบับที่ 4 ลงวันที่ 19 สิงหาคม 2541 ที่จะตกลงเปลี่ยนวันหยุดตามประเพณีได้ นายจ้างจึงไม่อาจประกาศให้ลูกจ้างไปทำงานในวันจันทร์ที่ 7 เมษายน 2546 เพื่อชดเชยในวันเสาร์ที่ 12 เมษายน 2546 มีผลเท่ากับว่าวันจันทร์ที่ 7 เมษายน 2546 ยังเป็นวันหยุดชดเชยวันจักรี

การที่ลูกจ้างมาทำงานในวันที่ 7 เมษายน 2546 ตั้งแต่เวลา 08.00-12.00 นาฬิกา นับว่าเป็นคุณแก่นายจ้างแล้ว ดังนั้นการที่ลูกจ้างไม่อยู่ทำงานระหว่าง 13.00-17.00 นาฬิกา จึงไม่เป็นการละทิ้งหน้าที่ หรือจงใจทำให้นายจ้างได้รับความเสียหาย" (ฎ.4321-4323/2548)

เพื่อให้ท่านเข้าใจมากขึ้น ผมขอนำมาตรา 29 วรรคท้าย มาให้ดู เพื่อให้เข้าใจมากขึ้น ดังนี้ครับ

มาตรา 29 "...ในกรณีที่นายจ้างไม่อาจให้ลูกจ้างหยุดตามประเพณีได้ เนื่องจากลูกจ้างทำงานที่มีลักษณะหรือสภาพของงานตามที่กำหนดในกฎกระทรวง ให้นายจ้างตกลงกับลูกจ้างว่า จะหยุดในวันอื่นชดเชยวันหยุดตามประเพณี หรือนายจ้างจะจ่ายค่าทำงานในวันหยุดให้ก็ได้"

ตรงนี้หมายความว่า หากนายจ้างไม่สามารถให้ลูกจ้างหยุดตามประเพณีได้ นายจ้างก็สามารถสลับวันหยุดแบบกรณีที่เราคุยกันตามตัวอย่างข้างต้นก็ได้ แต่มีข้อแม้ว่าลักษณะงานนั้น ต้องเป็นไปตามกฎกระทรวงฉบับที่ 4 ด้วย (ตามที่ผมขีดเส้นใต้ไว้) โดยกฎกระทรวงฉบับที่ 4 บอกไว้ว่า ลักษณะของงานที่จะสามารถสลับวันหยุดกันได้นั้นจะต้องมีลักษณะงาน ดังนี้ครับ

1.งานในกิจการโรงแรม สถานมหรสพ ร้านขายอาหาร ร้านขายเครื่องดื่ม สโมสร สมาคม สถานพยาบาล และสถานบริการท่องเที่ยว

2.งานในป่า งานในที่ทุรกันดาร งานขนส่ง และงานที่มีลักษณะหรือสภาพของงานต้องทำติดต่อกันไป ถ้าหยุดจะเสียหายแก่งาน

แต่บริษัทนี้เป็นบริษัทที่เป็นผู้ผลิตชิ้นส่วนคอมพิวเตอร์และอิเล็กทรอนิกส์จึงไม่ได้มีลักษณะงานเข้าข่ายสองข้อข้างต้นตามกฎกระทรวง บริษัทจึงสลับวันหยุดไม่ได้เพราะขัดกับกฎหมายแรงงานครับ !!

ดังนั้น ประกาศในการสลับวันหยุดดังกล่าวของบริษัทจึงเป็นโมฆะนั่นเอง เมื่อเป็นอย่างนี้ก็เท่ากับว่าพนักงานคนนี้ไม่ได้ขาดงานครึ่งวันบ่ายของวันที่ 7 เมษายน เพราะในทางกฎหมายก็ยังถือว่าวันที่ 7 เมษายน เป็นวันหยุดชดเชยวันจักรีอยู่ และการที่พนักงานมาทำงานวันที่ 7 เมษายน (ที่เป็นวันหยุดชดเชย) ตั้งครึ่งวันเช้าก็ถือว่าเป็นคุณกับบริษัทด้วยซ้ำไป

จากกรณีนี้ ผมเชื่อว่าคงจะทำให้ท่านได้ข้อคิดเพื่อนำไปใช้เรื่องการประกาศสลับวันหยุดในครั้งต่อไปแล้ว พูดง่าย ๆ ว่าถ้าธุรกิจของท่านไม่ได้มีลักษณะงานเข้าข่ายตามกฎกระทรวงฉบับที่ 4 สองข้อข้างต้นล่ะก็ ท่านจะสลับวันหยุด (หรือมักจะเรียกกันว่าแลกวันหยุด) ไม่ได้ครับ

และเป็นอุทาหรณ์ด้วยว่า อะไรที่ทำตาม ๆ กันมา โดยบอกต่อ ๆ กันมา แบบที่ว่า "ก็ใคร ๆเขาก็ทำกันเลย" นั้น บางครั้งก็ไม่ได้ถูกต้องเสมอไป ถ้าไม่ศึกษาหาข้อมูลให้ดีแล้วทำไปแบบผิดๆ ผลลัพธ์ก็จะเป็นอย่างเรื่องที่เราคุยกันมานี่แหละครับ


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : การสลับ วันหยุดชดเชย

view