สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ทำไมเศรษฐกิจโลกฟื้นตัวยาก (2)

ทำไมเศรษฐกิจโลกฟื้นตัวยาก (2)

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์




ณ จุดนี้การปรับตัวต่อความไม่สมดุลได้เกิดมาแล้วประมาณห้าปี ผลคือ การขาดดุลบัญชีเดินสะพัดของสหรัฐได้ลดลง

จากที่เคยสูงร้อยละ 5.8 ของรายได้ประชาชาติปี 2006 เป็นขาดดุลร้อยละ 2.4 ปีที่แล้ว สะท้อนการใช้จ่ายในประเทศที่ลดลง และการอ่อนค่าของเงินดอลลาร์สหรัฐ ตรงกันข้ามจีนจากที่เคยเกินดุลบัญชีเดินสะพัดสูงถึงร้อยละ 10.1 ของรายได้ประชาชาติปี 2007 การเกินดุลได้ลดลงเหลือร้อยละ 2.3 ของรายได้ประชาชาติ

ในภาพรวม ระดับการขาดดุล/เกินดุลระหว่างประเทศที่มีการเกินดุลบัญชีเดินสะพัด คือกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ จีน ญี่ปุ่น เยอรมัน และประเทศส่งออกน้ำมัน กับกลุ่มประเทศที่ขาดดุลบัญชีเดินสะพัด เช่น สหรัฐและประเทศอุตสาหกรรมหลักอื่นๆ ในยุโรป ระดับการขาดดุล/เกินดุลได้ลดลงจากประมาณร้อยละ 2.1 - 2.3 ของรายได้ประชาชาติโลก เป็นร้อยละ 1.2 - 1.5 คือลดลงประมาณ 40 เปอร์เซ็นต์ การปรับลดดังกล่าวมีผลโดยตรงต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจโลก เคยมีการศึกษาว่า การขาดดุลบัญชีเดินสะพัดของสหรัฐที่สูงขึ้นร้อยละ 1 ของรายได้ประชาชาติ จะหมายถึงอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจประเทศตลาดเกิดใหม่ที่จะเพิ่มสูงขึ้นร้อยละ 1 ดังนั้น เมื่อการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดของสหรัฐลดลง การขยายตัวของเศรษฐกิจประเทศตลาดเกิดใหม่ก็ลดลงเช่นกัน นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้นในเศรษฐกิจโลกหลังปี 2008

คำถามที่ตามมาก็คือ ณ จุดนี้ การปรับตัวต่อความไม่สมดุลที่มีอยู่จบสิ้นหรือยัง หรือจะมีต่อ ในประเด็นนี้ ในความเห็นของไอเอ็มเอฟ จากบทศึกษาล่าสุด ข้อสรุปก็คือ การปรับตัวคงจะมีต่อ ยังไม่จบ

ที่เป็นอย่างนี้ก็เพราะแม้การขาดดุลในแต่ละปีจะน้อยลงจากเดิม แต่ระดับหนี้ในประเทศอุตสาหกรรมหลักที่มีอยู่ยังไม่สอดคล้องกับความสามารถในการชำระหนี้ของเศรษฐกิจ กล่าวคือ ระดับหนี้ยังสูงแม้การขาดดุลบัญชีเดินสะพัดในแต่ละปีจะลดลง ดังนั้น เพื่อให้เศรษฐกิจมีความสามารถที่จะชำระหนี้ การใช้จ่ายในประเทศอุตสาหกรรมหลักคงต้องชะลอต่อไป เพื่อให้เกิดการประหยัด ซึ่งจะกดดันเศรษฐกิจให้ชะลอต่อไป

ในเรื่องนี้ ประเด็นที่ต้องเข้าใจก็คือ เงื่อนไขที่จะทำให้เศรษฐกิจประเทศอุตสาหกรรมหลักกลับมาขยายตัวได้เหมือนเดิมก็คือความสามารถในการหารายได้ของประเทศจะต้องดีขึ้น เพื่อให้ประเทศมีความสามารถในการชำระหนี้

แต่รายได้จะเพิ่มขึ้น เศรษฐกิจก็ต้องขยายตัว แต่สาเหตุที่เศรษฐกิจประเทศอุตสาหกรรมหลักยังไม่ฟื้น ก็เพราะปัญหาโครงสร้างที่มีอยู่ในประเทศอุตสาหกรรมหลักที่ยังไม่ได้แก้ไข ในกรณีของสหรัฐปัญหาโครงสร้างสำคัญ ก็คือ ปัญหาการคลังที่ต้องการการดำเนินนโยบายที่จะนำไปสู่การลดหนี้สาธารณะในระยะยาว รวมถึงแก้ไขปัญหาในสถาบันการเงินที่อยู่นอกระบบธนาคารพาณิชย์ สำหรับยุโรปปัญหาเชิงโครงสร้างสำคัญก็คือ การแก้ไขฐานะของธนาคารพาณิชย์ยุโรปที่ยังอ่อนแอ และการปฏิรูปในภาคแรงงาน เพื่อให้อัตราค่าจ้างแรงงานสามารถปรับตัวขึ้นลงได้อย่างคล่องตัว นำมาสู่การลดต้นทุนและความสามารถในการแข่งขัน และสำหรับญี่ปุ่น ปัญหาโครงสร้างสำคัญก็คือ ด้านการคลังที่จำเป็นต้องมีการปฏิรูปเพื่อให้รายได้ภาครัฐขยายตัวได้มากพอที่จะนำไปสู่การลดระดับหนี้สาธารณะ

แต่ที่ผ่านมาการปฏิรูปในประเด็นเหล่านี้ไม่เกิดขึ้น เพราะภาคการเมืองในประเทศอุตสาหกรรมหลักไม่พร้อมที่จะผลักดันการปฏิรูปดังกล่าว เมื่อปัญหาไม่มีการแก้ไข แนวโน้มเศรษฐกิจประเทศอุตสาหกรรมหลักในระยะยาวก็ไม่ชัดเจน นำมาสู่ความไม่แน่นอน ทำให้นักธุรกิจไม่พร้อมที่จะลงทุน และเมื่อภาคธุรกิจไม่ลงทุน ก็ไม่มีการกู้เงินจากสถาบันการเงิน ปัจจัยนี้จึงอธิบายว่า ทำไมการอัดฉีดสภาพคล่องของธนาคารกลางทั้งในสหรัฐ ยุโรป และญี่ปุ่น ไม่ได้นำมาสู่การขยายตัวของสินเชื่อและการลงทุนภาคเอกชน ตรงกันข้ามสภาพคล่องที่ถูกอัดฉีดเข้าระบบ ได้ถูกนำไปลงทุนในตราสารทางการเงินแทน ทำให้ตลาดการเงินโลกปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่อง แม้เศรษฐกิจโลกยังไม่ฟื้นตัว จนเกิดภาวะที่เรียกว่า เศรษฐกิจไม่ดีแต่หุ้นขึ้น

ขณะนี้ระดับหนี้ของประเทศตลาดเกิดใหม่ได้ปรับสูงขึ้นอีกครั้ง และเริ่มมีผลให้การใช้จ่ายและเศรษฐกิจของประเทศตลาดเกิดใหม่ชะลอ ที่ชัดเจนที่สุดก็คือ กรณีของจีนที่หนี้ของภาครัฐ เอกชน และครัวเรือนรวมกัน ได้เพิ่มสูงเป็น 250 เปอร์เซ็นต์ ของรายได้ประชาชาติ และเศรษฐกิจกำลังชะลอ อันนี้เป็นพัฒนาการที่จะทำให้กลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลกในระยะต่อไป ยิ่งจะมีข้อจำกัดมากขึ้น เพราะไม่มีส่วนไหนของเศรษฐกิจโลกที่เข้มแข็งพอที่จะดึงให้เศรษฐกิจโลกฟื้นตัวตาม แม้กระทั่ง จีน หรือสหรัฐ ดังนั้น เศรษฐกิจโลกขณะนี้เหมือนอยู่ในภาวะ Stalemate หรือสถานการณ์ไม่มีทางออก เพราะขาดปัจจัยที่จะเป็นแรงกระตุ้นให้ฟื้นตัว

ด้วยเหตุนี้ เศรษฐกิจโลกจึงจะอยู่ในภาวะไม่แน่นอนต่อไปอีกระยะหนึ่ง โดยไม่ชัดเจนว่า ปัจจัยที่จะขับเคลื่อนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกในช่วงต่อไปจะมาจากอะไร สิ่งที่ห่วงก็คือหลายประเทศอาจใช้การอ่อนค่าเงินเป็นกลไกที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจ และลดทอนความเสี่ยงของการเกิดปัญหาเงินฝืด ที่มักจะมากับการชะลอตัวของเศรษฐกิจ ซึ่งจะทำให้เศรษฐกิจโลกเข้าสู่บริบทของสงครามเงินตราอีกครั้ง สำหรับประเทศอุตสาหกรรมหลัก ทางออกที่ดีที่สุดในเรื่องนี้ก็คือการปฏิรูปเศรษฐกิจ เพื่อสร้างพื้นฐานให้กับการขยายตัวของเศรษฐกิจในรอบใหม่ แต่เมื่อการปฏิรูปไม่เกิด การฟื้นตัวของประเทศอุตสาหกรรมหลักก็จะเป็นปัญหาต่อไป

แต่แม้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกจะมีปัญหา กระแสเงินทุนระหว่างประเทศก็ทำงานต่อไม่หยุดนิ่ง โดยเงินทุนจะไหลออกจากเศรษฐกิจที่มีปัญหาไปสู่เศรษฐกิจที่มีศักยภาพที่จะเติบโต กระตุ้นให้สภาพคล่องที่มีอยู่ในเศรษฐกิจโลกถูกนำไปใช้จ่าย โดยเศรษฐกิจที่มีศักยภาพที่จะกู้ยืมเงินเหล่านี้ นำมาสู่ระดับหนี้ที่จะกลับมาสูงขึ้นอีก เช่น กรณีจีน และประเทศตลาดเกิดใหม่ในเอเชีย รวมถึงไทยที่มีเงินทุนต่างประเทศไหลเข้า ถ้าเราไม่เข้าใจประเด็นนี้ และหลงที่จะใช้จ่ายอย่างเกินตัวตามกระแสเงินทุนไหลเข้า ประเทศก็จะมีหนี้เพิ่มมากขึ้น และยิ่งถ้าการก่อหนี้ใหม่ไม่นำมาสู่การหารายได้ (คือลงทุนไม่เป็น) ประเทศก็จะจบลงด้วยการเกิดวิกฤติเศรษฐกิจ

ดังนั้น ที่เศรษฐกิจโลกยังไม่ฟื้นหรือฟื้นยาก ก็เพราะกระบวนการลดหนี้ (Debt Deleveraging) ยังไม่จบ กดดันให้เศรษฐกิจประเทศอุตสาหกรรมหลักต้องประหยัดต่อไป ขณะที่ประเทศตลาดเกิดใหม่ก็ใช้จ่ายและกลับมาสร้างหนี้ใหม่ (นึกถึงสองแสนล้านล้านบาทที่รัฐบาลไทยจะลงทุน) ดังนั้น ความเป็นหนี้เป็นปัจจัยสำคัญที่กำลังอธิบายสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นในเศรษฐกิจโลกขณะนี้


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : ทำไม เศรษฐกิจโลก ฟื้นตัวยาก

view