สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

เปิดผลศึกษา สศค. คืนเงินภาษี ช่วยคนจน

จากประชาชาติธุรกิจ

หมายเหตุ - เป็นผลศึกษา "เงินโอน แก้จน คนขยัน" หรือ Negative Income Tax : NIT ของสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เกี่ยวกับแนวทางการจ่ายเงินช่วยเหลือคนจนในรูปแบบการจ่ายเงินภาษี ซึ่งจะนำมายกร่างเป็นพระราชบัญญัติ ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในปีนี้ เพื่อนำเสนอนายสมหมาย ภาษี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง พิจารณาให้ความเห็นชอบ และดำเนินการตามขั้นตอนการออกกฎหมายต่อไป

เมื่อ ต้นเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา สศค.ได้เสนอผลการศึกษาเรื่องเงินโอน แก้จน คนขยัน โดยได้มีการขีดเส้นคนจนที่มีโอกาสได้รับเงินจากรัฐบาลไว้ที่ ผู้มีรายได้ต่ำกว่าปีละ 8 หมื่นบาท ซึ่งคิดจากค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท คูณด้วยวันทำงานทั้งปี 260 วัน

ทั้งนี้ ผู้ที่รายได้ปีละ 3 หมื่นบาท จะได้รับเงินมากสุดคือปีละ 6 พันบาท ซึ่งยึดตามเส้นความยากจน จากการสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติ เมื่อปี 2555 โดยคนไทยที่มีรายได้ไม่เกินปีละ 3 หมื่นบาท มีจำนวนถึง 8.4 ล้านคน และถ้าดูระดับรายได้ที่ควรจะได้รับเงินช่วยเหลือ โดยกำหนดรายได้ขั้นต่ำสุดไว้ที่ 1 หมื่นบาท ถึงสูงสุด 8 หมื่นบาท มีคนจนที่ต้องได้รับการช่วยเหลือประมาณ 18.5 ล้านคน มีสัดส่วนถึง 27.5% ของประชากรไทย คิดเป็นเงินที่รัฐต้องจ่าย 5.6 หมื่นล้านบาทต่อปี

การ จ่ายเงินให้คนจนจะจ่ายตามขั้นบันไดของรายได้ กล่าวคือ หากรายได้ปีละ 3 หมื่นบาท จะได้รับเงินจากรัฐมากที่สุดปีละ 6 พันบาท ถ้ารายได้ 1 หมื่นบาท จะได้รับเพียง 2 พันบาท เพราะต้องการให้คนกลุ่มนี้ทำงานให้มากขึ้น หากรายได้เกิน 3 หมื่นบาท จะได้รับเงินชดเชยที่ลดลง อาทิ รายได้ 4 หมื่นบาท จะได้รับเงินชดเชย 4.8 พันบาท ถ้ารายได้ 7 หมื่นบาท จะได้รับ 1.2 พันบาท ถ้ารายได้เกิน 8 หมื่นบาท ไม่ได้รับเงินชดเชย เนื่องจากมีรายเพียงพอที่จะดูแลตัวเองแล้ว

แนวทางการจ่ายเงินให้คน จนมี 2 แนวทางคือ 1.จ่ายในลักษณะเหมือนเช็คคืนภาษีที่สรรพากรจ่ายให้ผู้เสียภาษี โดยคนจนต้องมาขึ้นทะเบียนภาษีกับกรมสรรพากร พร้อมทั้งต้องยื่นแบบแสดงรายได้ 2.จ่ายในรูปแบบของการคืนเงินรถยนต์คันแรกคือกรมบัญชีกลางออกเช็คจ่ายให้ แต่ต้องมีการขึ้นทะเบียนคนจนและตรวจสอบรายได้จากกรมสรรพากรเช่นกัน

การ ช่วยเหลือคนจนในลักษณะนี้จะดีกว่าโครงการประชานิยม เพราะเป็นโครงการรัฐสวัสดิการที่ช่วยเหลือคนเฉพาะกลุ่ม เป็นโครงการที่สนับสนุนคนทำงาน เพราะถ้าไม่ขยันขันแข็ง ไม่มีงานทำ จะไม่ได้รับเงินจากภาครัฐ ซึ่งเงินที่จะนำมาจ่ายให้คนจน สศค.จะเสนอให้ตัดโครงการประชานิยมที่ไม่จำเป็นออก เพราะพบว่าในช่วงปี 2552-2557 รัฐบาลมีโครงการเชิงสวัสดิการและโครงการประชานิยมรวม 18 โครงการ อาทิ กองทุนหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า กองทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษา เบี้ยยังชีพคนชรา โครงการเรียนฟรี โครงการแท็บเล็ต โดยใช้ในปี 2557 ใช้งบประมาณกว่า 3.88 แสนล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนถึง 15% ของงบประมาณประจำปี

หาก ดูเฉพาะโครงการที่เกี่ยวกับเพิ่มรายได้และลดจ่ายมีถึง 11 โครงการ อาทิ กองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง โครงการรถยนต์คันแรก กองทุนสตรี พักชำระหนี้ จำนำพืชผลทางการเกษตร ประกันรายได้เกษตรกร ใช้งบถึง 1.44 แสนล้านบาท ดังนั้น ถ้าลดหรือเลิก สามารถนำเงินมาจ่ายให้กับคนจนซึ่งใช้งบเพียง 5.6 หมื่นล้านบาท ส่วนเงินที่เหลือ 8.8 หมื่นล้านบาท ยังสามารถนำไปลงทุนในโครงการโครงสร้างพื้นฐาน

การจ่ายเงินให้คนจน จะมีผลดีทำให้เศรษฐกิจโตได้ถึง 0.1% เพราะเงินที่ถึงมือคนจนส่วนใหญ่จะนำไปใช้ทันที อย่างไรก็ตามแนวทางการช่วยเหลือนี้มีข้อจำกัดคือ จะโอนให้เฉพาะคนที่ทำงานเท่านั้น ทำให้ครอบครัวที่ยากจนที่สุด ซึ่งสมาชิกในครอบครัวไม่มีงานทำจะไม่ได้รับประโยชน์จากการคืนภาษีคนจน และระบบนี้สร้างภาระให้กรมสรรพากรเพิ่มขึ้น ซึ่งการที่รัฐบาลจะให้เงินกับประชาชนนั้นไม่ใช่เรื่องใหม่มีมาตั้งแต่สมัย หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช และแต่ละครั้งมีวัตถุประสงค์ที่แตกต่างกันไป การให้ความช่วยเหลืออาจจะไม่จำเป็นต้องช่วยทั้ง 18 ล้านคนสามารถช่วยได้เท่าที่งบประมาณเอื้ออำนวย อาจจะใช้แค่ 2-3 หมื่นล้านบาท เพื่อช่วยแค่ 8.4 ล้านคนที่เป็นกลุ่มคนที่มีรายได้ไม่เกิน 3 หมื่นบาทก็ได้

ปัณณ์ อนันอภิบุตร
เศรษฐกรชำนาญการ สศค. ผู้ศึกษา "เงินโอน แก้จน คนขยัน"

การ ศึกษาแนวทางดูแลคนจนของ สศค. ประยุกต์จากข้อเสนอของศาสตราจารย์ Milton Friedman นักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบล ซึ่งเขียนไว้ในหนังสือชื่อ "Capitalism and Freedom" เมื่อปี ค.ศ.1962 โดยในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ประเทศต่างๆ ในโลกได้ทยอยนำระบบ Negative Income Tax : NIT มาประยุกต์ใช้ เช่น ออสเตรเลีย อังกฤษ แคนาดา สิงคโปร์ สวีเดน อิสราเอล เกาหลีใต้ นิวซีแลนด์ ซึ่งสะท้อนว่า NIT เป็นนวัตกรรมทางการคลังที่หลายประเทศให้ความสำคัญมากขึ้น

หาก มองกลับมาที่ไทยพบว่าในช่วงประมาณ 10 ปีที่ผ่านมา รายจ่ายทางด้านสวัสดิการของรัฐบาลไทยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็นเม็ดเงิน สูงกว่า 1 ล้านล้านบาท แต่ด้วยข้อจำกัดเกี่ยวกับฐานข้อมูลรายได้ของประชากร ทำให้รัฐบาลไม่สามารถแก้ปัญหาความยากจนให้ตรงกลุ่มเป้าหมายได้ บ่อยครั้งที่รัฐบาลเลือกวิธีการช่วยเหลือคนยากจนและด้อยโอกาสในลักษณะการให้ อย่างถ้วนหน้า ทำให้รัฐบาลมีภาระรายจ่ายสูงเกินจำเป็น และไม่สามารถแก้ไขปัญหาความยากจนได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ประโยชน์ที่สำคัญของเงินโอน แก้จน คนขยันมี 8 ประการ คือ

1.ไม่ ส่งเสริมให้คนจนขี้เกียจ คอยรอรับการช่วยเหลือจากรัฐ เพราะมิใช่โครงการสวัสดิการ หากแต่เป็นโครงการที่ต้องทำงานแลก เพื่อสร้างแรงจูงใจให้บุคคลพึ่งพาตนเองได้มากกว่าการรอรับสวัสดิการ โดยมีหลักการว่า หากคนจนได้ขวนขวายพยายามอย่างเต็มที่แล้ว แต่ยังคงมีรายได้ไม่เพียงพอ รัฐบาลจึงจะยื่นมือเข้าไปช่วยเหลือ เช่น สำหรับคนจน (ผู้ที่มีรายได้ต่ำกว่าเส้นความยากจน) รัฐบาลจะโอนเงินให้ในอัตรา 20% หมายความว่า ทุกๆ บาทที่เขาทำงานเพิ่มขึ้น หารายได้ได้มากขึ้นจะได้รับเงินสมทบจากรัฐบาลอีก 20 สตางค์ จึงเป็นการส่งเสริมให้คนจนขยันมากขึ้น

2.เป็นโครงการที่ควรจะนำมาใช้ แทนนโยบายเชิงประชานิยม เพราะใช้เงินงบประมาณต่ำมากเมื่อเทียบกับโครงการเชิงประชานิยมในปัจจุบัน และการ "หาตัวคนจน" ทำให้การจัดสรรงบประมาณเป็นไปอย่างถูกต้อง จึงเป็นการใช้เงินภาษีอย่างประหยัดและมีประสิทธิภาพ

3.มีต้นทุนในการ บริหารจัดการต่ำมาก เพราะไม่ต้องจ้างคน และไม่ต้องมีหน่วยงานเกี่ยวข้องมากเพียง 1-2 หน่วยงานในการรับแบบแสดงรายการเงินได้ที่คนจนยื่น แล้วก็โอนเงินไปยังคนจนได้

4.เป็นการเปลี่ยนระบบการจัดสรรเงินไปยัง คนจน โดยไม่ต้องการให้ไอศกรีมถูกเลียโดยคนจำนวนมากระหว่างทาง แล้วก็เหลือเฉพาะไม้ไอศกรีมไปถึงมือคนจน แต่ NIT จะเป็นการนำไอศกรีม "ทั้งแท่ง" ใส่มือคนจน นั่นคือเป็นการจ่ายเช็คหรือโอนเงินสดเข้าบัญชีของคนจนโดยตรง

5.เป็น การสร้างแรงจูงใจ "เชิงบวก" ให้คนเข้าสู่ระบบภาษี ซึ่งในปัจจุบันระบบภาษีเงินได้ของไทยมีแรงจูงใจ "เชิงลบ" อยู่แล้ว โดยมีบทลงโทษทางอาญาแก่ผู้ที่ยื่นแบบฯเท็จ และผู้ที่ไม่ยื่นแบบฯ แม้กระนั้นก็ตามผู้ที่อยู่ในระบบภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาของไทยยังคงมีสัด ส่วนน้อยมาก เมื่อเทียบกับเศรษฐกิจนอกระบบอันมโหฬาร กว่า 50% ของจีดีพี ซึ่ง NIT จึงเป็นความพยายามทำให้คนที่อยู่ใต้โต๊ะ (นอกระบบ) ขึ้นมาบนโต๊ะ แม้ว่าในระยะสั้น รัฐบาลอาจต้องโอนเงินช่วยเหลือคนจนดังกล่าว แต่เมื่อคนกลุ่มนี้เข้ามาอยู่ในระบบแล้ว ในระยะยาวเมื่อเขามีรายได้มากขึ้น ก็จะกลายเป็นผู้อยู่ในระบบภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาไปโดยปริยาย มิใช่ว่าจะต้องหนีภาษีไปตลอดชีวิต

6.ไม่ใช่การ "สงเคราะห์" คนจน รวมทั้งไม่ใช่การที่คนจนมาขอ "ส่วนบุญ" จากรัฐบาล แต่ NIT เป็นการรับรอง "สิทธิของคนจน" ในการที่จะได้รับการดูแลจากรัฐบาลเพื่อให้ตนเองสามารถดำรงชีวิตในสังคมได้ อย่างมีศักดิ์ศรี

7.ไม่ใช่การสนับสนุนให้คนจนนำเงินไปใช้จ่ายในทาง ที่ไม่ถูกไม่ควร (เช่น นำไปซื้อเหล้า บุหรี่ ฯลฯ) แต่ NIT วางอยู่บนหลักการที่เชื่อในศักยภาพของมนุษย์ที่มีเหตุมีผล สามารถตัดสินใจได้ด้วยตนเอง โดยไม่ต้องรอให้รัฐบาลเข้ามาสั่งการหรือทำตัวเป็น "คุณพ่อรู้ดี" ซึ่งถึงแม้คนจนอาจจะนำเงินไปใช้จ่ายในทางที่คุณพ่อเห็นว่าไม่ถูกไม่ควร คนจนก็จะต้องเป็นผู้รับผลกรรมของการกระทำของตนเอง อันจะเป็นการปลูกฝังค่านิยมที่ถูกต้องในสังคมให้ประชากรในสังคมมีวุฒิภาวะ และมีความรับผิดชอบมากขึ้นต่อพฤติกรรมของตนเอง

8.ช่วยสร้างฐานข้อมูล คนจน อันจะทำให้รัฐบาลสามารถนำข้อมูลนี้ไปใช้ในการทบทวนและออกแบบระบบสวัสดิการ สังคมได้อย่างถูกฝาถูกตัว และใช้เงินภาษีของประชาชนอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น อันอาจทำให้รัฐบาลไม่จำเป็นต้องขึ้นภาษีหรือลดภาษีลงได้เสียด้วยซ้ำ

ประการ สำคัญ เงินโอน แก้จน คนขยัน จะต้องไม่จบในตัวเอง แต่ข้อมูลคนจนที่รวบรวมได้ จะต้องนำไปสู่การออกแบบระบบสวัสดิการใหม่ รวมถึงการบูรณาการเข้ากับมาตรการอื่นๆ เช่น การให้เงินทุนประกอบอาชีพแก่คนจน การพัฒนาฝีมือแรงงาน และการจัดหางานให้แก่คนจน เป็นการช่วยให้รัฐสามารถแก้ปัญหาคนจนอย่างถาวร

 

ที่มา : นสพ.มติชน


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : เปิดผลศึกษา สศค. คืนเงินภาษี ช่วยคนจน

view