สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ความเหลื่อมล้ำกำลังสร้างปัญหา

ความเหลื่อมล้ำกำลังสร้างปัญหา

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์




เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา เจเน็ต เยลเลน ประธานคณะกรรมการธนาคารกลางของอเมริกาแสดงความเห็นออกมาว่า อเมริกามีปัญหา

เรื่องความเหลื่อมล้ำ เนื่องจากคำพูดของประธานคณะกรรมการธนาคารกลางอาจสร้างปฏิกิริยาลูกโซ่หลายอย่าง เขาจึงต้องระวังคำพูดเป็นพิเศษและจะต้องไม่ให้ถูกมองว่าวางตัวไม่เป็นกลางทางการเมือง แม้การแสดงความเห็นของเยลเลนครั้งนี้จะสุ่มเสี่ยงต่อการถูกโจมตีจากพรรครีพับลิกันว่าเข้าข้างพรรคเดโมแครตในการเลือกตั้งสมาชิกรัฐสภาที่จะมาถึงในต้นเดือนหน้า แต่เขาก็ยังแสดงออกมา ทั้งนี้คงเพราะสภาพการณ์ทางด้านความเหลื่อมล้ำนับวันจะยิ่งเลวร้ายและเป็นปัจจัยที่กำลังทำให้เกิดความแตกร้าวในสังคม

คอลัมน์นี้พูดถึงความเหลื่อมล้ำหลายครั้งว่าเป็นธรรมดาของระบบตลาดเสรีที่ผู้เข้าถึงเทคโนโลยีใหม่มักสร้างความร่ำรวยได้อย่างรวดเร็ว หลังมีเทคโนโลยีจักรกลจึงเกิดมหาเศรษฐีที่ร่ำรวยจากภาคอุตสาหกรรมชื่อ แอนดรูว์ คาร์เนกี และจอห์น ดี. ร็อกกี้เฟลเลอร์ ต่อมาเมื่อมีเทคโนโลยีดิจิทัลก็เกิดมหาเศรษฐีที่ร่ำรวยจากธุรกิจคอมพิวเตอร์และอินเทอร์เน็ตชื่อ บิล เกตส์ และมาร์ค ซัคเคอร์เบิร์ก แต่ความเหลื่อมล้ำในอเมริกาในช่วงนี้มีปัจจัยหลายอย่างที่นอกเหนือจากองค์ประกอบทางเศรษฐกิจระบบตลาดเสรี จึงมีความไม่ปกติเป็นที่ประจักษ์จนนักเศรษฐศาสตร์ชั้นนำยกขึ้นมาพิจารณาและสรุปว่ากำลังสร้างปัญหาสาหัส

เยลเลนเป็นนักเศรษฐศาสตร์ชั้นนำล่าสุดที่ออกมาพูดเรื่องนี้ ย้อนไปเมื่อปี 2555 บทความประจำคอลัมน์นี้ระหว่างวันที่ 29 มิถุนายน-13 กรกฎาคม พูดถึงเนื้อหาของหนังสือเกี่ยวกับความเหลื่อมล้ำของนักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบลโจเซฟ สติกลิตซ์ ชื่อ The Price of Inequality: How Today’s Divided Society Endangers Our Future (บทความทั้งหมดอาจดาวน์โหลดได้ฟรีที่เว็บไซต์ของมูลนิธินักอ่านบ้านนา www. bannareader.com) ชื่อของหนังสือบ่งชี้ว่า ถ้าความเหลื่อมล้ำยังเป็นดังที่เห็นอยู่ต่อไป อนาคตจะไม่สดใสแน่

ในสายตาของสติกลิตซ์ ปัจจัยที่ทำให้ความเหลื่อมล้ำเลวร้ายได้แก่ความ “ขาด” หรือ “สูญสิ้น” ศีลธรรมจรรยา (moral deprivation) โดยเฉพาะของบรรดามหาเศรษฐี ก่อนใช้คำนี้ เขาใช้คำว่า “การขาดดุลทางศีลธรรมจรรยา” (moral deficit) ในหนังเล่มที่พิมพ์ออกมาก่อนชื่อ Freefall: America, Free Markets, and the Sinking of the World Economy ซึ่งบทความประจำคอลัมน์นี้เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2553 ชื่อ “โจเซฟ สติกลิตซ์มองวิกฤติเศรษฐกิจและสังคม” พูดถึง (บทความนั้นอาจดาวน์โหลดได้จากเว็บไซต์ของมูลนิธินักอ่านบ้านนาเช่นกัน) เขาจะใช้คำไหนคงไม่สำคัญเนื่องจากทั้งสองคำยืนยันความเห็นที่ว่า ความตกต่ำทางศีลธรรมจรรยาเป็นต้นตอของปัญหาในอเมริกาและประเทศที่ใช้ระบบตลาดเสรี

หลังเยเลนพูดจบไม่นาน ฝ่ายรีพับลิกันก็โจมตีเนื่องจากพรรคนี้มักสนับสนุนคนรวยและสมาชิกส่วนใหญ่มองไม่เห็นความจำเป็นที่รัฐบาลจะต้องปรับนโยบายให้เอนไปทางเกื้อหนุนคนจนของพรรคเดโมแครต แม้ในขณะนี้ข้อมูลที่สนับสนุนจุดยืนของเยลเลนและสติกลิตซ์จะแน่นหนา แต่ฝ่ายที่มองว่าความเหลื่อมล้ำเป็นของดีในแง่ที่ช่วยกระตุ้นการขยายตัวทางเศรษฐกิจก็ยังไม่ยอมรับ ฉะนั้น การโต้เถียงกันนับวันจะเข้มข้นขึ้นและเป็นไปได้ว่าปรากฏการณ์ในแนวยึดครองย่านตลาดหลักทรัพย์ (Occupy Wall Street) เมื่อปี 2554 จะเกิดขึ้นอีก ปรากฏการณ์นั้นเป็นการเคลื่อนไหวของผู้ที่มองว่าต้นตอของปัญหามาจากกลุ่มมหาเศรษฐี โดยเฉพาะผู้ที่สร้างความร่ำรวยด้วยการเล่นแร่แปรธาตุทางการเงินผ่านธนาคารพาณิชย์ วาณิชธนกิจและกองทุนเพื่อเก็งกำไร มหาเศรษฐีและสถาบันเหล่านั้นมีเงินมหาศาลที่ใช้สนับสนุนนักการเมืองซึ่งตอบแทนด้วยการตรากฎหมายที่เอื้อให้สถาบันเหล่านั้นกอบโกยกำไรได้ง่ายขึ้น ความเคลื่อนไหวในแนวนั้นกระจายออกไปทั่วโลกเพราะความเหลื่อมล้ำกำลังสร้างปัญหาในหลายประเทศ

เยเลนไม่ได้พูดว่าธนาคารกลางของอเมริกาจะมีบทบาทอย่างไรในการลดความเหลื่อมล้ำ แต่เสนออย่างกว้างๆ ว่า อเมริกาจะต้องลงทุนทางด้านการศึกษาขั้นปฐมวัยและส่งเสริมผู้ประกอบการใหม่ให้มากขึ้น ข้อเสนอนี้จะมีที่มาอย่างไรไม่เป็นที่ประจักษ์ อย่างไรก็ดี เมื่อไม่นานมานี้มีผลการวิจัยออกมาซึ่งยืนยันความสำคัญของการศึกษาขั้นปฐมวัย นั่นคือ เมื่ออายุ 1 ขวบ เด็กที่มาจากครอบครัวยากจนก็ล้าหลังเด็กที่มาจากชนชั้นกลางและคนมั่งมีแล้ว ทั้งนี้เพราะเด็กในกลุ่มแรกรู้จักคำพูดน้อยกว่าเนื่องจากพ่อแม่และผู้เลี้ยงดูพูดกับเด็กน้อยกว่าในกลุ่มหลัง เมื่อถึงวันเข้าโรงเรียน ความแตกฉานในการใช้คำพูดของเด็กทั้งสองกลุ่มต่างกันมากจนยากที่เด็กจากครอบครัวยากจนโดยทั่วไปจะเรียนได้ดีเท่าเด็กที่มาจากครอบครัวของชนชั้นกลางและคนมั่งมี ในช่วงเวลา 50 ปีที่ผ่านมา อเมริกามีโครงการช่วยเหลือเด็กยากจนชื่อ “เริ่มก่อน” (Head Start) แต่ผลสำเร็จของโครงการนี้ยังเป็นที่ถกเถียงกันโดยฝ่ายรีพับลิกันมองว่าไม่ค่อยได้ผลจนเสนอให้ยกเลิก ในขณะนี้มีองค์กรเอกชนเข้าไปสนับสนุนครอบครัวยากจนที่มีลูกเล็กเพื่อให้เด็กคุ้นเคยและแตกฉานกับการใช้คำพูดทัดเทียมกับเด็กอื่นเมื่อถึงวันเข้าโรงเรียนอนุบาล อาทิเช่น โครงการขององค์กรชื่อ Child-Parent Home Program

อนึ่ง อาจเป็นที่ทราบกันดีแล้วว่า มหาเศรษฐีแอนดรูว์ คาร์เนกี และบิล เกตส์ ได้ใช้และจะใช้ความร่ำรวยช่วยชาวโลกโดยบริจาคทรัพย์สินเกือบทั้งหมดรวมทั้งเพื่อช่วยยกระดับการศึกษา อย่างไรก็ตาม การศึกษาเป็นเรื่องใหญ่ที่ต้องใช้เวลานาน ฉะนั้น ในช่วงนี้คงต้องมีมาตรการที่จะให้ผลในระยะสั้นกว่ามาลดความเหลื่อมล้ำที่กำลังเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วก่อนที่สังคมจะล่มสลายจากความแตกร้าวร้ายแรงที่ความเหลื่อมล้ำทำให้เกิดขึ้น


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : ความเหลื่อมล้ำ กำลังสร้างปัญหา

view