สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ชาตินิยมกับเสรีภาพ : เวียดนามในวันฉลองการปลดปล่อยฮานอย

ชาตินิยมกับเสรีภาพ : เวียดนามในวันฉลองการปลดปล่อยฮานอย

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์




ระหว่างวันที่ 9-12 ต.ค. 2557 ผู้เขียนได้มีโอกาสเดินทางไปเยือนประเทศเวียดนามเป็นครั้งแรกในชีวิต

ในฐานะศิษย์เก่าโครงการ Eisenhower Fellowships ไปร่วมงาน East Asia Eisenhower Fellowships unConference ซึ่งจัดขึ้นเป็นครั้งแรก

งานนี้มีเพื่อนร่วมรุ่นที่ไปเยือนอเมริกา 7 สัปดาห์ด้วยกันในปี 2556 ไปร่วมงานอย่างอุ่นหนาฝาคั่ง เพราะไม่ได้เจอกันพร้อมหน้ามาร่วมปี พวกเราเห็นพ้องต้องกันว่าการจัดงานนี้ครั้งแรกในเวียดนามนับว่าเหมาะสมทุกประการ เพราะ Fellows เวียดนามทุกคนเอ่อล้นไปด้วยสปิริต “เราทำได้” และดูจะมีแต่ความหวังต่ออนาคตของประเทศ

ค่ำวันที่ 10 ต.ค. คนฮานอยนับแสนพาลูกเด็กเล็กแดงออกมาฉลองครบรอบ 60 ปีแห่งการปลดปล่อยกรุงฮานอยของกองกำลังคอมมิวนิสต์-ชาตินิยมเวียดนาม (เวียดมินห์) ซึ่งเอาชนะกองกำลังของฝรั่งเศส เจ้าอาณานิคมที่ปกครองเวียดนามได้อย่างเด็ดขาดที่ยุทธการเดียนเบียนฟู หลังจากที่ปิดล้อมนานกว่าสองเดือน ในปี พ.ศ. 2497

หลังจากมีชัยที่เดียนเบียนฟู กองกำลังเวียดมินห์ใช้เวลาอีกกว่า 4 เดือน กว่าจะรอนแรมมาปลดปล่อยเมืองหลวงจากการยึดครองของฝรั่งเศส นักประวัติศาสตร์การทหารหลายคนมองว่า ชัยชนะของเวียดมินห์ที่เดียนเบียนฟูเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์โลก ที่ขบวนการเรียกร้องเอกราชของอาณานิคมในประเทศโลกที่สามสามารถยกระดับจากกองโจรไปเป็นกองทัพที่มีการจัดการอย่างเป็นระบบ วางยุทธศาสตร์อย่างแยบยลจนสามารถเอาชนะกองกำลังของเจ้าอาณานิคมจากโลกที่หนึ่งได้สำเร็จ

ช่วงที่ผู้เขียนไปเยือน ฮานอยทั้งเมืองเต็มไปด้วยธงชาติและซุ้มดอกไม้ รูปโฮจิมินห์ วีรบุรุษคนสำคัญของเวียดนามประดับอยู่ทุกหนทุกแห่ง ไม่เว้นแม้แต่ในตัวอาคารบ้านเรือน

ทว่าในความลิงโลดชั่วครู่ยาม และหลังฉากที่อ้าแขนรับชาวต่างชาติ ประเทศคอมมิวนิสต์แห่งท้ายๆ ในโลกนี้ก็ซ่อนความทุกข์ยากของเพื่อนร่วมชาติเอาไว้จากสายตาของผู้มาเยือน

รัฐบาลเวียดนามควบคุมและครอบงำสื่ออย่างเข้มงวด ผ่านการทำงานของสำนักโฆษณาชวนเชื่อทั้งในระดับจังหวัดและระดับชาติ เรียกนักข่าวมาร่วมประชุมอยู่เนืองๆ เพื่อนวดให้เสนอข่าวสนับสนุนพรรคคอมมิวนิสต์ ถึงแม้จะเรียกการประชุมเหล่านี้ด้วยถ้อยคำที่ฟังดูดีว่า “การหารือเพื่อชี้นำความเห็นสาธารณะ”

กฎหมายสื่อเวียดนามให้นิยาม “นักข่าว” ว่า “บุคคลซึ่งทำตามมาตรฐานทางการเมือง จริยธรรม และวิชาชีพซึ่งกำหนดโดยรัฐ ...และมีบัตรประจำตัวนักข่าว” บัตรนักข่าวที่ว่านี้กระทรวงข่าวสารและการสื่อสารเป็นคนออก ซึ่งแน่นอนว่าใครก็ตามที่วิพากษ์วิจารณ์พรรคย่อมหมดสิทธิ์ได้รับ ยิ่งไปกว่านั้น เป็นที่รู้กันว่าบรรณาธิการสื่อทุกค่ายถูกคาดหวังให้เป็นสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์ เพิ่มแรงกดดันให้ทำงานเพื่อผลประโยชน์ของพรรค มากกว่าผลประโยชน์ของประชาชน

กฎเกณฑ์ที่ทำให้ “นักข่าวอิสระ” ผิดกฎหมายในเวียดนามไปโดยปริยายเช่นนี้เปิดช่องให้ตำรวจกับอันธพาลนานาชนิดข่มขู่คุกคามบล็อกเกอร์และสื่ออิสระได้โดยไม่ต้องเกรงกลัวใคร และที่ผ่านมาก็มีสื่ออิสระและสื่อพลเมืองที่ไม่มีบัตรประจำตัวถูกกีดขวางการทำงาน ทำร้ายร่างกาย และจับกุมคุมขังไปแล้วหลายสิบคน

บล็อกเกอร์และนักเคลื่อนไหว โดยเฉพาะนักกิจกรรมที่ทำงานเรียกร้องสิทธิมนุษยชนและสิทธิของคนจน ซึ่งถูกขับไล่ออกจากที่ดินทำกินมากขึ้นเรื่อยๆ มักตกเป็นเป้าการจับกุมของรัฐ ภายใต้ข้ออ้างว่าละเมิดมาตรา 258 ในกฎหมายอาญาเวียดนาม ซึ่งให้นิยามฐานความผิดว่า “การใช้เสรีภาพแบบประชาธิปไตยไปผิดทาง เพื่อละเมิดผลประโยชน์ของรัฐ หรือสิทธิและผลประโยชน์อันชอบธรรมขององค์กรหรือพลเมือง”

นิยามที่กว้างเป็นทะเลเช่นนี้ถูกใช้ในการจับกุมคนที่วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล โทษจำคุกที่ตามมามักจะกินเวลา 2-4 ปีหรือมากกว่า

ไม่ต้องสงสัยเลยว่าในระบอบเช่นนี้ ใครก็ตามที่ทำงานด้านสิทธิ รวมถึงองค์กรพัฒนาเอกชนหรือเอ็นจีโอ ทำงานด้วยความยากลำบาก แต่เพื่อนชาวเวียดนามของผู้เขียนอีกคนก็ยังมองโลกในแง่ดีว่า กระแสโซเชียลมีเดียและการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตมากขึ้นเรื่อยๆ ก็ทำให้คนเวียดนามตื่นตัวมากขึ้น มองหาข่าวทางเลือกที่ไม่ได้มาจากกระบอกเสียงของรัฐมากขึ้น

เฟซบุ๊คและสื่ออิสระใหม่ๆ อย่าง Vietnam Right Now (www.vietnamrightnow.com) ซึ่งเป็นเว็บสื่ออิสระเวียดนามแห่งแรกในภาษาอังกฤษ เปิดพื้นที่ให้คนเวียดนามได้เข้าถึงและส่งเสียงเรียกร้องสิทธิมนุษยชนกับประชาธิปไตยมากขึ้น

สำนักโฆษณาชวนเชื่อของพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนามพยายามโต้กระแสนี้ด้วยการจัดตั้งกองกำลัง “นักรบไซเบอร์” หลายพันคน จ่ายเงินให้โพสต์เชียร์รัฐบาลออนไลน์ นี่คือเวอร์ชั่นเวียดนามของ “พรรคห้าสิบเซ็นต์” ในจีน - ชื่อเรียกคนที่พรรคคอมมิวนิสต์จีนจ้างโพสต์ละ 50 เซ็นต์ ทุกครั้งที่โพสต์เชียร์รัฐบาล หรือเบนประเด็นการสนทนาให้หนีออกจากการวิพากษ์รัฐ

เพื่อนของผู้เขียนเล่าว่า ทัศนคติของคนรุ่นใหม่เริ่มเปลี่ยนไปในทางที่ทำให้เธอมีความหวังมากขึ้น เด็กๆ สมัยนี้เริ่มตั้งคำถามว่า ทำไมโฮจิมินห์จึงได้ถูกยกย่องเทิดทูนอย่างฟุ้งเฟ้อฟูมฟาย ราวกับว่าเขาเป็น “เทวดา” ที่แตะต้องไม่ได้ ทำไมข่าวที่ปรากฏตามสื่อกระแสหลักจึงได้เหมือนกันไปหมด ทำไมประชาชนจึงถูกจับเพียงเพราะโพสต์ความเห็นที่แตกต่างจากรัฐบาลบนเฟซบุ๊ค ทำไมความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจจึงขยายตัว ฯลฯ

เมื่อถามว่าเรามีโอกาสจะได้เห็นขบวนการเรียกร้องประชาธิปไตยในเวียดนามบ้างไหม เพื่อนตอบว่าอาจจะอีกนาน เพราะภาคประชาสังคมในเวียดนามยังทะเลาะกันเอง นอกจากนี้คนเวียดนามโดยรวมยังกริ่งเกรงธรรมชาติอันดุดันของตัวเอง

เธอขยายความว่า ในอดีตเวียดนามรบชนะชาติที่ใหญ่กว่าและมีอำนาจมากกว่าตัวเองมาแล้วหลายชาติ ตั้งแต่จีน ญี่ปุ่น ฝรั่งเศส จนถึงอเมริกา ทำให้คนเวียดนามไม่กลัวชาติอื่นก็จริง แต่ก็กลัวว่าถ้าหากเกิดการปฏิวัติประชาชนในประเทศอาจเกิดความสูญเสียมหาศาล ไม่ต่างจากในอดีตที่กษัตริย์มักจะกำจัดศัตรูในศึกชิงบัลลังก์อย่างราบคาบ (คนเวียดนามจำนวนมากวันนี้ใช้นามสกุล “เหงียน” - Nguyen เพราะถูกบังคับให้เปลี่ยนตามสกุลของกษัตริย์ราชวงศ์นี้)

เพื่อนบอกว่า ประวัติศาสตร์อันเกรียงไกรของเวียดนามทำให้รัฐบาลปลุกกระแสชาตินิยมมาปกป้องตัวเองได้อย่างง่ายดาย ดูอย่างกรณีพิพาทล่าสุดเรื่องเขตแดนในทะเลที่ทะเลาะกับจีน รัฐบาลเวียดนามก็ปล่อยให้มีการเดินขบวนประท้วงต่อต้านจีนอย่างเปิดเผย

คืนวันที่ 10 ต.ค. 2557 ระหว่างที่เรายืนกลางถนนอย่างแออัดยัดทะนานเพราะไม่สามารถฝ่าฝูงชนไปริมทะเลสาบ แหงนดูดอกไม้ไฟเคล้าเสียงฮือฮาด้วยความเพลิดเพลิน ผู้เขียนก็กระหวัดนึกถึงคำบอกเล่าของเพื่อน และทำให้นึกต่อไปว่า ความรักชาติอาจทำให้ตาบอดต่อความทุกข์ทรมานของเพื่อนร่วมชาติก็เป็นได้

และการช่วงชิงนิยามของ “ชาติ” ระหว่าง “รัฐ” กับ “ประชาชน” ก็คงจะดำเนินต่อไปอีกเนิ่นนาน


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : ชาตินิยมกับเสรีภาพ เวียดนาม วันฉลองการปลดปล่อย ฮานอย

view