สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ระวังผีจำนำข้าวหลอกหลอนซ้ำ

ระวังผีจำนำข้าวหลอกหลอนซ้ำ

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์




ในที่สุดรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้คลอดแผนการพยุงราคาข้าวออกมา ผ่านคณะกรรมการนโยบาย

และบริหารจัดการข้าวหรือนบข.แผนการที่ว่านั้นเป็นแผนการให้สินเชื่อเพื่อชะลอข้าวออกมาสู่ท้องตลาดพร้อมๆ กัน เพื่อสกัดกั้นราคาข้าวขาลงช่วงต้นฤดู โดยเฉพาะข้าวหอมมะลิ

แม้จะเรียกว่าสินเชื่อเพื่อชะลอการขายข้าว แต่วิธีการก็คือการจำนำ ณ ยุ้งฉาง เหมือนที่เป็นมาในอดีต

วิธีการ คือ ให้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร(ธ.ก.ส.) ปล่อยสินเชื่อกับชาวนาผู้ปลูกข้าวหอมมะลิ ตันละ 14,400 บาทและมีค่าดูแลข้าวให้อีก 1000 บาทต่อตัน รวมแล้วชาวนาจะได้เงินเมื่อเกี่ยวข้าวหอมมะลิใส่ยุ้ง 15,400 บาทต่อตัน ส่วนข้าวเหนียวสินเชื่อรายการนี้ตก 11,700 บาท ค่าดูแลอีก 1,000 บาท รวม 12,700 บาทต่อตัน โดยสินเชื่อที่ให้คิดเป็น 90 % ของราคาเป้าหมาย 16,000 บาทต่อตัน

เดิมในคราวประชุมนบข.นัดแรก ได้อนุมัติงบสำหรับโครงการนี้ไว้แค่ 1.72 หมื่นล้านบาท แต่รอบนี้มีการเพิ่้มขึ้นของสินเชื่ออีก 2.16 หมื่นล้านบาท เฉพาะสินเชื่อเพื่อชะลอการขายข้าวคิดเป็นวงเงิน 3.88 หมื่นล้าน และมีอีกรายการที่เรียกว่าสินเชื่อเพือ่เตรียมข้าวเปลือกขึ้นยุ้งฉางอีกตรงนี้จัดให้ 1.35 หมื่นล้าน และเงินจ่ายขาดค่าดูแลข้าวในยุ้งฉางตันละพันบาทส่วนนี้เตรียมไว้ 3 พันล้าน รวมทั้งโครงการ 5.24 หมื่นล้าน ซึ่งธกส.คิดค่าชดเชยต้นเงินรวมบริหารจัดการแยกมาต่างหากอีก 5.98 พันล้านบาท

ก่อนหน้านี้จัดสรรเงินแบบให้เปล่าไม่เกิน 15ไร่ต่อครอบครัว ไร่ละพันบาท คาดการณ์ว่าเงินก้อนนี้ไม่น้อยกว่า 4 หมื่นล้านบาท รวม 2 ยอดในการดูแลราคาข้าวของรัฐบาลนี้เบื้องต้นประมาณกว่า 9 หมื่นล้าน

แม้อาจจะเทียบไม่ติดกับการจำนำของรัฐบาลก่อน ที่ใช้เงินตกปีละ 2 แสนล้าน แต่ทั้งหมดไม่ได้อยู่ที่การแข่งกันใช้เงินมิใช่หรือ

แน่นอนการช่วยเหลือดูแลสังคม ในกลุ่มที่ด้อยโอกาสกว่าย่อมเป็นหน้าที่ของรัฐ ที่พึงกระทำตามความเหมาะสม เกิดประสิทธิภาพ ไม่ว่ารัฐบาลนี้หรือรัฐบาลไหน ไม่มีใครเกี่ยงเรื่องการใช้เงินพวกนี้ แต่ที่เขาเฝ้าระวัง เบื่อหน่าย ต้องการให้แก้ คือ การรั่วไหล ประสิทธิภาพการใช้เงินคุ้มค่ากับที่ต้องเสียไปหรือไม่

เพราะเงินที่ใช้ไปล้วนมาจากภาษีของประชาชน กรณีถ้าราคาข้าวในอนาคตไม่ปรับตัวสูงขึ้น ชาวนาพร้อมใจกันไม่ไถ่ถอนแล้วจะทำอย่างไร

การตรวจเช็กคุณภาพก่อนเข้ายุ้ง และออกจากยุ้งจะทำไอย่างไร ใครจะเป็นผู้รับผิดชอบ

ในอดีตโครงการลักษณะแบบนี้ มีตัวอย่างให้เห็นมาแล้ว จำนำข้าวหอมมะลิที่ยุ้งฉางแบบนี้ ในพื้นที่ สุรินทร์ ศรีสะเกษ บุรีรัมย์ อุบลราชธานี และหลายจังหวัด ข้าวไม่ขึ้นเกินราคาจำนำ ไม่มีการไถ่ถอน นำไปกองรวมที่สหกรณ์ในพื้นที่ ไม่มีใครสนใจคุณภาพ ปล่อยให้ข้าวเน่า แล้วให้ผู้ว่าราชการจังหวัดในฐานะประธานอนุกรรมการนโยบายข้าวจังหวัดหรืออนุกขช.จังหวัดเปิดประมูลขายได้ราคาต่ำกว่าการจำนำแค่ 30-40 %

ส่วนข้าวดีแน่นอนมีการเล่นแร่แปรธาตุ รู้เห็นเป็นใจกันทั้งหมดในการผ่องถ่ายออกไปขายก่อน ทั้งเจ้าหน้าที่ ธกส. โรงสี ขาใหญ่ในพื้นที่ เหมือนวิธีการจำนำทั่วไปที่คุณภาพข้าวแทบหาที่ดีไม่ได้

ไม่ต้องถามถึงความรับผิดชอบของธ.ก.ส. เพราะเงินที่ธ.ก.ส.จ่ายออกไปก่อนนั้นเคลมคืนกับรัฐบาล 100 % ไม่ยอมตัดหนี้สูญ ไม่ยอมรับความเสี่ยงใดๆ ทั้งที่เป็นหนึ่งในกระบวนการและกลไกสำคัญของการรับจำนำรูปแบบนี้

ซ้ำร้ายที่หนักกว่านั้นในกระบวนการขาย กรณีข้าวดีหากมีการขายได้ในราคาส่วนเกินที่ควรได้เป็นของชาวนา จะถูกหักหนี้คืนธกส.ก่อนทั้งหมด ทำกันทั้งกระบวนการ ชาวนาก็เป็นเหยื่ออยู่ดี

ถ้ารัฐจะเดินหน้ากระบวนการจำนำยุ้งฉาง เพื่อลดความสูญเสียที่อาจจะเกิด ต้องให้ธ.ก.ส.มีส่วนรับความเสี่ยงและรับผิดชอบด้วย เพื่อให้ปฏิบัติงานได้อย่างเต็มกำลัง เหมือนเป็นเจ้าของข้าวเอง ถ้าข้าวเสีย ข้าวหาย ควรให้ธ.ก.ส.รับผิดชอบส่วนหนึ่ง เพื่อจะเกิดความรอบคอบรัดกุม

ข้าวกำลังถาโถมเข้ามาช่วงต้นฤดู เมื่อตัดสินใจดูดซับไว้ ก็ต้องหาทางผ่องถ่ายทำการตลาดไว้ล่วงหน้า มิใช่นำมากองให้เป็นสต็อกแล้วก็เสื่อมคุณภาพเข้าอีหรอบเดิม

ระวัง.....ผีจำนำข้าวจะลุกขึ้นมาหลอกหลอนอีกรอบหนึ่ง


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : ระวัง ผีจำนำข้าว หลอกหลอนซ้ำ

view