สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

การไม่ฟื้นตัวของเศรษฐกิจยุโรป

การไม่ฟื้นตัวของเศรษฐกิจยุโรป

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์




ในขณะนี้ทุกฝ่ายมีความเห็นร่วมกันว่าการชะลอตัวของเศรษฐกิจยุโรปเป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วงอย่างยิ่ง

และเป็นความเสี่ยงต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ซึ่งผมจะขอกล่าวถึงในบทความนี้โดยเฉพาะประเด็นการไม่ฟื้นตัวของประเทศฝรั่งเศส

เศรษฐกิจของประเทศกลุ่มที่ใช้เงินยูโร 18 ประเทศนั้นขยายตัวต่ำกว่าคาดการณ์มาก นอกจากปัญหาการฟื้นตัวช้าของประเทศชายขอบที่เคยมีปัญหาอย่างรุนแรง เช่น กรีกและสเปน แล้วการขยายตัวของประเทศหลัก เช่น อิตาลีและฝรั่งเศสก็ยังต่ำกว่าเกณฑ์อย่างมากอีกด้วย ล่าสุดแม้กระทั่งตัวเลขการผลิตของประเทศเยอรมัน ซึ่งเป็นเสาหลักก็อ่อนตัวลงเกินคาด ทำให้นางลาการ์ด ผู้อำนวยการไอเอ็มเอฟ กล่าวว่า ประเทศกลุ่มเงินยูโรมีโอกาสประมาณ 35-40% ที่จะเข้าสู่สภาวะถดถอยอย่างต่อเนื่อง (prolonged contraction) ทั้งนี้ การซื้อ-ขายอนุพันธ์ในตลาดเงินสะท้อนออกมาว่านักลงทุนมองความเสี่ยงที่เศรษฐกิจของประเทศกลุ่มใช้เงินยูโรมีโอกาสจะเผชิญกับปัญหาเงินฝืด (deflation) นั้นมีสูงขึ้นมาเป็นลำดับตั้งแต่ต้นปีนี้ โดยล่าสุดมีความเป็นไปได้ประมาณ 20%

ประเทศกลุ่มเงินยูโรนั้นมีจีดีพีมูลค่าประมาณ 13 ล้านล้านดอลลาร์และหากรวมกับประเทศในสหภาพยุโรป ซึ่งบวกอีก 9 ประเทศ เป็น 27 ประเทศก็จะมีจีดีพีรวมกัน 17.6 ล้านล้านดอลลาร์ ใกล้เคียงกับสหรัฐอเมริกาที่ประมาณ 17.1 ล้านล้านดอลลาร์ หมายความว่าหากกลุ่มประเทศยูโรมีปัญหาก็น่าจะลามไปสู่ยุโรปทั้งหมดและหากยุโรปทั้งหมดมีปัญหาก็น่าจะกระทบสหรัฐอย่างมีนัยสำคัญ ทั้งนี้ จีดีพีของยุโรปและสหรัฐรวมกันได้ประมาณ 35 ล้านล้านดอลลาร์หรือเกือบครึ่งจีดีพีโลกที่ประมาณ 77 ล้านล้านดอลลาร์ ดังนั้น ปัญหาของยุโรปย่อมเป็นปัญหาของเศรษฐกิจโลกอย่างแน่นอน

ภายในกลุ่มประเทศเงินยูโรนั้นปัญหาของฝรั่งเศสดูจะน่าเป็นห่วงมากที่สุดเพราะจีดีพีเกือบ 3 ล้านล้านดอลลาร์ (มากกว่าจีดีพีทั้งหมดของอาเซียน) และล่าสุดบริษัทจัดอันดับเอสแอนด์พีก็ปรับลดแนวโน้มการจัดอันดับของฝรั่งเศสมาเป็นลบ (จากเดิมที่ประเมินว่าไม่เปลี่ยนแปลง) ซึ่งปกติมีความหมายว่าอันดับความน่าเชื่อถือของฝรั่งเศสที่เคยอยู่ที่ระดับ AAA และเคยถูกปรับลดอันดับมาแล้วครั้งหนึ่ง (มาอยู่ที่ AA) ก็อาจถูกปรับลดอันดับได้อีกครั้งหนึ่งในอนาคต (ประมาณ 6-12 เดือนข้างหน้า) โดยเอสแอนด์พีแจ้งว่ามีโอกาสหนึ่งในสามที่อันดับความน่าเชื่อถือของฝรั่งเศสจะต้องถูกปรับลดลงในอนาคต

เศรษฐกิจของฝรั่งเศสนั้นเกือบจะไม่ขยายตัวเลยในครึ่งแรกของปีนี้และคาดว่าจะขยายตัวเพียง 0.2% ในไตรมาส 3 และอาจขยายตัวไม่ถึง 0.4% ทั้งปี 2014 นี้ ผลที่ตามมาคือรัฐบาลฝรั่งเศสไม่สามารถทำตามคำมั่นสัญญาที่ให้เอาไว้กับรัฐมนตรีของกลุ่มประเทศเงินยูโรในการจะลดการขาดดุลงบประมาณลงให้เหลือ 3.8% ของจีดีพีได้ในปีนี้และลดลงเหลือ 3% ของจีดีพีในปีหน้า กล่าวคือเมื่อเศรษฐกิจไม่ฟื้นตัวก็ทำให้เก็บภาษีไม่ได้ตามเป้าและในขณะเดียวกันก็ถูกต่อต้านไม่ให้ลดรายจ่าย ผลที่ตามมาคือปีนี้รัฐบาลฝรั่งเศสจะขาดดุลงบประมาณถึง 4.4% ของจีดีพี (เพิ่มจากปีก่อนหน้าที่ 4.3%) และจะต้องรอถึงปี 2017 (เลื่อนออกไป 3 ปี) จึงจะขาดดุลงบประมาณเท่ากับ 3% ของจีดีพี

บางคนอาจถามว่าทำไมจึงให้ความสำคัญกับการลดการขาดดุลงบประมาณในขณะที่เศรษฐกิจย่ำแย่ กล่าวคือ ไอเอ็มเอฟเองก็สรุปว่าควรจะดำเนินนโยบายการเงินและการคลังเพื่อสนับสนุนเศรษฐกิจหากสามารถทำได้ แต่ในกรณีของฝรั่งเศสนั้นถือได้ว่าด้านการคลังนั้นรัฐบาลมีรายจ่ายมากเกินตัวอยู่ตั้งแต่เดิมแล้ว กล่าวคือ การใช้จ่ายของภาครัฐสูงถึง 56% ของจีดีพี (ประเทศไทยประมาณ 20% ของจีดีพี) โดยส่วนใหญ่เป็นรายจ่ายด้านสังคม ประกันสุขภาพและสวัสดิการที่เกี่ยวข้องมีมูลค่าสูงถึง 30% ของจีดีพี ดังนั้น ฝรั่งเศสจึงจะต้องลดรายจ่ายของภาครัฐและไม่มีทางเลือกอื่นแต่อย่างใด ผมคิดว่าประเด็นสำคัญคือการไม่ให้ภาครัฐเข้ามามีบทบาทมากในเศรษฐกิจเพราะเราจะเห็นมามากต่อมากว่าการลดบทบาทของรัฐบาลนั้นทำได้ยากแสนยาก

หนังสือพิมพ์ The Telegraph ของอังกฤษมีบทความลงวันที่ 11 ต.ค. เปรียบเทียบอังกฤษกับฝรั่งเศส โดยชี้ให้เห็นว่าในกรณีของอังกฤษนั้นพรรคอนุรักษนิยมเข้ามาบริหารประเทศและยึดมั่นการลดรายจ่ายของภาครัฐอย่างไม่ลดละและถูกประชาชนตำหนิอย่างมาก ในขณะที่ในฝรั่งเศสนั้นรัฐบาลสังคมนิยมพูดว่าจะลดรายจ่าย แต่ในที่สุดก็มิได้แสดงความจริงจังในเชิงปฏิบัติ ตรงกันข้ามรัฐบาลฝรั่งเศสภายใต้ ประธานาธิบดีโอลลองด์ เน้นการเก็บภาษีจากคนรวย โดยปรับเพิ่มอัตราภาษีขั้นสูงสุดเป็น 75% และเพิ่มข้อบังคับและกฎเกณฑ์ต่างๆ เพื่อหวังช่วยปกป้องคุ้มครองคนจนและเก็บภาษีให้เพิ่มขึ้น ซึ่งเมื่อเวลาผ่านไป 2-3 ปีก็จะเห็นได้ว่าเศรษฐกิจอังกฤษปีนี้จะขยายตัว 3.2% ในขณะที่อัตราว่างงานลดลงอยู่ที่ 6.2% แต่ฝรั่งเศสนั้นเศรษฐกิจอาจขยายตัวเพียง 0.4% (หรือน้อยกว่านั้น) และอัตราว่างงานสูงกว่า 10%

กล่าวโดยสรุปคือรัฐบาลอังกฤษลดบทบาทของรัฐบาลโดยการลดรายจ่าย ในขณะที่รัฐบาลฝรั่งเศสเพิ่มบทบาทของรัฐบาลโดยการเพิ่มภาษีและไม่ยอมลดรายจ่าย ซึ่งส่งผลต่อเศรษฐกิจที่แตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัด ที่สำคัญคือนโยบายรัดเข็มขัดของนายกรัฐมนตรีคาเมรอนของอังกฤษนั้นแม้ในตอนแรกจะถูกตำหนิอย่างมาก แต่ในขณะนี้กำลังเป็นปัจจัยสำคัญในการสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจอังกฤษ

ส่วนฝรั่งเศสนั้นการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจที่สำคัญ (แต่ไม่เป็นที่นิยมของประชาชน) ไม่เกิดขึ้น เช่น การปรับเพิ่มจำนวนชั่วโมงทำงาน (ปัจจุบันซึ่งกำหนดเพดานเอาไว้ที่ 35 ชม.ต่อสัปดาห์) การทำให้ผู้ประกอบการสามารถลดคนงานได้ง่ายขึ้นหรือแม้กระทั่งการยอมให้ร้านค้าเปิดขายในวันอาทิตย์และการลดภาษีเงินได้ขั้นสูงสุดลงมาจาก 75% ตลอดจนกฎเกณฑ์ต่างๆ ที่ดูเสมือนว่าเป็นการช่วยคนรายได้น้อยและลดส่วนต่างระหว่างคนรวยกับคนจน แต่กำลังเป็นตัวถ่วงมิให้เศรษฐกิจฝรั่งเศสฟื้นตัวและแข่งขันได้กับประเทศพัฒนาแล้วอื่นๆ ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วงอย่างยิ่งครับ


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : การไม่ฟื้นตัว เศรษฐกิจยุโรป

view