สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ต้องเอาอะไร...ไปบ้าง ? เมื่อไป รับ หรือ โอน มรดก

จากประชาชาติธุรกิจ

คอลัมน์ชั้น 5 ประชาชาติ โดย รัตนา จีนกลาง

นโยบายการออกกฎหมาย "ภาษีมรดก" ของรัฐบาลประยุทธ์ สร้างความหวาดผวาใจตุ๊ม ๆ ต้อม ๆ อย่างยิ่งสำหรับพ่อแม่ ปู่ย่า ตายาย ทวด ที่สั่งสมที่ดิน สิ่งปลูกสร้างไว้ให้ลูกหลาน

ในช่วงนี้จึงเริ่มเห็นคนแห่ไปโอน ที่ดินมากขึ้นในเขตกรุงเทพฯปริมณฑลและหัวเมืองใหญ่ เพราะราคาที่ดินในพื้นที่นี้มีราคาสูง ในเบื้องต้นมีกระแสข่าวว่าอาจมีการจัดเก็บภาษีมรดกที่มีมูลค่า 50 ล้านบาทขึ้นไป

แต่ในปัจจุบันการโอนมรดก (ที่ดิน) คิดค่าโอน 0.5% ของราคาประเมิน หรือล้านละ 5 พันบาท ซึ่งผู้รับมรดกจะต้องเป็นทายาทสายตรงจริง ๆ คือ "ลูก หลาน เหลน ลื้อ" เท่านั้น

นั่นคือการปรับตัวของผู้มีอันจะกิน หรือแลนด์ลอร์ดที่เข้าถึงข้อมูลข่าวสาร ซึ่งนายสมหมาย ภาษี รมว.คลัง บอกว่า เตรียมจะส่งร่างกฎหมายภาษีมรดกให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาอย่างช้าไม่เกินกลาง เดือน พ.ย.นี้

จะว่าไปแล้ว หากกฎหมายฉบับนี้ยกเว้นภาษีมรดกขั้นต่ำ 50 ล้านบาท ส่วนที่เกินจากนี้จะจัดเก็บในอัตราคงที่ 10% เชื่อว่าประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศคงสบายใจได้

แต่...หากถึงคราวที่เราจำเป็นต้องไปติดต่อทำธุระเกี่ยวกับที่ดินแบบปกติทั่วไป ส่วนมากแล้วก็ไม่ค่อยจะรู้หรอกว่าต้องเอาอะไรไปบ้าง ?

หลายคนเดินทางไปสำนักงานที่ดินแล้วก็ต้องหงายเงิบออกมา เพราะเตรียมหลักฐานเอกสารไปไม่ครบ ไม่ถูกต้อง

ผู้เขียนไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายที่ดิน แต่ต้องการแชร์ประสบการณ์ตรง จะได้ไม่เสียรู้-เสียเวลากันทุกฝ่าย

ฉะนั้น ก่อนที่จะไปทำเรื่องที่ดิน ให้เตรียมเอกสารหลักฐานต่าง ๆ ให้ครบถ้วน ได้แก่ ก) กลุ่มหลักฐานเกี่ยวกับที่ดิน คือ 1) โฉนดที่ดิน/น.ส.3/น.ส.3ก./ น.ส.3ข. 2) หลักฐานการได้มาซึ่งที่ดิน เช่น คำพิพากษา หรือคำสั่งศาลในกรณีดำเนินการทางศาล

ใน กรณีนี้เจอปัญหาคือครอบครัว ได้นำโฉนดที่ดินหลายแปลงไปเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันไว้กับศาล โดยคดีความอยู่ในศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์ และศาลฎีกา ใช้เวลานานนับ 10 ปี คดีจึงสิ้นสุด กระทั่งทุกคนก็ลืมเรื่องนี้ไปแล้ว แต่เพิ่งมาทราบอีกทีก็ตอนที่ไปยื่นขอโอนที่ดิน โดยพนักงานที่ดินแจ้งว่า "ที่ดินถูกอายัด"

สรุป ว่าเจ้าของที่ดินหรือนายประกันจะต้องไปยื่นขอ ถอนอายัดกับศาลด้วยตัวเอง และมีเจ้าหน้าที่ศาลรับรองสำเนา เน้นย้ำว่า...ไม่ใช่ฉบับถ่ายเอกสาร จากนั้นก็ต้องนำกลับมายื่นที่สำนักงานที่ดิน เริ่มนับหนึ่งกันใหม่

ข) กลุ่มหลักฐานสำหรับบุคคลธรรมดา ได้แก่ 1) บัตรประจำตัวประชาชน 2) ทะเบียนบ้านของตัวเองและของคู่สมรส 3) ทะเบียนสมรส 4) หลักฐานการเปลี่ยนชื่อตัว-ชื่อสกุล 5) ใบมรณบัตร (เรื่องมรดก) 6) พินัยกรรมฉบับตัวจริง กรณีขอรับมรดกตามพินัยกรรม 7) ทะเบียนหย่า 8) หนังสือแสดงความยินยอมของคู่สมรสให้ทำนิติกรรม

หลัก ฐานเหล่านี้ควร ถ่ายเอกสารพร้อมทั้งเซ็นสำเนาถูกต้องไปให้เรียบร้อยก่อนจะได้ไม่ต้องเสีย เวลาวิ่งไปถ่ายเอกสาร เพราะหลังจากเราจองคิวไว้แล้วพนักงานที่ดินจะมีการสอบสวนและตรวจเช็กหลักฐาน เอกสารต่าง ๆ ว่านำมาครบหรือไม่

ค) กลุ่มหลักฐานสำหรับนิติบุคคล เช่น บริษัทจำกัด/ห้างหุ้นส่วนจำกัด/ห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคล ต้องเตรียมเอกสารคือเอกสารการก่อตั้งนิติบุคคล หนังสือบริคณห์สนธิ หนังสือสำคัญให้ทำการแทนนิติบุคคล บัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นหรือสมาชิกโดยแสดงสัญชาติและจำนวนหุ้นของผู้ถือหุ้น ทุกคน เป็นต้น

ที่สำคัญ...หากเป็นการโอนมรดก "พี่น้องทุกคน" จะต้องมาแสดงตัวด้วยตัวเอง ขาดใครไม่ได้เลย หากมีพี่น้อง 8 คน ก็ต้องมาครบทั้ง 8 คน ถ้าหลักฐานเอกสารพร้อมและถูกต้องครบ ญาติพี่น้องมาพร้อมเพรียง ขั้นตอนก็จะรวดเร็วขึ้น

ในกรณี โอนมรดกจะต้องนำเอกสารไปติดประกาศในท้องที่ตั้งของโฉนดที่ดิน ซึ่งเราจะต้องนำไปให้นายอำเภอ ผู้ใหญ่บ้าน กำนัน นายกองค์การบริหารส่วนตำบลเซ็นชื่อรับรองพร้อมติดประกาศเป็นเวลา 1 เดือนเต็ม เพื่อเปิดโอกาสให้คนมาคัดค้านการรับโอนที่ดินผืนนี้

ขั้น ตอนนี้ก็สำคัญ เพราะเราต้องนำเอกสารไปไล่เซ็นและจะต้องนำหางตั๋วที่เซ็นแล้วกลับมายื่นที่ สำนักงานที่ดิน ถ้าทำหายก็จะต้องกลับมายื่นเรื่องใหม่ นับหนึ่งใหม่อีก

สำหรับ ขั้นตอนสุดท้ายที่สำคัญมาก ๆ ก่อนกลับบ้าน หากได้รับโฉนดและสัญญาโปรดตรวจสอบความถูกต้องในโฉนดที่ดินและสัญญาด้วยว่า เขียนถูกต้องหรือไม่ โดยเฉพาะชื่อ-นามสกุล อายุ ชื่อบิดา มารดา ที่อยู่ เป็นต้น หากมีการพิมพ์ผิดแล้วมารู้ทีหลัง เรื่องก็จะยุ่งอีก

กว่า จะได้เป็นเจ้าของที่ดิน แม้พื้นที่เล็กแค่แมวดิ้นตาย ก็ต้องปฏิบัติตามขั้นตอนนี้ทั้งนั้น และอย่ามอบโฉนดที่ดินให้กับผู้อื่นเด็ดขาด ต้องเก็บไว้ในที่ปลอดภัย


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : ต้องเอาอะไร ไปบ้าง เมื่อไป รับหรือโอน มรดก

view